ไม่พบผลการค้นหา
4 แบงก์พาณิชย์ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 3 ประเภท สู่ระดับต่ำสุด MLR ร้อยละ 5.25 MRR ร้อยละ 5.97 ฟากสมาคมธนาคารไทยยืนยันธนาคารพาณิชย์ช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้วเกือบ 14 ล้านราย

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ผลกระทบจากสงครามการค้าและแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาในปีนี้ที่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนต้องหยุดชะงักลง และอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติเช่นเดิม

ธนาคารพาณิชย์ตระหนักถึงผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจดังกล่าวต่อลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมไปถึงกลุ่มลูกค้าบุคคล อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ในฐานะตัวกลางทางการเงินที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย จึงได้ดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือกับลูกค้าของแต่ละธนาคาร ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลอดจนให้ความร่วมมือกับโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้า และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม 

โครงการความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ของธนาคารพาณิชย์ ครอบคลุมลูกหนี้เกือบ 14 ล้านราย ซึ่งโครงการสำคัญที่ได้ดำเนินการแล้ว ได้แก่ การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย อาทิ การขยายเวลาการชำระหนี้ให้กับลูกค้าผู้ประกอบการ การลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน ตลอดจนการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อเช่าซื้อ-ลีสซิ่ง สินเชื่อบ้าน ซึ่งได้ช่วยลูกค้าไปแล้วจำนวน 13.8 ล้านราย คิดเป็นยอดหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 6.12 ล้านล้านบาท

การปล่อยสินเชื่อ โครงการ บสย. SMEs สร้างไทย ตามมาตรการ ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย ให้แก่ลูกค้าไปแล้วจำนวน 1.4 หมื่นราย เป็นวงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ผ่านธนาคารออมสิน ช่วยลูกค้าไปเป็นวงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท  

ประยุทธ์ นายแบงก์ สมาคมธนาคารไทย
  • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม หารือกับสมาคมธนาคารไทยที่อาคารธนาคารกสิกรไทย พหลโยธิน เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563

ล่าสุด ธนาคารพาณิชย์ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการกระจายสินเชื่อภายใต้โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ของธนาคารแห่งประเทศไทย วงเงินโครงการทั้งสิ้น 500,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมไม่เกิน 500 ล้านบาท ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย. เป็นต้นมา มีการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 49,804 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้ 28,722 ราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กมีสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2562 ไม่เกิน 20 ล้านบาท จำนวน 20,680 ราย รองลงมาเป็น SMEs ขนาดกลาง (วงเงินสินเชื่อ 20-100 ล้านบาท) และ SMEs ขนาดใหญ่ (วงเงินสินเชื่อ 100-500 ล้านบาท) จำนวน 5,880 ราย และ 2,162 รายตามลำดับ

ทั้งนี้ สินเชื่อโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังอยู่ในช่วงเริ่มดำเนินโครงการ ทำให้ยอดสินเชื่อจะยังไม่สูงมาก แต่จะมีความคืบหน้าที่ชัดเจนมากขึ้นในระยะถัดไป ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ก็จะยังคงเดินหน้าโครงการและแนวทางให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้มั่นใจว่า ธนาคารพาณิชย์จะให้การดูแลลูกค้าทุกกลุ่มของธนาคารเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับบทบาทในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

อีกด้านหนึ่ง หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาร้อยละ 0.25 ต่อปี เหลือที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา ล่าสุดหลายธนาคารได้ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 

กรุงไทยลดดอกเบี้ยเงินกู้ 3 ประเภท ช่วยผู้ประกอบการ-ประชาชน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา หรือ MLR (Minimum Loan Rate) ลงร้อยละ 0.125 ต่อปี เหลือร้อยละ 5.25 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี หรือ MOR (Minimum Overdraft Rate) ลดลงร้อยละ 0.40 ต่อปี เหลือร้อยละ 5.82 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR (Minimum Retail Rate) ลดลงร้อยละ 0.125 ต่อปี เหลือร้อยละ 6.22 ต่อปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป

กรุงไทย ลดดอกเบี้ยเงินกู้

ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงิน นอกเหนือ จาก 5 มาตรการเยียวยาที่ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย การสนับสนุน Soft Loan ในการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เพื่อดูแลลูกค้าของธนาคารให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ รวมทั้งลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

กสิกรไทยลดดอกเบี้ย MLR และ MRR ลงร้อยละ 0.13 

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าธนาคารกสิกรไทยพร้อมเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าธนาคารอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตอบสนองการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ถึงมือลูกค้าทุกกลุ่มทันที โดยธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ย MOR ลงสูงสุดถึงร้อยละ 0.38 ทำให้อัตราดอกเบี้ย MOR คงเหลือเพียงร้อยละ 5.84 

อีกทั้งธนาคารยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR และ MRR ลงอีกร้อยละ 0.13 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยคงเหลือร้อยละ 5.47 และร้อยละ 5.97 ตามลำดับ เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความตั้งใจของธนาคารในการช่วยประคับประคองสภาพคล่องและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าของธนาคาร โดยเฉพาะลูกค้าบุคคลและลูกค้าผู้ประกอบการ เพิ่มเติมจากมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้า ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้ค่อย ๆ ฟื้นตัวและเดินหน้าไปได้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป

กสิกรไทย ลดดอกเบี้ยเงินกู้

ไทยพาณิชย์บรรเทาปัญหาลูกค้า ลดดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 0.125-0.35

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารฯ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบภาระต้นทุนดอกเบี้ยของลูกค้าธนาคารฯ โดยเร่งด่วน นับเป็นการลดดอกเบี้ยติดต่อกันต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนด้านสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด Covid-19 ในหลายเดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทแบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) หรือ MLR ปรับลดจากร้อยละ 5.375 เป็นร้อยละ 5.25 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) หรือ MOR ปรับลดลงจากร้อยละ 6.095 เป็นร้อยละ 5.845 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) หรือ MRR ปรับลดลงจากร้อยละ 6.345 เป็นร้อยละ 5.995 ซึ่งปรับลดลงมากที่สุดในระบบธนาคาร และมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป

กรุงศรีลดดอกเบี้ย 3 ประเภทมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. เป็นต้นไป

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า กรุงศรีพร้อมสนับสนุนนโยบายทางการเงินของภาครัฐผ่านกลไกการทำงานของธนาคาร เพื่อลดผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจและภาระต้นทุนดอกเบี้ยของลูกค้าอันเนื่องมาจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และปัจจัยลบที่ตามมา ดังนั้น กรุงศรีจึงปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR, MOR และ MRR ลงอีก หลังจากที่ได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อไปแล้ว 3 ครั้ง ในวันที่ 8 ก.พ. 24 มี.ค. และ 10 เม.ย. 2563 นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19

รวมถึงครั้งนี้ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้เงินให้สินเชื่อของกรุงศรีมีอัตราดอกเบี้ยดังต่อไปนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate หรือ MLR) ปรับลดลงจากร้อยละ 5.83 เป็นร้อยละ 5.58 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate หรือ MOR) ปรับลดลงจากร้อยละ 6.30 เป็นร้อยละ 5.95 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate หรือ MRR) ปรับลดลงจากร้อยละ 6.30 เป็นร้อยละ 6.05 ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2563 เป็นต้นไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :