ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประชาชน ชี้ สิ่งที่จะกดทับชาวบ้านไม่ใช่โควิด-19 แล้ว แต่เป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จี้รัฐหยุดต่ออายุกฎหมายพิเศษ พร้อมเสนอใช้กฎหมายปกติควบคุมโรค และเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านแสดงจุดยืนหรือคัดค้านโครงการรัฐ

ที่ศูนย์ดำรงธรรม หรือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค รวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวนหนึ่ง นำโดยนายจำนง หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อ สังคมที่เป็นธรรม หรือ P-Move และ น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงาน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เข้ายื่นต่อรัฐบาลเพื่อขอให้ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะกระทบกับการดำรงชีวิตและจะเกิดการละเมิดจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนมากที่เกินจำเป็น โดยเสนอให้ใช้กฎหมายปกติรองรับมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด -​19 ได้ โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือ และ เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค ยังได้ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินอีกช่องทางหนึ่งด้วย

นายจำนงค์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค อ่านแถลงการณ์ โดยระบุถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่าเป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางและรุนแรง เป็นการใช้อำนาจที่คลุมเครือ ขาดการตรวจสอบ และมีการยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่เอาไว้ รัฐจึงต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างระมัดระวังและจำกัดเท่าที่จำเป็น 

ดังนั้น เมื่อการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และการบังคับใช้กฎหมายปกติ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ และกฎหมายคนเข้าเมือง ก็ให้อำนาจกำหนดมาตรการที่ครอบคลุมเพียงพอที่จะป้องกันและควบคุมโรคระบาดได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำรงชีวิตทำมาหากินและใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานรวมถึงการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นและจุดยืนต่อการดำเนินโครงการทั้งของรัฐและเอกชน ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของประชาชน ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่กำหนดขึ้นโดยใช้กฎหมายปกติตามความจำเป็น

นายจำนงค์ ยืนยันว่า การจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด -​19 ประสบความสำเร็จ เพราะประชาชนให้ความร่วมมือเนื่องจากกลัวเจ็บป่วยและเสียชีวิต จึงเชื่อว่า แม้ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประชาชนก็จะให้ความร่วมมือในมาตรการต่างๆ แต่การดึงดันใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ต่อไป ประชาชนอาจไม่ตายเพราะติดเชื้อ แต่จะอดตายเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจได้ ที่เป็นผลจากกฎหมายพิเศษ

ด้านน.ส. ส.รัตนมณี ยืนยันว่า โครงการพัฒนาต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน ยังดำเนินการต่อเนื่องได้โดยไร้การตรวจสอบ ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และเมื่อบรรลุผลโครงการชาวบ้านก็จะต้องอยู่กับผลกระทบไปตลอดชีวิต ดังนั้น สิ่งที่กดทับชาวบ้านขณะนี้ไม่ใช่โควิด -​19 แล้ว แต่เป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่กดทับไม่ให้แสดงจุดยืนและความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ที่ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม