นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีการระบุว่าสมาชิกผู้แทนราษฎรหลายรายค้างการชำระหนี้ กยศ. ว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ไม่สามารถเปิดเผยเป็นรายบุคคลว่ามี ส.ส. รายใดบ้าง ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ แต่โดยหลักการการชำระเงินกู้ของ กยศ. จะมีระยะเวลาชำระหนี้ประมาณ 15 ปี หากอยู่ในกรอบเวลาชำระหนี้ และมีการชำระหนี้ตรงทุกปี ไม่ถือเป็นการผิดชำระหนี้
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า กลุ่ม ส.ส.เหล่านี้ เป็นผู้มีฐานะดี แต่ได้รับเงินกู้ กยศ. ยืนยันว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้กู้ ซึ่งระบบการกู้มี 2 ประเภท คือ ผู้กู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี สามารถกู้เรียนได้ทุกสาขาวิชา และผู้กู้ที่มีความประสงค์จะเรียนในสาขาวิชาเฉพาะเพื่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ตามที่ กยศ.กำหนด ที่มีกว่า 3,000 รายวิชา ในระดับ ปวช. ปวส. และมหาวิทยาลัย ปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวมีผู้กู้รวมทั้งหมด 81,000 ราย คิดเป็นวงเงินกู้รวม 5,821 ล้านบาท
ออกมาตรการลดเบี้ยปรับ-ลดดอกเบี้ย-พักชำระหนี้ ช่วยทุกวิถีทาง
ล่าสุด กยศ. ยังได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ โดยจะลดเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 80 สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ค้างชำระหนี้และปิดบัญชีในครั้งเดียว ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 – 29 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งตั้งเป้าจะมีลูกหนี้เข้าร่วม 70,000 ราย วงเงินหนี้ 400 ล้านบาท
2.ลดเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 75 เฉพาะผู้กู้ยืมเงินกลุ่มก่อนฟ้องคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 – 29 กุมภาพันธ์ 2563 คาดว่าจะมีเข้าร่วม 48,000 ราย วงเงิน 180 ล้านบาท
3.พักชำระหนี้ 1 ปี สำหรับผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฉพาะกลุ่มผู้กู้ยืมก่อนฟ้องคดี กรณีผู้ที่มีงวดชำระเป็นรายปี จะพักชำระหนี้ในงวดปี 2563 และผู้กู้ยืมจะต้องกลับมาชำระหนี้ ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ส่วนกรณีผู้ที่มีงวดชำระเป็นรายเดือน จะพักชำระหนี้ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนถัดไปที่กองทุนอนุมัติ โดยในระหว่างพักชำระหนี้กองทุนจะไม่ถือว่าผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ จากข้อมูลในระบบพบว่ามีผู้กู้ยืมเข้าข่ายที่จะได้สิทธิพักชำระหนี้ ประมาณ 335,000 ราย วงเงินหนี้ประมาณ 1,300 ล้านบาท
4.ปรับลดอัตราเบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระเงินกู้ยืมคืน จากอัตราปัจจุบัน (ร้อยละ 12-18 ต่อปี) เหลืออัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการลดภาระหนี้ของผู้กู้ยืมเงินที่ค้างชำระให้สามารถผ่อนชำระเงินคืนกองทุนได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนงวดที่ผิดนัดชำระจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 ยังคิดอัตราเบี้ยปรับเท่าเดิม
5. ปรับเพิ่มค่าครองชีพรายเดือนให้ผู้กู้ยืมทุกระดับการศึกษาอีกเดือนละ 600 บาท/คน โดยผู้กู้ยืมระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญปรับเพิ่มจาก 1,200 บาท เป็น 1,800 บาท ระดับ ปวช./ปวส./ปริญญาตรี ปรับเพิ่มจาก 2,400 บาท เป็น 3,000 บาท โดยจะเริ่มบังคับใช้ในปีการศึกษา 2563
ส่วนการชำระหนี้ กยศ.ผ่านระบบการหักเงินเดือนของข้าราชการและบริษัทเอกชนรายใหญ่ รวม 7,000 แห่ง คาดว่าจะได้รับการชำระหนี้คืน 420 ล้านบาท จากผู้กู้ 400,000 รายในปีนี้ โดยตั้งเป้าปีหน้าจะพยายามเพิ่มความร่วมมือหน่วยงานราชการกับเอกชนเพื่อหักเงินลูกหนี้ผ่านระบบบัญชีธนาคารให้ได้เป็น 700,000 ราย และเพิ่มเป็น 1 ล้านรายในปี 2564 โดยจะรวมถึงกลุ่มข้าราชการการเมืองด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมในระบบของ กยศ. 5.6 ล้านราย ยอดหนี้กว่า 6 แสนล้านบาท ในส่วนนี้อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.5 ล้านราย หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ในจำนวนนี้มีการผิดนัดชำระหนี้สูงถึงกว่า 2 ล้านราย หรือร้อยละ 58
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :