วันที่ 15 ก.พ. ภายหลังจากที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางกลับจากกระทรวงทรัพย์ฯ เพื่อไปรับฟังการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ได้เรียกประชุมผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ,จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,พล.ท.อานุภาพ ศิริมณฑล เจ้ากรมกิจการพลเรือนและโฆษกกองทัพบก หารือยังห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
นายกรัฐมนตรี กล่าในที่ประชุมว่า เรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองPM2.5 ต้องบูรณาการหลายภาคส่วน ซึ่งเรื่องปัญหาฝุ่นละอองPM 2.5 การประสานงานระหว่างหลายภาคส่วนของรัฐบาลไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ซึ่งหลายฝ่ายมีส่วนทำให้มันไม่ราบรื่น ตนต้องขอโทษด้วย หากต้องมีการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ผมเชื่อว่าเชียงใหม่ทำได้กาญจนบุรีก็ทำได้
พร้อมกับระบุว่า ผู้ว่าฯ เองต้องแอคทีฟให้มากขึ้น ลงพื้นที่ให้เยอะขึ้นไปบัญชาการเองเรื่องการเก็บวัชพืช และเรื่องการป้องกันไฟที่จะเกิดขึ้น ทั้งจุดความร้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเครื่องมือที่ดีมาก ว่าตรงไหนเป็นอะไร อย่างไรบ้าง บอกได้ขนาดนั้น แต่อย่างไรผมขอฝากท่านรองนายกฯอนุทิน ด้วย ขอให้พื้นที่ทุกจังหวัดช่วยกัน ตนคิดว่าแต่ละจังหวัดมีกลไก ที่จะสามารถระดมสรรพกำลังความรับผิดชอบอะไรหลายหลายอย่าง และเชื่อว่าสามารถทำได้
นายกรัฐมนตรี ยังระบุอีกว่า ตนได้มีการหารือกับผู้บัญชาการทหารบก ว่ายุทโธปกรณ์อะไรที่ยังไม่ได้ใช้ เช่น รถลำเลียงคน ขอให้เปลี่ยนมาเป็นรถจัดเก็บซากวัชพืชลำเลียงให้กับเกษตรกร ไปทำไบโอดีเซล ทำถ่านไร้ควัน ทำปุ๋ยอินทรีย์ โดยรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนด้านน้ำมันให้อยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยตนขอให้พื้นที่ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและเกษตรจังหวัด และประสานกับท้องถิ่นให้ดี ตนเชื่อว่าสามารถทำได้ดีกว่านี้
จากนั้นโฆษกกองทัพบก ได้รายงานว่า ผู้บัญชาการทหารบก รับสนองนโยบายและได้สั่งการไปยังแม่ทัพภาค 1 ที่รับผิดชอบในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรี โดยกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ เป็นผู้ดำเนินการและบริหารงานร่วมกับหน่วยงานราชการในพื้นที่
นายกรัฐมนตรี ได้ระบุต่อว่า ตนเข้าใจว่ากองทัพพยายามทำงานอยู่ และตนคิดว่า แม่ทัพภาค 1 เองมีภารกิจค่อนข้างมาก แต่อยากให้ลงไปดูเองบ้าง ตรงแนวที่มีจุดความร้อนจำนวนมาก เพราะไม่เช่นนั้นจะได้รับการบูรณาการที่ไม่จริงจัง เพราะขณะนี้อ้อยในพื้นที่ถูกเก็บเกี่ยวเกือบหมดแล้วเหลือข้าวกับข้าวโพด และตนก็ได้สั่งการบางอย่างไปไว้ก่อน ซึ่งพื้นที่เชียงใหม่ตนลงพื้นที่ไปสามหน เมื่อท่านบอกว่าอยากให้ตนลงไปช่วย ผมก็ยินดีไป ไม่มีปัญหา ขอให้บอก ซึ่งจริงๆแล้วก็มีรายงานว่าอีกสามวันจะมีการเปลี่ยนของทิศทางลมทำให้เรื่องนี้ดีขึ้น แต่เราก็อย่าหวังพึ่งทิศทางลมเลย เราต้องช่วยกันก่อน เพราะมันดีได้อีกสองวัน เดี๋ยวมันก็เลวได้อีกสามวันตรงนี้คนป่วย คนเจ็บ และอาจมีผู้เสียชีวิตได้ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิพื้นฐานของพี่น้องประชาชน ส่วนฝุ่นที่มาจากกัมพูชาหรือที่ใดผมรับไปพูดคุยกับกระทรวงการต่างประเทศเอง
ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรี ยังสั่งการไปยังอนุทิน ว่าขณะนี้กำลังเข้าสู่ช่วง สุดสัปดาห์แล้วขอให้รีบเร่งประชุมผ่านระบบวิดีโอ conference ก็ได้ อย่าใช้เพียงการสั่งการอย่างเดียว ตนขอเถอะว่า เราอาจจะต้องมีการลงพื้นที่เยอะขึ้น ไปสำรวจกันหน่อย ใส่รองเท้าบู๊ทไป ยอมเหนื่อย ยอมเท้าเปื้อนดิน เท้าเปื้อนโคนกันหน่อย จะได้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทัน ซึ่งไม่ใช่เพียงปัญหาPM 2.5 เพียงปัญหาเดียวทั้งเรื่องยาเสพติด เรื่องสินค้าเถื่อน ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นสามปัญหาหลัก เพราะเมื่อสินค้าเถื่อนไม่มี ราคาพืชผลไทยก็ขึ้นมาเยอะ รายได้ประชาชนก็จะเข้าสู่กระเป๋าเยอะขึ้น ก็ไม่ไปฝักใฝ่กับยาเสพติดตนมองว่าเป็นห่วงโซ่เรื่องพัวพันธ์ทั้งนั้น ตนฝากผู้บัญชาการทหารบกด้วยแล้วกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องหนักหน่อย เสาร์-อาทิตย์นี้ หากเป็นไปได้ผมก็อยากให้ผู้ใหญ่ลงหน่อย
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์ฝุ่น ว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเรื่องการลงพื้นที่ให้เห็นหน้างาน ที่สำคัญคือการขอความร่วมมือชาวบ้านให้หยุดเผาวัชพืช
พร้อมกันนี้ นายกฯยังได้สั่งให้บูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกองทัพบก ให้จัดยานพาหนะช่วยชาวบ้านขนวัชพืช เพื่อหาทางทำพลังงานทดแทนแทนการเผา และช่วงเย็นวันนี้ (15 ก.พ.) ตนจะเดินทางไป จ.เชียงราย เพื่อประชุมผู้ว่าภาคเหนือ และทำความเข้าใจประชาชนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ซึ่งเชื่อว่าทำได้ เช่น จ.เชียงใหม่ ที่มีการบริหารจัดการที่ดี ฝุ่นน้อย จุดความร้อนลดลงไม่เกินกำหนด แต่พบว่าที่ จ.กาญจนบุรี จุดความร้อนเกินกำหนด ตนจึงจะโทรหาผู้ว่าฯให้ลงพื้นที่
อนุทิน กล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการแก้ปัญหาปัจจัยในประเทศต้องใช้กฎหมายเต็มที่ พร้อมกับขอความร่วมมือพี่น้องชาวไร่ที่เผาซากผลผลิตทางการเกษตร ส่วนเมืองใหญ่อย่างพื้นที่ กทม. อาจต้องใช้มาตรการให้ทำงานที่บ้าน หรือ WFH และกวดขันยานพาหนะที่ปล่อยควันดำ ซึ่งจะลดปัญหาฝุ่นควันได้
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะบังคับใช้กฎหมายเรื่อง WFH เพราะที่ผ่านมาการขอความร่วมมือเหมือนจะไม่ได้ผล อนุทิน กล่าวว่า เรื่อง WFH อยู่ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาด ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ในสภา และหลายหน่วยงานให้ WFH แล้ว เว้นแต่บางหน่วยงานที่ทำไม่ได้ เราเห็นจากโควิด - 19 ที่การ WFH ไม่ได้ลดโอกาสหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน วันนี้เรารู้ที่มาของปัญหา และทราบแล้วว่าการจะอยู่กับอากาศที่ดีจะต้องทำอย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องหยุดล็อกดาวน์เหมือนช่วงโควิด - 19 แต่ต้องอาศัยความร่วมมือ และรับผิดชอบร่วมกัน คงไม่มีประเทศไหนบังคับเรื่องคุณภาพชีวิต แต่เป็นเรื่องจิตสำนึก ทั้งนี้ ขอย้ำว่า การเผารัฐบาลใช้มาตรการอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ซึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้านรัฐบาลก็ใช้วิธีการเจรจา
เมื่อถามว่า การประชุมที่เชียงใหม่ที่ผ่านมานายกฯ เคยพูดว่ามีทุนไทยไปทำการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านแล้วมีการก่อมลพิษ จะมีการตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ อนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้เราดำเนินการอยู่ เราอาจมีวิธีการแซงชั่นบางอย่างเรื่องการค้า