ไม่พบผลการค้นหา
ว๊อยซ์ รวบรวมคดีที่ 'บริษัทกัลฟ์' เป็นโจทก์ ฟ้องผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์บริษัทในประเด็นต่างๆ ทั้ง ข้อกล่าวหาด้านการผูกขาดด้านพลังงาน ผูกขาดเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต โดยพบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีถึง 7 คดีด้วยกัน ไม่ว่าจะการฟ้องนักการเมือง นักวิชาการ และคนทำหนังสือ

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)  คือบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน โดยมี ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการ ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย จากการจัดอันดับแบบ ‘เรียลไทม์’ ของนิตยสารForbes (18 ส.ค.2565) ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 4.32 แสนล้านบาท 

บริษัท กัลฟ์ มีรายชื่อผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรกดังนี้

  1.  สารัชถ์ รัตนาวะดี ถือ 4,185,088,097 หุ้น คิดเป็น 35.67%
  2. UBS AG SINGAPORE BRANCH ถือ 1,472,968,577 หุ้น คิดเป็น 12.55%
  3. GULF CAPITAL HOLDINGS LIMITED ถือ 1,160,431,363 หุ้น คิดเป็น 9.89%
  4. BANK OF SINGAPORE LIMITED-1000120215 ถือ 616,432,105 คิดเป็น 5.25% 
  5. บริษัท กัลฟ์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ถือ 551,729,877 หุ้น คิดเป็น 4.70%
  6. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือ 487,433,801 หุ้น คิดเป็น 4.15 %
  7. GULF INVESTMENT AND TRADING PTE. LTD. ถือ 377,250,502 คิดเป็น 3.22%
  8. RAFFLES NOMINEES (PTE) LIMITED ถือ 248,398,640 หุ้น คิดเป็น 2.12%
  9. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ถือ 220,000,000 หุ้น คิดเป็น 1.88 %
  10. SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED ถือ 153,284,137 หุ้น คิดเป็น 1.31%

โครงสร้างธุรกิจหลักของกัลฟ์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 

  1. ธุรกิจพลังงาน ประกอบด้วย ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจให้บริการที่เกี่ยวข้องของกลุ่มบริษัทฯ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจก๊าซ
  2. ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค
  3. ธุรกิจดิจิทัล

ในไตรมาสแรกของปี 2566  กัลฟ์มีรายได้รวม (Total Revenue) 29,083 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากไตรมาสแรกของปีก่อน และมีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 3,668 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จาก 3,257 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ชื่อบริษัท ‘กัลฟ์’ มักปรากฏอยู่ในการอภิปรายในสภาและโซเชียลมีเดียบ่อยครั้งทั้งทางตรงและทางอ้อม ‘วอยซ์’ รวบรวมคดีที่บริษัทกัลฟ์เป็นโจทก์ฟ้องผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์บริษัทในประเด็นต่างๆ โดยพบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีถึง 7 คดีด้วยกัน ไม่ว่าจะการฟ้องนักการเมือง นักวิชาการ และคนทำหนังสือ 

ดังนี้ 

สฤณี อาชวานันทกุล
gulf-02.jpg

สฤณี อาชวานันทกุล  นักเขียนและนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ถูกยื่นฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท  วันที่ 15 พฤษภาคม 2566  โดยอ้างว่าสฤณีได้เขียนกล่าวหาว่าบริษัทกัลฟ์ผูกขาดโรงไฟฟ้า 

โจทก์คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดย เนติพงศ์ โฆมานะสิน ผู้รับมอบอำนาจ 

สฤณี ระบุว่า เนื้อหาที่บริษัทอ้างว่าถูกละเมิด มาจากส่วนหนึ่งของบทความชื่อว่า มหากาพย์ ‘กินรวบ’ โรงไฟฟ้า  ที่เธอเขียนลงเฟซบุ๊กเพื่ออธิบายถึงสาเหตุค่าไฟแพงเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2566

หลังถูกฟ้องคดีสฤณีได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราว่า 

"ในฐานะที่ทำวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชนมาหลายปี มองจากมาตรฐานสากลของสหประชาชาติ ถ้าไปดูตามหลักเกณฑ์บริษัทที่ประกาศว่าเคารพสิทธิมนุษยชนจะไม่ไล่ฟ้องคนวิจารณ์ ในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ปัญหาของการที่องค์การใหญ่ที่มีทรัพยากรเยอะมากฟ้องในคดีที่เกี่ยวกับการแสดงออก โดยส่วนใหญ่คดีประเภทนี้มีระยะเวลานาน โดยในระหว่างที่ใช้เวลาคนที่ถูกฟ้องคงไม่สามารถพูดอะไรได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายคนมองว่า มันเป็นปัญหา และยังมีผลต่อการแสดงออกของคนที่ถูกฟ้องด้วย"


รังสิมันต์ โรม
gulf-03.jpg

รังสิมันต์ โรม ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถูกยื่นฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา สืบเนื่องจากการที่รังสิมันต์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ‘ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรณีดาวเทียมไทยคม  เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564 โดยถูกฟ้องใน 3 คดีด้วยกันคือ 


  1. คดีอาญา ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ฟ้องพรรคก้าวไกล ในฐานะที่เผยแพร่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564
  2. คดีอาญา ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ฟ้องรังสิมันต์ ในฐานะผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจชัยวุฒิ ในสภาผู้แทนราษฎร และนำไปเผยแพร่ต่อ 
  3. คดีแพ่ง เป็นการฟ้องละเมิด เรียกค่าเสียหายมูลค่า 100 ล้านบาทจากรังสิมันต์

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564 รังสิมันต์ได้ตั้งคำถามถึงชัยวุฒิ ว่าใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีมาเอื้อประโยชน์แก่บริษัทกัลฟ์ฯ หรือไม่ เนื่องจากนายชัยวุฒิเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฯลฯ ทำให้บริษัทกัลฟ์ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกมองว่า เป็นการพาดพิงจนได้รับความเสียหาย

รังสิมันต์โรม ได้เขียนถึงประเด็นนี้เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2564 ว่า 

“ผมขอเรียนว่าสิ่งที่ผมและพรรคก้าวไกลพยายามทำในบทบาทหน้าที่ของฝ่ายค้านก็คือการตรวจสอบรัฐบาล โดยส่วนตัวผมเมื่อถูกฟ้องมาก็จะต่อสู้คดีต่อไป ทว่าเมื่อมองถึงประโยชน์ต่อสาธารณะแล้ว หากมีเรื่องแบบนี้ถือปฏิบัติกันเรื่อยไปแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะในเวทีสำคัญอย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยฝ่ายค้าน 

“หากไม่อาจพาดพิงต่อบุคคลภายนอกได้แล้ว ก็แทบจะไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลได้เลย เพราะไม่ว่าจะในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ความผิดพลาดในเชิงนโยบาย หรือการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมของรัฐบาล การกระทำเหล่านี้ล้วนต้องเกี่ยวพันกับบุคคลภายนอกทั้งสิ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพาดพิงบุคคลภายนอกด้วย แต่ถึงที่สุดแล้วการอภิปรายไม่ไว้วางใจของเรายังคงมุ่งเป้าไปที่รัฐบาลเป็นสำคัญ”

เบญจา แสงจันทร์
gulf-04.jpg

เบญจา แสงจันทร์ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถูกฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา วันที่  4 เม.ย. 2564 เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท จากกรณีที่เธอ อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อ 18 ก.พ. 2564 

ในการอภิปรายครั้งนั้นเบญจาได้กล่าวถึงนโยบายพลังงานของรัฐบาลประยุทธ์ และทำให้บริษัทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดได้มากขึ้นจนเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มทุนพลังงาน

เบญจาได้กล่าวถึงกรณีนี้ผ่านเฟซบุ๊กว่า 

“การนำเสนอในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ดิฉันเชื่อมั่นว่าข้อมูลในการนำเสนอ เป็นการตั้งคำถามถึงการดำรงคงอยู่ของ ‘ระบอบประยุทธ์’ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน โดยข้อมูลในการอภิปรายครั้งนี้ ดิฉันมีเจตนาที่ทำไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ และรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน”


ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส 
gulf-05.jpg

พรรคไทยสร้างไทยและพวกรวม 3 คน หนึ่งในนั้นคือ ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย และรณกาจ ชินสำราญ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย ถูกฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา  เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท จากกรณีที่เคยแถลงข่าวถึง ‘ปัญหาค่าไฟแพง’ 

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า 

“ดิฉันขอยืนยันว่าเราทำหน้าที่พรรคการเมืองในการต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน การเอารัดเอาเปรียบของทุนผูกขาดและทุนพรรคพวก ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมามากเกินไปแล้ว ถึงเวลาต้องรื้อโครงสร้างพลังงานที่ขูดรีดคนไทย ถ้าทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนแล้วถูกนายทุนฟ้อง #ไทยสร้างไทย พร้อมสู้ค่ะ” 

เช่นเดียวกับ ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส  ที่ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า 

“สิ่งที่เคยออกมาตั้งคำถามนั้น เป็นการทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนพรรคการเมือง ซึ่งมีหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพ ภาครัฐหรือคู่สัญญาของรัฐ ต้องสามารถถูกตรวจสอบได้โดยประชาชนถึงความคุ้มค่า 

