‘ท่านจะทำรัฐประหารไหม…”
คำถามที่คนรุ่นใหม่หลายคนอาจจะมองว่าไร้สาระ เพราะย่อมรู้ดีกว่าการ ‘รัฐประหาร’ ในห้วงเวลาที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปมากนั้นคงเป็นไปได้ยาก แต่นักข่าวที่ใกล้ชิดกับทหารระดับบิ๊กย่อมรู้ดีว่าสิ่งนี้ ‘เป็นไปได้’
แม้กระทั่งคำปฏิเสธจากปากของทหารผู้ซื่อสัตย์ก็ใช่ว่าจะหมายความว่า ‘ไม่ทำรัฐประหาร’ จนถึงตอนนี้เธอก็ยังไม่กล้าฟันธงว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะในความเป็นจริง ‘การเมือง’ กับ ‘กองทัพและอ่ื่นๆ’ เป็นเส้นคู่ขนานที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ แม้ว่าเธอเองจะหวังเป็นอย่างยิ่งให้สองอย่างนี้แยกออกจากกันอย่างชัดเจน
‘วอยซ์’ ชวนนักข่าวสายทหารผู้ร่วมประสบการณ์การทำข่าวในคืนรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 มาย้อนความหลังของสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศ ท่าทางของผู้นำเหล่าทัพ ผู้นำที่มาจากเสียงของประชาชน ไปจนถึงปฏิกริยาชนชั้นนำ พร้อมทั้งความท้าทายต่อการรัฐประหารที่ไม่มีใครทราบว่าจะเกิดขึ้นซ้ำหรือไม่
“ฝนจะตก ฟ้าจะร้อง คนจะคลอดลูก ก็เหมือนการรัฐประหาร จริงๆ เราสามารถที่จะป้องกันได้ แต่พอถึงเวลา กลไกของอำนาจ และอะไรหลายอย่างในประเทศที่เราไม่สามารถจะพูดถึง หรือวิเคราะห์ถึงได้มันทำให้เกิดขึ้น” วาสนา กล่าว
วาสนา กล่าวว่า ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีที่เรียกได้ว่ามาอย่างแรงแบบแลนด์สไลด์ ถ้าตนเป็นฝ่ายอำนาจเก่าคงคิดว่า คนๆ นี้น่ากลัว มาแรงจนน่ากลัว เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจที่ที่มีอีกฝั่งจะจับมือร่วมกฐินกันเพื่อขัดขวางทักษิณ
รวมไปถึง ทักษิณ ที่ได้ถอดสลักการปฏิวัติเอาไว้หมดด้วยการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารที่เรียกว่า ‘ไว้ใจได้’ ไปคุมกองกำลังสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะการโยกย้าย พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ขยับไปเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)
รวมไปถึงเหตุผลการแต่งตั้งนายทหารมุสลิม อย่าง พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แม้จะไม่ใช่ตัวเต็งของเตรียมทหารรุ่น 6 แต่ทักษิณก็เล็งเห็นว่า การมี ผบ.ทบ. เป็นคนมุสลิมน่าจะส่งผลดีต่อการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อกลิ่นของการปฏิวัติรัฐประหารเริ่มคละคลุ้ง วาสนา กล่าวว่า โดยปกติ พล.อ.สนธิ ชอบเตะฟุตบอลที่สนามด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) นักข่าวสายทหารก็ชอบไปนั่งถามริมสนามว่า “จริงหรือเปล่าพี่ ข่าวลือที่จะปฏิวัติ” แต่ พล.อ.สนธิ ก็บอกปัดมาตลอดว่า “ไม่มี มีที่ไหน” (เสียงสูง)
แต่เมื่อมันสถานการณ์เริ่มงวด พล.อ.สนธิ ก็พูดทีเล่นทีจริงในทำนองที่ว่า ในเมื่อสถานการณ์มันเป็นแบบนี้ ทหารก็ต้องทำแบบนี้ มันเป็นเหมือนการ ‘ลับ ลวง พราง’ และมันทำให้เริ่มรู้สึกแล้วว่าโอกาสของการรัฐประหารมันมีแน่นอน หรือกระทั่ง พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะนั้นก็ออกพูดว่า “โดนน้องมันลวงเข้าเสียแล้ว…”
วาสนา เผยอีกว่า สัญญาณอันตรายมันก็มาจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ในขณะนั้น (ปัจจุบัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) ก็เริ่มพูดอะไรที่ทำให้รู้ว่าไม่เอาทักษิณแล้ว เช่น มีการเรียกว่าเตรียมทหารรุ่น 10/1 (ตท.10/1)
แม้ว่า พล.อ.อนุพงษ์ กับ ทักษิณ จะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่นเดียวกัน ทหารส่วนใหญ่ในรุ่นเดียวกันนั้นก็จะแห่แหนล้อมรอบทักษิณ แต่กลุ่มของ พล.อ.อนุพงษ์ ก็จะแยกตัวออกมา
“ประโยคหนึ่งที่ออกมาจากปาก พล.อ.อนุพงษ์ ที่จำได้เลยคือ เพื่อนก็คือเพื่อน แต่ประเทศชาติต้องมาก่อน ซึ่งอันนี้เป็นสัญญาณ ณ เวลานั้นเลยว่า สิ่งที่ลือกันมาตลอดมันเกิดขึ้นจริงแน่นอน” วาสนา กล่าว
วาสนา กล่าวว่า วันที่รัฐประหารช่วงค่ำๆ แหล่งข่าวโทรมาคอนเฟิร์มว่าเขาเอาจริง ตอนนั้นรู้สึกขนลุกไปทั้งตัว และได้แต่คิดในใจว่า ทหารเขาเอากันจริงหรือ แบบเอาจริงๆ ใช่ไหม
สิ่งที่เราตกใจไม่ใช่ตกใจแง่ที่ไม่รู้มาก่อนเลย เพียงแต่ไม่รู้ดีเดย์ หรือ วัน ว. เวลา น. ว่าทหารจะทำรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. แต่ในทางกลยุทธ์ทางทหารก็ถือว่าเหมาะสม เพราะเป็นช่วงที่ผู้นำประเทศ หรือทักษิณ ชินวัตร ไปประชุมอยู่ต่างประเทศ เพราะฉะนั้นการต่อสู้ของทักษิณก็จะยาก
วาสนา เล่าอีกว่า พล.อ.สนธิ ด้วยความที่ตอนเป็น ผบ.ทบ. นักข่าวสามารถเข้าถึงได้ มีอะไรสงสัยก็โทรศัพท์ไปถาม แต่พอเกิดการรัฐประหาร นักข่าวก็พยายามจะโทรหา แต่แน่นอนว่าคงไม่รับหรอก และมันเป็นเทคนิคทางทหารด้วยว่า ‘คุณจะมั่นใจได้ว่ารัฐประหารเสร็จสิ้น ต้องอย่างน้อยภายใน 2 วัน หรือ 48 ชั่วโมง’
เมื่อเกิดรัฐประหาร ตั้งคณะปฏิรูปการปกครองฯ (คปค.) อย่างเป็นทางการ ที่กองทัพบกเขาก็ไม่ให้นักข่าวเข้า เพราะมันเป็นพื้นที่ความมั่นคงอยู่แล้ว จึงต้องรออยู่หน้าประตูซึ่งมันทำข่าวลำบาก ทำได้มากสุดก็แค่มองรถเข้ารถออก จนต้องมีการต่อรองอยู่ 2-3 วัน คือต่อรองว่า เราขอเข้าไปข้างในแต่จะอยู่แค่ในพื้นที่นักข่าว ไม่เดินเพ่นพ่าน อย่างน้อยก็ได้ชะเง้อมองว่ามีใครทำอะไรไหม ซึ่งมันทำข่าวได้ง่ายกว่า
วาสนา กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่ตื่นเต้นกว่าการทำรัฐประหารคือ การต่อต้านรัฐประหาร แม้ว่าขณะนั้นทักษิณจะไม่อยู่ แต่ทหารสายทักษิณก็ยังคุมกำลังอยู่ เพียงแต่ว่าฝ่ายที่ก่อการรัฐประหารวางแผนมารอบคอบ
โดยเฉพาะ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในขณะนั้นที่เป็นฝ่ายทักษิณก็ตั้งกองบัญชาการต้านปฏิวัติขึ้นมาตรงกองบัญชาการกองทัพไทยที่แจ้งวัฒนะ โดยเตรียมกองกำลังไว้เพื่อให้ทุกหน่วยอย่าไปยอมการรัฐประหารครั้งนั้น
วาสนา กล่าวว่า นักข่าวไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ ตนก็เช็กข่าวว่าจะยิงกันจริงหรือเปล่า เพราะในอดีตการรัฐประหารที่ผ่านมาก็มีการยิงกัน แต่ในท้ายที่สุด พล.อ.เรืองโรจน์ เขาก็มาเปิดเผยในภายหลังว่า สาเหตุที่ยอมให้มีการปฏิวัติรัฐประหารเพราะไม่อยากให้เกิดการนองเลือด ไม่ว่าอย่างไรสายเลือดนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ (จปร.) ก็ต้องมาก่อน
วาสนา กล่าวในประเด็นนี้ว่า ยุครัฐบาลทักษิณจะมีคำครหาในเรื่องของการแทรกแซงสื่อผ่านการโฆษณาจากบริษัทเอกชนที่ทักษิณเป็นเจ้าของ หรือมีความเกี่ยวข้องอยู่ แต่ในฐานะประสบการณ์ส่วนตัวก็เคยโดนทักษิณหมายหัว เนื่องจากทักษิณเป็นนายกฯ ก็จริง แต่เป็นเตรียมทหารด้วย เพราะฉะนั้นก็จะมีเพื่อนเตรียมทหารที่มีตำแหน่งในกองทัพอยู่หลายคน และตามประสาตนเองก็จะชอบเจาะข่าวเพื่อหาคำตอบว่าใครจะเป็นตำแหน่งอะไร โดนย้ายไปอยู่หน่วยกรมกรองไหน
วาสนา เล่าว่า ครั้งหนึ่งที่ทักษิณไปพูดที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมืองทองธานี ว่า ทำไมโผทหาร โผตำรวจอะไรถึงรู้ไปถึงหูนักข่าวไอ้ W (Wassana) นี่หมดเลย มันต้องเป็นความลับสิ แล้วพอทักษิณเดินออกมาจากห้อง ตนก็ยืนเสนอหน้ารอ คิดในใจว่า ด่าเราในห้องนี่หว่า เผื่อจะให้ด่าตรงๆ แต่เขาก็ไม่ได้มอง และเดินผ่านไป ส่วนเราก็ทำหน้าที่ของเราตามปกติ
รวมไปถึงกระแสข่าวที่ลือกันว่า บ้านสี่เสาเทเวศร์เริ่มไม่เอาทักษิณแล้ว ซึ่งตนเป็นผู้รายงานข่าวนั้นเอง จนทักษิณต้องติดต่อมายังบรรณาธิการว่าทำไมถึงรายงานข่าวแบบนั้น แต่ตนก็ยืนยันว่า แหล่งข่าวพูดมาแบบนั้นจริงๆ
วาสนา กล่าวว่า เมื่อมาในยุคของ 3 ป. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม้ทั้ง 3 คนนี้จะเป็นทหารเกษียณ แต่องคาพยพ ไปจนถึงลูกน้องทีมงานก็ยังเป็นทหารในกองทัพ และมีการวางกำลังไว้ในกองทัพ เพราะฉะนั้นมันเลยทำให้กองทัพถูกลากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทางการเมืองไปโดยปริยาย
วาสนา เล่าถึงอดีตว่า ตนก็เรียนจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเหมือนกัน และเป็นคนที่ศึกษาเรื่องรัฐประหารมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ ตอนทำข่าวแรกๆ เคยไปถามแกมเถียง พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ตอนที่เขามาบรรยายว่า ทำไมทหารต้องปฏิวัติ ทำไมต้องเป็นอุปสรรคของประชาธิปไตย จนโดนรุ่นพี่ลากออกมา
“คือคนเป็นทหารเขาจะคิดเหมือนๆ กันว่า แหม มันมีความจำเป็นนู่นนี่นั่น และพี่ก็อยู่มาจนมีความรู้สึกว่า จากที่เราไม่เข้าใจว่าทำไมทหารต้องทำรัฐประหาร ก็ทำให้เข้าใจทหารมากขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าสนับสนุนนะ แต่เข้าใจว่าทหารมันเป็นเหมือนวงรอบ เมื่อมันเกิดปัญหาเรื่องขั้วอำนาจ” วาสนา กล่าว
วาสนา กล่าวว่า อาจจะไม่ได้ใช้คำว่า ‘เสียของ’ แม้คนจะมองว่า รัฐประหาร 2549 มันเสียของ เพราะต้องการกำจัดอำนาจของทักษิณ หรือระบอบทักษิณ แต่ก็ทำไม่ได้ จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องกลับมารัฐประหารในปี 2557 และหากการเลือกตั้งในปี 2566 แพทองธาร ชินวัตร ยังนำกระแสของพรรคเพื่อไทยกลับมาได้ มันจะเป็น ‘คำตอบ’ ให้กับทหารเลยว่า
“ในที่สุด คุณจะใช้อะไรมาสู้กับเสียงของประชาชน…” วาสนา กล่าว
วาสนา เผยว่า ณ เวลานี้ กระแสของอิ๊งค์ (แพทองธาร ชินวัตร) กระแสแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยก็เขย่าฝั่งทหารอยู่ไม่น้อย มันทำให้ทหารฉุกคิดว่า นี่เรายื้อพยายามเวลามา 8 ปี เพื่อสู้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญ หรืออะไรก็ตามที่วางกันไว้ มันใช้ไม่ได้เลยหรือ
“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บทเรียนของทหารก็คือ คุณจะใช้การรัฐประหารตลอดไปในการสู้ไม่ได้” วาสนา กล่าว
วาสนา กล่าวว่า ที่เราพูดกันในวันนี้มันยังไปไม่ถึงปลายทางของการเลือกตั้งในปีหน้า แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตมันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะไม่มีใครสามารถพูดได้ว่า รัฐประหารในประเทศไทยจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว
“ฝนจะตก ฟ้าจะร้อง คนจะคลอดลูก ก็เหมือนการรัฐประหาร จริงๆ เราสามารถที่จะป้องกันได้ แต่พอถึงเวลา กลไกของอำนาจ และอะไรหลายอย่างในประเทศที่เราไม่สามารถจะพูดถึง หรือวิเคราะห์ถึงได้มันทำให้เกิดขึ้น” วาสนา กล่าว
วาสนา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้ ทหารที่เติบโตมาคุมกำลังกองทัพอยู่ก็เป็นสายตรงของ 3 ป. การที่จะเลี่ยงว่า กองทัพกับการเมืองแยกกันมันลำบากมาก ซึ่งประเด็นนี้เป็นความหวังของประเทศไทยเลยนะ ถ้าเมื่อใดที่กองทัพกับการเมืองแยกกันได้แบบ 100% อันนี้จะถือเป็นความสุดยอด เพียงแต่ว่า ในทางปฏิบัติมันทำได้ยากมาก ส่วนตนเองก็รอวันที่จะได้กลับไปทำข่าวในกองทัพ ไม่ต้องมาอยู่ตามทำเนียบรัฐบาลเหมือนกับทุกๆ วันนี้
ภาพ : ณปกรณ์ ชื่นตา