ไม่พบผลการค้นหา
กสศ. หนุนเครือข่ายครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ขยายผลความเชี่ยวชาญพัฒนาระบบ ช่วยเหลือดูแลเด็กด้อยโอกาสให้เรียนต่อตามศักยภาพหรือประกอบอาชีพได้ ขณะที่ ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร ชู ระบบ “ครูพัฒนาครู” สร้างครูรุ่นใหม่ในรร.ห่างไกล ชี้สร้างครูคุณภาพ 1 คน ช่วยพัฒนาเด็กเป็น 1,000 คน พร้อมชวนภาคเอกชนร่วมบริจาคช่วยครูดีทำงานเพื่อเด็กด้อยโอกาส

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการเตรียมความพร้อมสนับสนุนการขยายผลเครือข่ายครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (เครือข่ายครู PMCA) เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาระบบการดูแลเด็กด้อยโอกาสเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมีเครือข่ายครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นที่ 3 จำนวน 156 คน เข้าร่วม

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวต่อไปว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ นอกจากจะมอบให้ครูเพื่อเป็นขวัญกำลังใจและสดุดีความสามารถแล้ว รางวัลนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายครูขนาดใหญ่ เพื่อสังเคราะห์ประสบการณ์ความรู้ของครูแต่ละท่าน มาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างครูรุ่นใหม่ เป็นการส่งผ่านความคิด นวัตกรรมการเรียนการสอน และประสบการณ์อันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่ตนสอนจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งนี้รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีที่ได้มีการมอบติดต่อกันมาแล้ว 3 รุ่น ใน 11 ประเทศ ทำให้ขณะนี้เรามีแนวทางพัฒนาการศึกษาที่หลากหลายจากครู 33 คน ซึ่งสร้างรูปแบบการศึกษาขึ้นในบริบทที่แตกต่างกัน เราได้แนวคิดเรื่องการให้ความสำคัญกับการศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งการจัดการศึกษาพิเศษสำหรับผู้พิการ เด็กพิเศษ หรือผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ หรือแม้แต่การนำความรู้ให้เข้าไปถึงเด็กกลุ่มที่ไม่สามารถมาโรงเรียนได้ สิ่งเหล่านี้แสดงถึงความมุ่งมั่นจะเก็บทุกคนไว้ในระบบสังคมให้ได้ เพราะนอกจากเรื่องมนุษยธรรมแล้ว ทุกคนในสังคมถือว่ามีบทบาททางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องพัฒนาให้ช่วยเหลือตัวเองและคนอื่นได้ ไม่ปล่อยให้ใครต้องเป็นฝ่ายรอรับความช่วยเหลือตลอดไป

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวอีกว่า เราเชื่อว่าการพัฒนาระบบการศึกษา หรือแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในระดับประเทศหรือระดับภูมิภาค ต้องเริ่มที่การพัฒนาครู เนื่องจากการผลิตครูที่มีคุณภาพหนึ่งคน เขาจะไปสอนหนังสือเด็กอีกเป็นพันคน เขาจะไปพัฒนาชุมชนที่ประกอบด้วยผู้คนอีกมากมาย มันคือการขยายผลไปสู่คนจำนวนมาก รางวัลนี้ทำให้เราค้นพบครูต้นแบบจำนวนหนึ่ง เราจะให้พวกเขาเข้าไปช่วยในการผลิตครูผ่านระบบการศึกษาในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ไปกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจจากการถอดบทเรียนให้ครูรุ่นใหม่ได้เห็นของจริง เรียนรู้ว่าครูในชีวิตจริงต้องทำอะไรบ้าง มิใช่เพียงการสอนหนังสือในห้องเรียน แต่ครูในท้องถิ่นที่ห่างไกลบางแห่งต้องดูแลความเป็นอยู่ของลูกศิษย์รอบด้าน ซึ่งการแก้ปัญหาด้านการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลจำเป็นต้องใช้ระบบ “ครูพัฒนาครู” มีครูชำนาญการเป็นผู้วางแนวทางการสร้างครูรุ่นใหม่ รวมถึงมีครูพี่เลี้ยงทำหน้าที่พัฒนาครูบรรจุใหม่ทุกคนให้สามารถปรับตัวกับการเรียนการสอนในบริบทที่ไม่คุ้นเคยให้ได้ ช่วงเวลา 5-10 ปีแรกแห่งความเป็นครูนั้นสำคัญมาก เป็นช่วงเวลาที่เราต้องช่วยพัฒนาให้ครูแต่ละคนค้นพบแนวทางพัฒนาตนเอง และประคับประคองให้ครูที่เก่งที่มีความสามารถอยู่ในระบบต่อไปให้ได้

