ไม่พบผลการค้นหา
รายงานพิเศษกรณีรัฐบาลไฟเขียวให้บริษัทเอกชนเดินหน้าขออนุญาตสำรวจแร่ต่อในปี 2564 หลังจากรัฐบาล คสช. เคยใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองทั่วประเทศชั่วคราว และนำมาสู่ความเสี่ยงในการเสียค่าโง่โดยภาษีคนไทยเกือบ 5 หมื่นล้านบาท คำถามคือถ้าคนไทยไม่ต้องเสียค่่าโง่ แล้วเราจะไปพ้นวงจรอุตสาหกรรมแร่ได้หรือไม่

ปี 2564 เหมือนจะเป็นข่าวดีสำหรับประชาชนไทยที่อาจไม่ต้องเสีย ‘ค่าโง่’ ซึ่งเป็นภาษีของประเทศกว่า 4.1 หมื่นล้านบาท ให้แก่บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ที่ได้รับผลกระทบด้านธุรกิจเหมืองจากการใช้อำนาจพิเศษ ม.44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ยุติการเหมืองแร่ทองคำชั่วคราวทั่วประเทศในปี 2559 หลังรัฐประหารปี 2557

ที่ว่่าอาจเป็นข่าวดี เนื่องจาก 'คิงส์เกต' มีแนวโน้มถอนฟ้องรัฐบาลไทยก่อนอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะมีคำสั่งพิพากษา อีกทั้งรายงานข่าวจากหลายแหล่งยังระบุว่า คิงส์เกตอาจกลับมาลงทุนในประเทศไทยอีกครั้ง โดยเปิดพื้นที่สำรวจแร่ใหม่ผ่านบริษัท รัชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด บริษัทในเครือบริษัทอัครา รีซอร์สเซส เจ้าของเหมืองแร่ทองคำชาตรี จ.พิจิตร ภายใต้ยักษ์ใหญ่คิงส์เกตฯ ที่ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทองคำ เนื้อที่ 14,650 ไร่ ในพื้นที่ตำบลพวากับตำบลสามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี


ไม่เสียค่าโง่ แต่ทุนข้ามชาติได้สิทธิเปิดเหมืองทั่วไทย

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่และหัวหน้าพรรคสามัญชน กล่าวถึงกระแสข่าว 'คิงส์เกต' ถอนฟ้องว่า เหตุผลคือ การต่อสู้คดีในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศค่อนข้างยาก เพราะรัฐบาลสมัย คสช. ใช้กฎหมายพิเศษจากคณะรัฐประหาร ไม่ใช่กลไกการปิดเหมืองทองเอกชนปกติ เพราะหากใช้กฎหมายปกติ โดยให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องชี้แจงเหตุผลที่ต้องปิดตามขั้นตอนทางกฎหมายได้ ดังนั้นถ้าต่อสู้คดีคงแพ้แน่นอน 

“โดยเนื้อในแล้ว อนุญาโตตุลาการเป็นกลไกที่มีไว้เพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างรัฐบาลกับเอกชนต่างประเทศ กลไกนี้มีไว้เพื่อไม่ให้รัฐบาลรังแกเอกชน ดังนั้นอนุญาโตตุลาการอาจพิจารณาคดีเข้าข้างเอกชน แล้วจะทำให้รัฐบาลไทยแพ้” เลิศศักดิ์กล่าว

สาเหตุต่อมา เลิศศักดิ์มองว่า เพราะรัฐบาลไทยภายใต้ กพร. อนุญาตให้บริษิท รัชภูมิฯ บริษัทในเครือบริษัทอัคราฯ ภายใต้บริษัทใหญ่ ซึ่งก็คือคิงส์เกตยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทอง จ.จันทบุรี

“นี่อาจเป็นผลจากการที่รัฐบาลเดินสายเจรจาให้คิงส์เกตถอนฟ้องโดยแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ให้คิงส์เกตในนามบริษัทลูกสามารถเปิดพื้นที่ทำเหมืองทองคำใหม่ได้ รวมถึงอนุมัติและอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทองคำที่อื่นๆ ในประเทศไทยได้อีกด้วย” เลิศศักดิ์กล่าว


ไฟเขียว บ.เอกชนสำรวจตามขั้นตอน

วิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวกับ ‘วอยซ์’ ว่า กระแสดังกล่าวเป็นเพียงการที่ กพร. อนุมัติคำของบริษัทรัชภูมิฯ ที่ค้างอยู่ตั้งแต่ปี 2549 

ส่วนคำถามว่าทำไมถึงอนุมัติใบอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ในช่วงที่มีข่าวว่า คิงส์เกตฯ อาจถอนฟ้องรัฐบาล วิษณุตอบว่า สืบเนื่องตั้งแต่ปี 2562 กระทวงอุตสาหกรรมอนุญาตให้ผู้ต้องการสัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยสามารถยื่นขออาชญาบัตรพิเศษได้ ภายใต้เงื่อนไข พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 หลังจากรัฐบาลในยุค คสช. มีคำสั่ง ม.44 ปิดเหมืองทองทั่วประเทศเมื่อปี 2559

"รัฐบาลอนุญาตให้เอกชนที่ทำเหมืองทองกลับไปทำเรื่องขออาชญาบัตรสำรวจแร่ใหม่ได้แล้ว บริษัทรัชภูมิฯ ภายใต้คิงส์เกตก็คงเดินเรื่องทำเอกสารตามกระบวนการและเงื่อนไขกฎหมาย ซึ่งบริษัทดังกล่าวก็มีสิทธิยื่นขอปกติ" วิษณุกล่าว

เขายืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับข่าวลือว่าคิงส์เกตจะถอนฟ้องรัฐบาล และไม่รู้ว่าตัวแทนรัฐบาลไทยไกล่เกลี่ยกับคิงส์เกตอย่างไร

"คิดว่าไม่เกี่ยวข้อง เพราะการไกล่เกลี่ยเพื่อยอมความกันระหว่างรัฐบาลกับคิงส์เกต คงต้องให้รัฐบาลชี้แจง" วิษณุกล่าว

วิษณุยืนยันว่า บริษัทรัชภูมิฯ เพียงได้สิทธิสำรวจแหล่งแร่เท่านั้น ยังไม่ได้ทำเหมือง ขอประชาชนในพื้นที่เข้าใจด้วย เพราะตอนนี้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านในพื้นที่จันทบุรี เอกชนก็มีสิทธิสำรวจได้ เพราะปฏิบัติทำตามขั้นตอนของกฎหมายแร่

วิษณุกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องหากสำรวจแล้วพบแหล่งแร่ ก็ยังไม่ถึงขั้นทำเหมือง เพราะต้องผ่านหลายขั้นตอนกว่าจะทำเริ่มขุดเจาะได้ เช่น ต้องประเมินว่าแร่ที่สำรวจพบคุ้มค่าในการทำเหมืองหรือไม่ ถ้าคุ้มค่าก็ต้องรับฟังความคิดประชาชน ประเมินผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อมก่อนการประกาศเป็นเขตเหมืองแร่อีกด้วย

"บริษัทพูดตลอดว่าจะปฏิบัติตามกฎระเบียบและกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ กฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายด้านสาธารณสุข หากได้ทำเหมืองจริงๆ" วิษณุกล่าว


แร่ทองคำสร้างรายได้ให้ไทย 

อธิบดีกรมอุตสาหกรรมแร่ฯ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายทองคำ เนื่องจากทองคำสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้และมีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันนี้ไทยนำเข้าทองจากต่างประเทศปีละ 200 ตัน ซึ่งตกราคาตันละ 2 พันล้านบาท

"เราสูญเสียรายได้จากการนำเข้าทองคำจำนวนหลายพันล้านแต่ปี ถ้าเราสามารถหาแหล่งแร่ทองคำแล้วผลิตเองได้จะดีกับประเทศ" วิษณุกล่าว


อำนาจพิเศษขยายปัญหาบานปลาย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2558 ภาคประชาชนรวมตัวคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ 12 จังหวัด มีการเข้าชื่อ 27,522 รายชื่อถึงสำนักนายกฯ เรียกร้องให้ยุตินโยบายสำรวจและระงับการทำเหมืองแร่ทองคำทุกแห่ง รวมถึงขอให้เพิกถอนประทานบัตร อาชญาบัตร และอาชญาบัตรพิเศษ เพราะเหมืองแร่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ที่กระทบต่อวิถีชีวิตคนรอบเหมือง จนปลายปี 2559 ผู้นำ คสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งฉบับที่ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคําปิดเหมือนทองทั่วประเทศ โดยอ้างปกป้องประชาชนจากสารพิษจากการทำเหมือง

เหมืองทองอัครา เหมืองทองคำในสังกัดของคิงส์เกต หนึ่งในเหมืองทองที่ถูกสั่งปิด ได้รับผลกระทบทางธุรกิจ ทำให้บริษัทฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลไทยช่วงนั้นเกือบ 5 หมื่นล้านบาท 

สำหรับเลิศศักดิ์ มองผลการใช้อำนาจพิเศษปิดเหมืองทองว่า แทนที่จะเป็นดีกับประเทศกลับเป็นผลเสีย เพราะแม้จะทำให้เหมืองทองทั่วประเทศหยุดการทำงานไปหลายปี แต่การกลับมาของบริษัทลูกของคิงส์เกตเพื่อเดินหน้าสำรวจเหมืองต่อครั้งนี้ ไม่ได้เพียงแค่กลับมาทำที่พิจิตรที่เดียวเท่านั้น แต่ยังอาจได้สิทธิ์เปิดพื้นที่ทำเหมืองทองใหม่ได้ทั่วประเทศ ทำให้คนไทยอยู่ในวงจรอุบาทว์ต่อไป

“ถ้าเป็นเช่นนั้น เท่ากับว่าผลกระทบที่จะเกิดจากการทำเหมืองทองทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก็จะขยายไปในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป ถ้าเหตุผลที่ตัดสินใจใช้ ม.44 ปิดเหมืองเพื่อประชาชน เพื่อปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยไม่คิดเรื่องผลประโยชน์ของชาติจริงๆ ทำไมไม่ต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดไปเลย" เลิศศักดิ์กล่าว

REUTERS-แร่ทองคำ-เหมืองทองแอฟริกา.JPG


‘รัฐ’ มองอุตสาหกรรมแร่เป็นกำไร 

‘อุตสาหกรรมเหมืองแร่’ ไม่ว่าจะเป็นทั้งแร่โลหะ เช่น แร่ทองแดง แร่ทองคำ แร่เหล็ก แร่ตะกั่ว แร่เหล็ก ฯลฯ หรือแร่อโลหะ เช่น พลอย ถ่านหิน ฯลฯ ล้วนเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจมหาศาลให้ประเทศผู้ที่มีแหล่งแร่เหล่านี้ในประเทศ 

เลิศศักดิ์กล่าวอีกว่า การเปิดให้ทำเหมืองแร่ในประเทศ นอกจากประเทศไม่ต้องนำเข้าแร่ต่างๆ แล้ว รัฐยังได้ค่าภาคหลวง เสมือนภาษีจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศที่ผู้ทำสัมปทานต้องจ่ายให้รัฐทุกปี รัฐมองทรัพยากรแร่ว่าสามารถนำไปให้สัมปทานแก่นายทุนรายใดก็ได้ เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่คนในท้องถิ่นกลับต้องแบกผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแทน

ปัจจุบัน เขาชี้ให้เห็นว่า รัฐได้อาศัย ‘กฎหมายแร่ฉบับปี 2560’  ซึ่งเป็นกฎหมายที่พยายามรวบอำนาจการจัดการทรัพยากรแร่ทั้งหมดทั้งบนดินและใต้ดินให้เป็นอำนาจรัฐส่วนกลาง อีกทั้งกฎหมายแร่ใหม่นี้ยังลดทอนความล่าช้าและขั้นตอนในการขอใช้พื้นที่ทำเหมืองลง จากเดิมต้องมีกฎหมายป่าไม่้ กฎหมายอุทยาน กฎหมายควบคุมมลพิษ กฎหมายสาธารณสุข ฯลฯ ในการประกอบการพิจารณาอนุมัติให้สัมปทานเอกชนทำเหมือง

“ประเด็นสำคัญคืออำนาจในการจัดสรรทรัพยากรกลับไปอยู่ที่ข้าราชการระดับกรมอย่าง กรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ที่ไม่ใช่ข้าราชการระดับจังหวัด หรือข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชน การตรวจสอบก็จะยากขึ้น” เลิศศักดิ์กล่าว


สารโลหะหนักแทรกซึมในดิน-น้ำ-อากาศ

กรณีเหมืองทองคำอัคราเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทำเหมืองที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ชัดเจน เพราะหลังเดินเครื่องทำเหมืองได้ 7 ปี ปี 2550 ชาวบ้านบ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้เหมืองแร่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ

การทำเหมืองทำให้เกิดฝุ่นละอองที่เกิดจากการระเบิดและขนแร่จากเหมืองไปโรงแยกแร่ จากการประกอบกิจการเหมืองแร่ รวมถึงสารโลหะหนักจากการแต่งแร่และจากบ่อกักเก็บแร่ซึมปนเปื้อนในดินและน้ำ ทำให้บ่อน้ำใกล้ชุมชนแห้งตื้นเขิน ชาวบ้านไม่มีน้ำใช้อีกทั้งระบบนิเวศน์ในดินและน้ำถูกทำลาย 

นอกจากนี้ผลการตรวจสุขภาพของคนในชุมชนรอบเหมืองช่วงปี 2558 ยังพบสารแมงกานีสในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐาน 41.83% และ สารไซยาไนต์ในร่างกายเกินมาตรฐาน 5.88%

เลิศศักดิ์ กล่าวว่า แร่ทองคำกว่าจะได้เป็นทองคำที่นำไปขายได้นั้นต้องมีขั้นตอนการผลิตหลาย 10 ขั้นตอนและมีการใช้สารเคมีในบางขั้นตอนการผลิตด้วย เช่น เริ่มตั้งแต่ระเบิดลอกหน้าดินออก ระเบิดก็ไปเอาหินที่มีทองคำผสมในชั้นแร่และก็บดให้ละเอียด แล้วก็เอาไปใส่ไซยาไนต์ กวนแล้วก็แยกทองคำออกมา 

“ใช้ไซยาไนต์ดูดทองคำออกมา แล้วก็เอาเศษดินหินที่เหลือไปทิ้งที่บ่อกักเก็บแร่ หรือบางที่ไม่รับผิดชอบก็เปิดหน้าดินนำมาทิ้ง โดยมาวางเกะกะ ทำให้ดินเป็นกรด มีสารหนู มีสารพิษ มีโลหะหนักต่างๆ ที่เป็นพิษซึมลงดินและน้ำ” เลิศศักดิ์กล่าว


เวทีรับฟังความเห็นเป็นเพียงพิธีกรรม

นอกจากนี้ การรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ทำเหมืองของรัฐและเอกชนยังเป็นเพียงพิธีกรรม ไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

เลิศศักดิ์ กล่าวว่า ตัวอย่างการเปิดเวทีรับฟังความเห็น จากการทำงานพบว่า เวทีรับฟังความเห็นเป็นเพียงพิธีกรรม ไม่มีการให้ความรู้อย่างจริงจังว่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมคืออะไร ข้อเสียการทำเหมืองคืออะไร 

“มีเพียงการพูดถึงข้อดี ว่าเมื่อมีเหมืองชาวบ้านจะมีงานทำ เศรษฐกิจชุมชนจะดีขึ้น ไม่มีการพูดว่าการทำเหมืองแร่อาจจะมีการแพร่กระจายของสารโลหะหนักในดิน ในน้ำ รวมถึงฝุ่นละอองพิษ” เลิศศักดิ์กล่าว

อีกทั้งเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นการเอาคนมาแข่งกัน เช่น เอาฝ่ายที่เห็นด้วยมาร่วมให้มากที่สุด เพื่อที่นำไปอ้างในรายงานสรุปการประชุมว่ามีผู้สนับสนุนการทำเหมืองนั้นมีมากกว่าผู้ต่อต้าน เป็นต้น 

“แต่เวทีรับฟังความคิดเห็นใช้เวลาในการทำและสรุปสั้นมาก โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า ซึ่งตามจริงเวทีรับฟังความเห็นต้องเป็นเวทีที่รัฐและเอกชนมาชี้แจงข้อดี ข้อเสียจากการทำเหมือง จากนั้นให้ประชาชนทั้งสองฝ่าย กลับไปคิด พิจารณาสักพักก่อนว่าจะเอาหรือไม่เอา แล้วค่อยกลับมาลงมติกันอีกครั้ง” เลิศศักดิ์กล่าว

BbWYfcSThu71347.jpg

บรรยากาศเวทีรับฟังความคิดเห็นผูัมีส่วนได้เสียเหมืองทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 ภายโดย ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)


อิทธิพลรัฐ-กม.-อันธพาล หยุดการต่อต้าน

สอ รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธิช่วยเหลือชุมชนที่ต่อต้านการทำเหมืองแร่กล่าวว่า กรณีเวทีรับฟังความคิดเห็นเหมืองแร่ทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นตัวอย่างชัดเจน เกิดขึ้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2555 ที่ศาลากลางจังหวัดเลย โดยบริเวณเวทีมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครกว่า 2,000 นาย ขัดขวางไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านเข้าร่วม

"กรณีดังกล่าวสะท้อนว่า กระบวนการรับฟังความเห็นของรัฐและบริษัทละเลยเสียงของฝ่ายต่อต้าน และด้วยงานของ กพร. คือการส่งเสริมให้มีการทำเหมืองแร่ ก็เลยทำให้เสียงฝ่ายต่อต้านที่ไม่ต้องการให้มีการทำเหมืองถูกละเลยหรือไม่ให้ถูกเขียนลงไปในรายงานสรุป" สอ รัตนมณี กล่าว

เมื่อรัฐบาลและเอกชนมีเป้าหมายต้องการสร้างเหมืองแร่ให้ได้ ทั้งสองฝ่ายจึงทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างให้ได้ ดังนั้นไม่แปลกที่ต้องหาลดทอนหรือกำจัดฝ่ายต่อต้าน การข่มขู่ คุกคามถึงขั้นเอาชีวีตก็เคยเกิดขึ้นในกรณี เหมืองทองคำ จ.เลย เช่นกัน

กรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้น กลางดึกของวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ชาวบ้านกลุ่ม 'ฅนรักษ์บ้านเกิด' จ.เลย ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ปิดบังใบหน้ากว่า 200 คน พร้อมอาวุธ เป็นท่อนไม้ ทำร้ายชาวบ้านที่กำลังเฝ้าบริเวณป้อมทางเข้าออก เพื่อไม่ให้รถบรรทุกของบริษัทเหมืองผ่านหมู่บ้านเพื่อเข้าพื้นที่เหมืองเพื่อขนแร่ออกไป หลังมีการเรียกร้องให้ปิดเหมือง เพราะเหมืองสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชาวบ้าน

“กรณีบริษัทหรือผู้รับเหมาที่มีความก้าวร้าว มาเฟีย ก็จะมีการใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายต่อต้านเหมือง เช่น จ้างอันธพาลมาทำร้าย หรือข่มขู่ฆ่า หรืออุ้มไปข่มขู่แล้วค่อยปล่อยตัว เพื่อให้หยุดเคลื่อนไหวก็เคยเกิดขึ้นอย่างเช่นกรณี” สอ รัตนมณี กล่าว

ทั้งนี้ยังรวมถึงกรณีที่บริษัทเลือกใช้วิธีการแจ้งความฟ้องร้องดำเนินคดีชาวบ้านที่ต่อต้านให้หยุดเคลื่อนไหว เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความยากลำบากในใช้ชีวิตระหว่างมีคดีความ ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านหยุดต่อต้าน

"เช่นการฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาทชาวบ้านที่ต่อต้านเหมือง จ.เลย แต่ไม่ได้ฟ้องที่ศาลจังหวัดเลย แต่ไปฟ้องที่ศาลจังหวัดแม่สอด จ.ตาก แล้วไปฟ้องที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งเห็นชัดว่ามีเป้าหมายเพื่อกลั่นแกล้งและสร้างความยากลำบากในใช้ชีวิตระหว่างมีคดีความ ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านหยุดต่อต้าน" สอ รัตนมณี กล่าว


ภาคประชาชนถูกกีดกันจาก คกก.แก้ไขปัญหา

กรณีเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย เมื่อปี 2562 แม้ศาลจังหวัดเลยพิพากษาให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด บริษัทที่ได้รับอนุญาตเป็นประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่กระทำผิดในข้อหาละเมิดข้อปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ และ พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ กรณี เหมืองแร่สร้างผลกระทบด่านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อคนในชุมชนรอบเหมือง และศาลขอให้บริษัทดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกพื้นที่เหมืองแร่ทองคำและชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ได้รับผลกระทบเป็นค่าหาอยู่หากิน ค่าน้ำ และค่าเสียหายด้านสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ครอบครัวละ 300,000 บาท

หลังจากนั้นชาวบ้านในนามกลุ่ม 'ฅนรักษ์บ้านเกิด' 6 หมู่บ้าน ใน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและคัดค้านการทำเหมืองแร่ ได้เสนอให้จังหวัดเลย ตั้งคณะกรรมการอำนวยกลางเพื่อกำกับดูแลฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกพื้นที่เหมืองแร่ โดยเสนอให้มีชาวบ้านและนักวิชาการฝ่ายชาวบ้านร่วมด้วย

แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ชาวบ้านกลุ่ม 'ฅนรักษ์บ้านเกิด' ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของ ชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ที่แต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการและฟื้นฟูฯ 17 คน ซึ่งเป็นข้าราชการโดยไม่มีตัวแทนชาวบ้าน 6 หมู่บ้านร่วมในคณะกรรมการฯ


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง