วันที่ 20 เม.ย. นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงผลการกระชุมหารือแนวทางการดำเนินการทดสอบ O-NET, GAT/PAT (การทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป, การทดสอบความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ), Admission (ระบบกลางคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา) และการสอบ วิชาสามัญ 9 วิชา ปีการศึกษา 2563 โดยมีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)
การประชุมได้ข้อสรุปว่า จะมีการทบทวนการจัดทดสอบต่างๆ เนื่องจากกระบวนการเดิมที่มีการสอบหลายครั้ง (สอบ O-NET, GAT/PAT, สอบ 9 วิชาหลัก และสอบแอดมิชชั่น) ส่งผลให้เด็กมีความเครียดและผู้ปกครองมีความกังวล เด็กบางคนต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการสอบ ดังนั้นที่ประชุมจึงมีข้อสรุปร่วมกันว่า ต้องทบทวนการจัดทดสอบต่างๆ ในกลุ่มเด็ก ม.6 ให้เหลือการสอบเดียว
ส่วนวิธีการดำเนินการจะเป็นข้อสอบในรูปแบบใดนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สทศ.และ ทปอ.จะไปหารือร่วมกันในรายละเอียดอีกครั้ง
“วันนี้ข้อสอบมากเกินไปทำให้เด็กเครียด ซึ่งข้อสอบ 1 ข้อก็สามารถวัดเด็ก 2-3 อย่างได้ จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายวัดประเมินผลต้องคิดกันต่อไป คือไม่อยากให้เด็กต้องวิ่งสอบ เด็กบางคนอยู่เชียงใหม่ต้องวิ่งสอบมีค่าใช้จ่ายสูงมาก บางคนไม่มีเงินหรือคนที่ไม่มีค่าใช้จ่ายไปสอบก็มีเรื่องความเหลื่อมล้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจึงอยากให้สอบรอบเดียวจบได้หรือไม่
"ข้อสอบวันนี้เราเปลี่ยนรูปแบบได้ และการตรวจวัด มีระบบ AI ก็สามารถนำมาใช้ได้ ดังนั้น ก็จะต้องมาหารือกันว่าจะใช้วิธีใด และเมื่อผลออกมาว่าจะมีการปรับการสอบ ในปีการศึกษา 2563 ก็จะออกประกาศให้เด็กทราบล่วงหน้า 3 ปี และใช้ในปี 2566” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว