ไม่พบผลการค้นหา
The Global New Light of Myanmar สื่อของรัฐภายใต้คณะรัฐประหาร รายงานว่า เมื่อวานนี้ (21 เม.ย.) ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย เข้าพบ มินอ่องหล่ายน์ หัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ณ กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา

สื่อของเผด็จการเมียนมารายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ ดอนและมินอ่องหล่ายน์ ได้หารือถึงความร่วมมือระหว่างเมียนมา ไทย และลาวในการลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน ประเด็นสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ และแผนความร่วมมือในการขจัดการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด และลักลอบค้าอาวุธ

พร้อมกันนี้ ยังมีคณะเจ้าหน้าที่จากทางการไทยผู้ติดตามรวมถึง พรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านเมียนมา และมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำเมียนมา โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายเมียนมา ได้แก่ เยวินอู เลขาธิการร่วม SAC ตานฉ่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ โกโกหล่าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมด้วย

ก่อนหน้านี้ พรพิมลเคยตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากการได้รับการแต่งตั้งโดยดอน ให้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านเมียนมา แม้ว่าเธอจะไม่มีความชำนาญเฉพาะทางในประเด็นความขัดแย้งของเมียนมา นอกจากนี้ พรพิมลยังเคยตกเป็นข่าวในสหรัฐฯ หลังจากเธอเคยต้องขึ้นศาลในสหรัฐฯ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาการติดสินบน จากการเป็นลอบบี้ยิสต์ของเธอในอดีต

ในอีกรายงานของ The Global New Light of Myanmar ยังระบุอีกว่า ในวันเดียวกันกับการหารือระหว่างดอนและมินอ่องหล่ายน์ ในช่วง 16.00 น. พรพิมล และโกโกหล่าย ได้หารือเพื่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีและความร่วมมือ และประเด็นต่างๆ ทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยว พลังงาน การพัฒนาชนบท และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านศูนย์ประสานงานอาเซียน เพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ (AHA Center)

ทั้งนี้ สื่อของเผด็จการเมียนมาไม่ได้รายงานถึงรายละเอียดของการพูดคุยระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย กับหัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา รวมถึงการรายงานผลการหารืออย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดี เผด็จการเมียนมายังคงไม่แสดงความจริงใจในการหาทางออกอย่างสันติ แม้อาเซียนจะมีการเสนอแผนสันติภาพฉันทามติ 5 ประการ ซึ่งออกมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 และจะถูกประชาคมโลกประกาศคว่ำบาตร

นอกจากนี้ การเดินทางเยือนเมียนมาในครั้งนี้ขรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประทศไทย เกิดขึ้นก่อนที่ไทยจะมีการเลือกตั้งของไทยไม่ถึง 1 เดือน ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาที่ยืดเยื้อ นับตั้งแต่การทำรัฐประหารที่นำโดย มินอ่องหล่ายน์ เพื่อโค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ อองซานซูจี จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เมื่อเดือน ก.พ. 2654

ยิ่งไปกว่านั้น การเดินทางเยือนเมียนมาครั้งนี้ของดอน เกิดขึ้นหลังจากเหตุทิ้งระเบิดใส่ประชาชนในพื้นที่สะกายโดยกองทัพเมียนแค่เพียงสัปดาห์เดียว โดยเหตุสยองขวัญดังกล่าวได้คร่าชีวิตประชาชนไปอย่างน้อย 100 ราย รวมถึงเด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ

ในปัจจุบัน มีประชาชนชาวเมียนมาถูกสังหารโดยกองทัพเมียนแล้วอย่างน้อยเกือบ 3,000 ราย และถูกจับกุมตัวอีกนับหมื่นราย แม้เผด็จการเมียนมาจะยังคงไม่สามารถควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้ก็ตาม


ที่มา:

https://www.gnlm.com.mm/sac-chairman-pm-senior-general-min-aung-hlaing-receives-thai-deputy-prime-minister-and-minister-of-foreign-affairs-mr-don-pramudwinai-and-party/#article-title

https://www.gnlm.com.mm/moic-union-minister-receives-advisor-to-thai-foreign-minister/amp/?fbclid=IwAR3fjA4-XbOP2EppnAgKX9NaYsxSG3QP5hOyGxy_dv-vdBaoCBc6teCfgjM#article-title