“ภาคเอกชนจะมาช่วยครูในรูปแบบต่างๆ ได้หรือไม่ ครูหนึ่งคนจะสร้างเด็กนับพันคน จึงอยากชวนเปลี่ยนจากให้ของเด็กมาเป็นให้การสนับสนุนครูในการทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส” ประธานกรรมการมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าว

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า จากข้อมูลธนาคารโลกในปี 2561 พบว่าการศึกษาไทย ปัจจุบันเด็กในเมืองกับเด็กในชนบทมีการเรียนรู้ที่แตกต่างกันถึง 2 ปีการศึกษา และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายถึงช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำจึงเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้น นอกเหนือจากคุณภาพหรือมาตรฐานของสถานศึกษาแล้ว ยังรวมถึงคุณภาพหรือประสิทธิภาพของครูอีกด้วย กสศ. จึงร่วมกับมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา ดำเนินโครงการขยายผลการทำงานของเครือข่ายครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สู่การพัฒนาระบบการดูแลเด็กด้อยโอกาสเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาโดยมีเครือข่ายครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นที่ 3 ของประเทศไทย จำนวน 156 คน ร่วมดำเนินโครงการ มุ่งเป้าขยายผลการเรียนรู้แก่เด็ก เพื่อนครู รวมถึงชุมชนที่ด้อยโอกาสให้ได้รับโอกาสการพัฒนาตนเอง โดยการดำเนินงานแบ่งเป็นสองรูปแบบ คือ 1. โครงการขยายผลตามความเชี่ยวชาญของครูแต่ละท่าน และ 2. โครงการถอดองค์ความรู้และบทเรียนจากประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งจากข้อมูลครูทั้ง 156 คน พบว่าเป็นครูที่ยังปฏิบัติหน้าที่สอนอยู่ร้อยละ 78 โดยร้อยละ 29 สอนระดับประถมศึกษาในชนบทที่นักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ครูจึงจะเป็นแกนนำขยายผลพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสให้มีโอกาสศึกษาต่อตามศักยภาพ มีความสามารถในการประกอบอาชีพในอนาคตในบริบทที่หลากหลาย อาทิ การพัฒนาทักษะอาชีพ พัฒนาทักษะชีวิต ภาษา การสื่อสาร การพัฒนาเด็กพิเศษที่เหมาะสมกับช่วงวัย การพัฒนาสื่อเพื่อการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนของผู้เรียน และการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของคนไทย

“ครูทั้ง 156 คนสามารถเลือกขยายผลการดำเนินงานได้ ตั้งแต่ระดับชั้นเรียน สถานศึกษา ศูนย์หรือแหล่งเรียนรู้ เขตพื้นที่การศึกษา ครอบครัว หรือ ชุมชน ทั้งนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม เป็นเครือข่ายสร้างโอกาสทางการศึกษา นำไปสู่การสร้างและพัฒนาครูรุ่นใหม่ทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอีกด้วย โครงการนี้จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป หากภาคธุรกิจเอกชนรายใดสนใจร่วมสนับสนุนโครงการขยายผลของเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ทรัพยากรองค์ความรู้ หรืออื่นๆ สามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและระดมทุน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โทร 091-569-4494” ดร.อุดม กล่าว

