ไม่ใช่คดีแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่่เพิ่งรอดพ้นบ่วงกรรมในคดีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีในการพิจารณาของชั้นศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น
นับแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวขึ้นสู่นายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 หลังที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กระทั่งมีพระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2562
พล.อ.ประยุทธ์ ก็ถูกบททดสอบถึงการกระทำที่อาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ตั้งแต่เข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ รอบที่ 2 มาตลอด
คดีแรกเริ่มจากฝ่ายค้านนำโดย พรรคอนาคตใหม่ คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul ถึงการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยนำข้อเขียนของ วิษณุ เครืองาม เกี่ยวกับการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ตีพิมพ์เมื่อปี 2554 มาเทียบเคียง ระบุว่า ในหนังสือชื่อ “หลังม่านการเมือง” ตีพิมพ์เมือปี 2554 โดยสำนักพิมพ์มติชน ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม ได้เขียนบรรยายถึงการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ไว้ ตั้งแต่ หน้า 25-53
โดย วิษณุ ระบุในหนังสือดังกล่าวว่า "การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง เป็นเรื่องของการเปล่งวาจากล่าวคำพูดแสดงความตั้งใจ ถ้าว่าตามธรรมชาติแล้วควรเป็นเรื่องที่ออกมาจากใจ ใครจะพูดอะไรก็น่าจะได้ แต่ถ้ายอมให้ทำอย่างนั้นก็จะเป็นเรื่องสับสน บางคนเป็น"นักสาบานตัวยง"อาจปฏิญาณแคล่วคล่องว่องไว บางคนอาจเหนียมอายระมัดระวังปากคำ ด้วยเหตุนี้จึงปล่อยให้ว่าตามหลักธรรมชาติไม่ได้ ต้องเอาหลักกฎหมายมาจับ โดยกำหนดถ้อยคำเป็นระเบียบแบบแผนเข้าไว้ ใครจะพูดน้อยหรือยาวกว่านี้ไม่ได้ เว้นแต่ปฏิญาณจบแล้วจะขมุบขมิบปากอธิษฐานอะไรต่อในใจเองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง"
คดีถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ได้เข้าสู่ชั้นศาลรัฐธรรมนูญ โดย พล.อ.ประยุทธ์ นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 อันเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนหรือไม่ ซึ่งเป็นคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน โดย ภาณุพงศ์ ชูรักษ์ ได้ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
ทั้งนี้คำร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคสาม และมาตรา 47 (1)
โดยศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นว่าที่ไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 46 วรรคสาม ประกอบกับเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2562 เวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นำ ครม. ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต หลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน
ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2562 เวลา 09.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธย โดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด
เช่นเดียวกับคำร้องที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 และการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องต่อรัฐสภาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 นั้น เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง และเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 หรือไม่
โดย ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องของเรืองไกรไว้พิจารณาวินิจฉัย และเมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด (เอกสารข่าวศาลรัฐธรรมนูญ )
วันที่ 18 ก.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยโดยมติเอกฉันท์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้า คสช. ไม่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (15) แต่คือผู้ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่ได้มาจากการยึดอำนาจรัฐ ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีจึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1(4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2562)
ทั้งนี้คำร้องดังกล่าวเป็นคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้ร้อง ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่ โดยศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏว่า ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 110 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาฯ ในฐานะผู้อร้ง ขอให้ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
ดยศาลได้รับคำร้องไว้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ แต่ที่สุดก็วินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี (สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คดีเจ้าหน้าที่รัฐ)
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคำร้องที่ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.รวม 55 คนเข้าชื่อต่อผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่งและมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3)หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ
ซึ่งเป็นข้อกล่าวหากรณีเข้าพักอาศัยภายในบ้านพักทางราชการทหาร (บ้านพักหลวง) เป็นที่พักอาศัยของผู้ถูกร้อง โดยไม่เสียค่าเช่า ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าน้ำประปาให้กับทางราชการทหาร จึงเป็นการอยู่อาศัยโดยไม่มีสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และยังเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรม
โดยศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า บ้านพักอาศัยของ พล.อ.ประยุทธ์ เปลี่ยนสถานะเป็นบ้านพักรับรองตามระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ.2548 ซึ่งกำหนดให้อดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบก ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพบกและประเทศชาติและเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.มาแล้ว มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบกและกองทัพบกสามารถพิจารณาความเหมาะสมในการสนับสนุนงบประมาณค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการพักอาศัยตามความจำเป็นและเหมาะสมในการใช้งาน
“ส่วนกองทัพบกสนับสนุนค่าไฟฟ้า และน้ำประปา ในการใช้งานในบ้านพักรับรองกองทัพบกพิจารณาตามความเหมาะสมในการสนับสนุนงบประมาณตามค่ากระแสไฟฟ้า น้ำประปา ตลอดจนค่าใช้จ่าย อื่นๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสมในการใช้งานตามข้อ 11 แล้ว นอกจากนี้การให้สิทธิดังกล่าวข้างต้น กองทัพบกได้พิจารณาให้สิทธิแก่บุคคลผู้เข้าเงื่อนไขมีคุณสมบัติในการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก มิใช่ให้สิทธิให้กรณีผู้ถูกร้องเท่านั้น"
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า “เห็นได้ว่าการที่ผู้ถูกร้องพักอาศัยในบ้านพักรับรองที่กองทัพบกจัดให้ และได้รับค่าสนับสนุนกระแสไฟฟ้า น้ำประปาเป็นไปตามดุลพินิจของกองทัพบก ที่มีอำนาจพิจารณาตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก 2548 ซึ่งระเบียบดังกล่าวบังคับเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2548 ก่อนที่ผู้ถูกร้องจะดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ.และเป็นนายกรัฐมนตรี”
คดีถัดมา 1 ก.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าวผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยมีมติไม่รับคำร้อง ของส.ส.จำนวน 72 คนที่นำโดย ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และ ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร(ผู้ฟ้อง) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงวันที่ 11 เม.ย. 2562 เป็นการเข้าไปแทรกแซงและก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)
โดยศาลให้เหตุผลว่า ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (2) มีความมุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ให้กระทำการอันเป็นการต้องห้ามในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หากรัฐมนตรีผู้ใดกระทำการอันเป็นการต้องห้ามดังกล่าวในขณะที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ ความเป็นรัฐมนตรีของผู้นั้นย่อมต้องสิ้นสุดลง
ดังนั้น การยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นอยู่ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏว่า ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบ มาตรา 82
แต่ผู้ถูกร้องได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญไปแล้วนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญเข้ารับหน้าที่ ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82ได้
ล่าสุดคดีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ครบ 8 ปี โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565 (เอกสารข่าวศาลรัฐธรรมนูญคำวินิจฉัยคดีนายกฯ 8 ปี)
โดยมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 นับตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 ถึง 24 ส.ค. 2565 โดยผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง จึงยังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 154 วรรคสี่
"ความเป็นนายกัฐมนตรี ของพล.อ.ประยุทธ์ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่"
นี่คือมติของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคดีที่ 4 ตลอดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เผชิญบททดสอบการตีความตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญของกลไกฝ่ายนิติบัญญัติและองค์กรอิสระ
แต่ทั้งหมดก็ยังไม่สามารถทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ปิดฉากวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้
ขณะที่เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลไทย ได้เผยแพร่วาระงานประจำวันที่ 3 ต.ค. 2565 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จะเริ่มวาระงานประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทันทีเป็นครั้งแรกนับแต่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
โดยช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จะต้อนรับ อาร์มัน อิสเซตอฟ (H.E. Mr. Arman Issetov) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคาซัคสถานประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
จากนั้น 14.30 น. แอนเจลา เจน แม็กดอนัลด์ (H.E. Ms. Angela Jane Macdonald) เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
พล.อ.ประยุทธ์จะยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องได้ยาวกว่านี้หากต้องการอยู่ครบวาระในวันที่ 23 มี.ค. 2566
ข่าวที่เกี่ยวข้อง