ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์สำรวจตลาด 'ฟรีแลนซ์' ไทย ชี้ พวกรายได้สูง มักจบการศึกษาระดับสูงประสบการณ์มาก ทำงานเก่งใช้ชั่วโมงทำงานน้อย อาศัยคอนเนคชั่นหางานเป็นหลัก

'กัลยรักษ์ นัยรักษ์เสรี' นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เปิดเผยในบทความเรื่อง 'ฟรีแลนซ์ชาวไทยทำงานอะไรกันบ้าง' ว่า ผู้ประกอบอาชีพอิสระในประเทศไทยนั้น อยู่ในอาชีพที่หลากหลาย ตั้งแต่พนักงานขาย อาจารย์ นักวิจัย นักแสดง นักวาด นักเขียน ล่าม เทรนเนอร์ ช่างแต่งหน้า บริการขับรถรับส่งผู้โดยสาร ไปจนถึงอาชีพที่คนทั่วไปมักเข้าใจว่าต้องทำงานประจำเท่านั้น เช่น แพทย์ พยาบาล นักกฎหมาย นักบัญชี และที่ปรึกษาทางการเงินการลงทุน 

อย่างไรก็ตาม จากแบบสอบถามส่วนใหญ่ ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ทำงานรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 34 งานสอนและวิจัยร้อยละ 11 พนักงานขายร้อยละ 10 งานสายครีเอทีฟร้อยละ 10 และขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ร้อยละ 9 และมีชาวฟรีแลนซ์ร้อยละ 5 ที่ตอบว่า มีรายได้สูงกว่า 100,000 บาทต่อเดือน 

ที่น่าสนใจ คือ อายุเฉลี่ยของฟรีแลนซ์ที่รายได้สูงเหล่านี้มีเพียง 44 ปี ขณะที่มนุษย์เงินเดือนที่รายได้เกิน 100,000 บาท มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 46 ปี โดยจากผลสำรวจ SCB EIC พบว่า ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือ ฟรีแลนซ์ที่มีรายได้สูง มีคุณสมบัติ 3 ข้อ ได้แก่


หนึ่ง : เรียนสูง ประสบการณ์มาก ยิ่งมีโอกาสได้เงินแสน 


การศึกษา

จากผลสำรวจพบว่า ฟรีแลนซ์ที่จบการศึกษาสูง มีโอกาสสร้างรายได้ที่สูงกว่า โดยร้อยละ 13 ของฟรีแลนซ์ที่จบปริญญาโทขึ้นไป ตอบว่า มีรายได้ต่อเดือนเกิน 1 แสนบาท ขณะที่ฟรีแลนซ์ที่จบปริญญาตรี มีโอกาสรายได้แตะแสนบาทเพียงร้อยละ 4 และมีโอกาสน้อยกว่าราว 3 เท่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบระดับการศึกษาแล้ว จะมีผลกับระดับเงินเดือนของคนทำงานประจำมากกว่า โดยมนุษย์เงินเดือนที่จบกว่าปริญญาโท จะมีคนที่มีเงินเดือนเกินแสนมากกว่ามนุษย์เงินเดือนที่จบปริญญาตรีถึง 6 เท่า 

อีกด้านคือ ประสบการณ์ทำงาน ก็มีผลต่อรายได้ของฟรีแลนซ์เช่นกัน โดยเฉพาะสายงานที่มีความรู้รอบตัวและประสบการณ์มากยิ่งได้เปรียบ เช่น อาชีพพนักงานขาย ที่ต้องอาศัยความรอบรู้ในเรื่องสินค้าและบริการที่เป็นตัวแทน จนถึงวิธีเข้าถึงและรับมือลูกค้า หรืออาชีพที่ปรึกษาทางการเงินการลงทุน ที่ยิ่งคร่ำหวอดในวงการนาน ยิ่งได้เปรียบในเรื่องความน่าเชื่อมั่นจากลูกค้า 


สอง : Work Smarter, Not Harder ทำงานให้ฉลาดขึ้น ไม่ใช่ทำงานให้หนักขึ้น


อาคาร-กระจก-ธุรกิจ-สำนักงาน-ออฟฟิศ

พบสำรวจชี้ว่า ฟรีแลนซ์คนไทยส่วนใหญ่ทำงานประมาณ 3-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ระยะเวลาการทำงานไม่ได้ส่งผลต่อระดับรายได้เสมอไป เมื่อดูที่ระดับรายได้ตามระยะเวลาที่ใช้ทำงาน พบว่า ฟรีแลนซ์ที่ทำงานน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มีสัดส่วนกลุ่มคนรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน สูงที่สุดคือร้อยละ 26 ส่วนกลุ่มที่มีรายได้ 15,000-49,999 บาท เป็นกลุ่มที่ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันมากถึงร้อยละ 51

ดังนั้น ในบทความนี้จึงสรุปว่า การโหมทำงานมากๆ ก็ไม่ได้ทำให้รายรับมากขึ้นเสมอไป และคุณภาพงานบางครั้งก็ไม่ได้ขึ้นกับระยะเวลาที่ทำ แต่ขึ้นกับทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ และการบริหารเวลาทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดมากกว่า เช่น ฟรีแลนซ์ร้อยละ 26 ที่ใช้เวลาทำงานน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน แต่มีรายได้สูง ส่วนใหญ่จบการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป และครึ่งหนึ่งมีประสบการณ์ทำงานฟรีแลนซ์มาเกิน 5 ปี 


สาม: สร้างคอนเนคชั่น 


ทำงาน-คนรุ่นใหม่-เศรษฐกิจ-ธุรกิจ

บทความนี้ระบุว่า ฟรีแลนซ์เกินครึ่งบอกว่าหางานผ่านคอนเนคชั่นหรือสายสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ผ่านการแนะนำของคนรู้จัก ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ และที่น่าสนใจคือ ฟรีแลนซ์ที่มีรายได้สูงๆ มักเลือกหางานผ่านคอนเนคชั่นส่วนตัวมากกว่าเว็บไซต์หางาน 

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ยิ่งมีระดับรายได้สูงขึ้น ฟรีแลนซ์จะเลือกหางานจากเว็บไซต์หางานน้อยลง แต่หาผ่านคอนเนคชั่นมากขึ้น โดยฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 9,000 บาท มีสัดส่วนของคนที่ตอบว่า หางานผ่านเว็บไซต์หางานร้อยละ 39 หางานผ่านคอนเนคชั่นทางสังคมร้อยละ 54 ขณะที่ฟรีแลนซ์รายได้ต่อเดือนสูงกว่า 100,000 บาท ตอบว่า หางานผ่านเว็บไซต์เพียงร้อยละ 16 แต่หาผ่านคอนเนคชั่นสูงถึงร้อยละ 62 

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะงานฟรีแลนซ์ที่ได้จากเว็บไซต์ให้ค่าจ้างที่ต่ำกว่า เพราะการแข่งขันที่สูงทำให้คนจ้างสามารถต่อรองราคาลงได้ โดยเฉพาะงานที่ไม่ได้ต้องการทักษะสูงมากนัก หรือ มีจำนวนชาวฟรีแลนซ์ในตลาดรองรับมากนัก ส่วนฟรีแลนซ์ที่รายได้สูงๆ มักมีทักษะความเชี่ยวชาญโดดเด่น เป็นที่รู้จักในวงการอาชีพนั้นๆ จนสามารถหางานได้ด้วยตนเองไม่พึ่งเว็บไซต์หางาน เช่น ฟรีแลนซ์สายครีเอทีฟที่มีรายรับเกินแสนบาทเป็นจำนวนมาก ต่างตอบว่า หางานผ่านคอนเนคชั่นทางสังคมเพียงอย่างเดียว