นายสุเทพ เท่งประกิจ ครูโรงเรียนบ้านคลองน้ำใส จังหวัดยะลา ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 ของประเทศไทย กล่าวว่า โครงการขยายผลของตนเองจะพัฒนาให้เกิดแหล่งเรียนรู้สำหรับฝึกทักษะด้านอาชีพ และมีการพัฒนาทักษะอาชีพอย่างน้อย 5 ประเภทตามบริบทท้องถิ่นที่สามารถเป็นแบบอย่างให้นักเรียนรุ่นต่อไป รวมถึงสร้างนักเรียนแกนนำที่มีการพัฒนาทักษะอาชีพ ตามความถนัดและความชอบ สามารถนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้ ขณะเดียวกันต้องมุ่งสร้างความเข้าใจให้กับเด็ก ครอบครัว ชุมชน ตระหนักว่า การเรียนอย่างมีคุณภาพไม่จำเป็นต้องมุ่งไปในทางวิชาการเพียงอย่างเดียว เด็กที่เรียนไม่เก่งควรได้รับโอกาสค้นหาสิ่งที่เหมาะสม และสิ่งที่ตัวเองถนัดตามบริบทพื้นที่ ให้มีอาชีพมีรายได้และมีชีวิตที่ดีขึ้น ตนเชื่อว่าแนวทางจัดการศึกษาที่ให้เด็กมีทางเลือกหลากหลายตามศักยภาพ จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ด.ต.คณิต ช่างเงิน ครูใหญ่ รร. ตชด. บ้านแม่กลองคี อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ครูรางวัล “คุณากร” กล่าวว่า ตนขยายผลเรื่องการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน ส่งเสริมเด็กในเรื่องภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ อยากให้เด็กๆ เห็นความสำคัญของการสื่อสาร พูด อ่าน และเขียนได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการต่อยอดไปถึงการเรียนรู้สาขาวิชาต่างๆ เรามีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษสำหรับเด็กนักเรียนที่หลากหลาย สอดแทรกลงในทุกกิจวัตรของนักเรียน ตอนเช้าเด็กเข้าแถวต้องท่องศัพท์ ฝึกบทสนทนาในสถานการณ์จำลองต่างๆ ให้เขาได้เรียนรู้ที่จะสามารถอธิบายสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ และมีการจัดการเข้าแคมป์พัฒนาทักษะภาษาโดยเฉพาะ

“ผมบอกเด็กๆ เสมอว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้หมู่บ้านห่างไกลเจริญขึ้นได้ มีเพียงการศึกษาเท่านั้น หากเด็กไม่ได้รับการศึกษา เขาจะเหมือนถูกปิดหูปิดตา มองไม่เห็นโลก ไม่เข้าใจสังคม ไม่มีหนทางพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ห่างไกล เขาจะวนเวียนอยู่ในวงจรความยากจนด้อยโอกาสต่อไป แนวคิดที่ผมปลูกฝังนี้ทำให้เกิดการตื่นตัวของเด็กในชุมชน เขาเริ่มเห็นความสำคัญของการเรียน เห็นแล้วว่ายิ่งได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นก็ยิ่งพัฒนาชีวิตให้ดีกว่าเดิมได้ ปัจจุบันเด็กหลายคนจึงได้เรียนต่อ จบการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ และเลือกที่จะกลับมาพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่เขาต้องซึมซับ คือเมื่อได้รับการศึกษาแล้ว ต้องนำเอาความรู้กลับมาพัฒนาชุมชนของตนให้ดีขึ้น แล้วความรู้จะนำมาซึ่งความเข้าใจบริบท ทำให้สามารถสื่อสารกับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นได้ ผมเชื่อว่าแนวคิดนี้เมื่อขยายสู่คนรุ่นถัดๆ ไป มันจะสามารถเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของผู้คนในภาพรวมได้ในวันหนึ่ง” ครูรางวัลคุณากร กล่าว

1111.jpg222.jpg