ที่อาคารเคเอกซ์ กทม. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันการเดินและการจักรยานไทย จัดประชุมการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 7 The 7th Thailand Bike and Walk Forum ในหัวข้อ “Think Globally, Bike – Walk Locally” ส่งเสริมเดิน ปั่น เพิ่มกิจกรรมทางกาย ระดับท้องถิ่น สร้างสุขภาพดีให้เมืองให้โลก นำเสนองานวิจัยและงานปฏิบัติการจากระดับพื้นที่ ที่ส่งเสริมให้คนในเมือง ในชุมชน เลือกเดินทางด้วยการเดินหรือการใช้จักรยาน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน เป็นหนึ่งในเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง รวมถึงแก้ไขปัญหาในมิติอื่น ๆ ทั้งมิติด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม ที่ควรส่งเสริมสนับสนุนจากทางภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการตื่นตัวและสร้างการรับรู้ในภาคประชาสังคม ตอบโจทย์รูปแบบการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ (United Nations; UN) ที่มุ่งเน้นความสำคัญและกำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals; SDGs)
“การมีกิจกรรมทางกาย (Physical Activity; PA) มีความหมายกว้างกว่าการออกกำลังกายทั่วไป คือ การขยับเคลื่อนไหวร่างกายทั้งหมดในชีวิตประจำวันทั้งในการทำงาน (Active at Work) การเดินทาง (Active Travel) โดยการเดินหรือการปั่นจักรยาน และกิจกรรมนันทนาการ (Active Creation) องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้มีคำแนะนำประชากรที่มีอายุ 18-59 ปี ควรมีกิจกรรมทางกาย (ระดับปานกลาง) อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ในขณะที่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือ 75 นาทีสำหรับระดับความ หนักมาก ส่วนวัยทำงานควรมีกิจกรรมทางกาย ระดับกลาง-หนัก 150 นาที/สัปดาห์ ในส่วนของกลุ่มเด็กและวัยรุ่น 6-17 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายสะสมอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน เช่น การเดินเท้า ใช้เวลา 15 นาที ได้ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร และถ้าปั่นจักรยาน ใช้เวลา 15 นาที ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร คนวัยทำงาน ถ้าเลือกการเดินทางด้วยเดินเท้า หรือปั่นจักรยาน ไปต่อรถสาธารณะ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งเป้าบรรลุผลสำเร็จให้ได้ในปี พ.ศ. 2573 โดยมีแผนปฏิบัติการส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย (Global Action Plan on Physical Activity 2018-2030; GAPPA) ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 1) Active Societies 2) Active Environments 3) Active People และ 4) Active Systems และ 20 แผนงาน ในการส่งเสริมให้พลเมืองมีกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) เพิ่มมากขึ้นอย่างน้อย ร้อยละ 15 ในปี 2571 โดยการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยาน ในชีวิตประจำวัน นั้น มีแนวทางการทำงาน 4 ด้าน คือ นโยบายการผลักดันการขับเคลื่อนภาคนโยบาย, การจัดการความรู้ (นวัตกรรม) การส่งเสริมใช้จักรยานในวิถีชีวิต, สร้างพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ และ การพัฒนาขีดความสามารถ
นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มีการนำเสนอผลงานวิจัยเชิงปฏิบัติการที่น่าสนใจ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ Active Societies การมุ่งสร้างบรรทัดฐานและทัศนคติเชิงบวกต่อการมีกิจกรรมทางกายด้วยการเดินและการใช้จักรยานในสังคมด้วยความรู้และความเข้าใจ Active Environments การจัดการกายภาพและโครงสร้าง พื้นฐานทางสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยาน เพิ่ม PA ด้วยความเท่าเทียมต่อคนทุกคนและทุกเพศทุกวัยในสังคม Active People การสนับสนุนให้มีกิจกรรมทางกายในทุกช่วงวัยของชีวิต ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน สถานที่ทำงาน ชุมชน และ Active Systems นโยบาย มาตรการของภาครัฐส่วนกลาง และท้องถิ่น ที่สนับสนุนให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย ด้วยการเดิน และจักรยาน ซึ่งมีการนำเสนอผลงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ 4 ประเด็นหลัก ใน 10 พื้นที่ตัวอย่าง การจัดการเพื่อส่งเสริมชุมชน เมือง ให้เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยาน ประกอบด้วย เมืองขนาดเล็ก (เทศบาลตำบลบางคล้า เทศบางตำบลนาทวี และ เทศบาลตำบลเชียงคำ), เมืองขนาดกลาง (เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เทศบาลเมืองระนอง เทศบาลเมืองน่าน) และเมืองขนาดใหญ่ คือ (เทศบาลเมืองพิจิตร เทศบาลเมืองหาดใหญ่ เทศบาลนครพิษณุโลก) และกรุงเทพฯ (เขตสาทร) กทม.
นายจำรูญ กล่าวว่า ผลการวิจัย พฤติกรรมการใช้จักรยานของประชาชนในชุมชนเขตเทศบาลนครพิษณุโลก (เมืองขนาดใหญ่) ประมาณ 500 คน พบว่า แรงจูงใจที่ทำให้เลือกใช้จักรยาน เพราะต้องการมีสุขภาพแข็งแรง ร้อยละ 71.4 รองลงมาเลือกความชื่นชอบการขี่จักรยาน คิดเป็น ร้อยละ 30.6 , วัตถุประสงค์ เป็นพาหนะเดินทางเพื่อท่องเที่ยว คิดเป็นร้อยละ 33.4 รองลงมาไปทำงาน คิดเป็นร้อยละ 13.8 และไปเรียนหนังสือ คิดเป็นร้อยละ 7.4 การขี่จักรยานสามารถช่วยลดต้นทุน เกิดความคุ้มค่านั้น พบว่า การขี่จักรยานเป็นการการลดต้นทุน คิดเป็นร้อยละ 74.4 ส่วนอุปสรรคที่สำคัญ ของการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน คือ ร้อยละ 44.9 ความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิต ร้อยละ 41.9 เลือกบอกสภาพพื้นผิวไม่เหมาะสม และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามน้อยที่สุด เลือกไม่มีช่องทางเดินรถ คิดเป็นร้อยละ 37.8