“แต่หากการตั้งคำถามในฐานะประชาชน ทำให้ต้องถูกฟ้องทั้งอาญา-ทั้งแพ่ง ก็ใช้จังหวะนี้ที่ต้องขึ้นศาล เบิกความเอาเอกสารข้อเท็จจริงทั้งหมดมาแสดงให้สาธารณชนได้รับทราบร่วมกัน ถึง ‘สัญญาการซื้อไฟฟ้าระหว่างรัฐและนายทุน’ ส่วนรายละเอียดของคดี จะขออนุญาตแถลงข่าวเพิ่มเติมในภายหลัง”

ธนาพล อิ๋วสกุล
gulf-06.jpg

ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ถูกฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2564 กรณีแชร์ข้อความการอภิปราย ‘ระบอบปรสิต’ ของ รังสิมันต์ โรม พร้อมทั้งเขียนความเห็นวิจารณ์เพิ่มเติม

ทั้งนี้ทางบริษัทได้เรียกค่าเสียหายทางแพ่งดังนี้

  1. ชดใช้เงิน 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 5 %
  2. โฆษณาคำพิพากษาฉบับเต็มลงหนังสือพิมพ์ 15 ฉบับ ทั้งฉบับพิมพ์และออนไลน์
  3. ให้ลบข้อความ
  4. ให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี

ส่วนในทางทางอาญาต้องการให้

  1. โฆษณาคำพิพากษาฉบับเต็มลงหนังสือพิมพ์ 15 ฉบับ ทั้งฉบับพิมพ์และออนไลน์
  2. ให้ลบข้อความ

นอกจากคดีดังกล่าวธนาพล ยังถูกฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญาอีกครั้ง  เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2566 เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท กรณีวิจารณ์และแชร์บทอภิปรายของ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล

นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม 
gulf-07.jpg

นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ได้รับหมายเรียกคดีแพ่ง ถูกยื่นฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2565 เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท จากกรณีไลฟ์สดในเฟซบุ๊กเพจ ‘Warong Dechgitvigrom’ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 กล่าวหาว่า ‘กัลฟ์’ กำลังจะเข้ามาผูกขาดกิจการสื่อสารและอินเทอร์เน็ต โดยประกาศรับซื้อหุ้น และถือหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘อินทัช’ และจะซื้อหุ้นบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ‘เอไอเอส’ รวมทั้งจะเข้าประมูลสัมปทานดาวเทียม และยังกล่าวหาว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ล็อกสเปกให้ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานดังกล่าว

ศาลระบุในคำสั่งประทับฟ้องว่า จากการชี้แจงของ ‘กัลฟ์’ ประกอบการพิจารณาเนื้อหา ภาพประกอบการไลฟ์สดของ นพ.วรงค์ การไลฟ์สดดังกล่าว มีลักษณะเป็นการใส่ความที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์จะผูกขาดเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์ ทุจริตคอร์รัปชันแก่ข้าราชการและนักการเมือง เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงและภาพลักษณ์

นายแพทย์วรงค์ได้โพสต์ระบุถึงกรณีที่ตนถูกฟ้อง เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2564 ว่า 

“ตามที่บริษัทกัลฟ์ฟ้องผม 100 ล้านบาท เรื่องการทวงคืนดาวเทียมไทยคม นี่คือวิธีการฟ้องปิดปาก เพื่อให้ประชาชนเกรงกลัว เป็นวิธีการที่พวกทุนนิยมใช้กัน

“ผมคิดว่าปัญหาประเทศ ยังคงหนีไม่พ้นทุนผูกขาด ทุนสัมปทาน ที่สนับสนุนพรรคการเมือง นักการเมือง เอื้อประโยชน์ราชการ และมากอบโกยสมบัติชาติ ปัญหานี้คือรากเหง้าของปัญหา นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันของประเทศ ที่พวกเราจะต้องเข้าไปแก้ไขให้โปร่งใส และกระจายผลประโยชน์ให้ถึงประชาชน” 

อ้างอิง 

  1. https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/118917-isranewsss-3.html
  2. https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/GULF/major-shareholders 
  3. https://www.facebook.com/MoveForwardPartyThailand/photos/a.104388194526543/431034078528618/?type=3 
  4. https://www.facebook.com/rangsimanrome/photos/a.212055616217760/817672682322714/ 
  5. https://voicetv.co.th/read/xNo5-CHJB 
  6. https://www.facebook.com/therealwarong/photos/a.1635500953387616/3051992708405093/ 
  7. https://www.facebook.com/BenchBenchaOfficial/photos/a.2211360125595586/4003665726365008/