ไม่พบผลการค้นหา
นักเศรษฐศาสตร์ชี้ กฎหมายไทยเข้มงวดไม่พอ บริษัทข้ามชาติยังมีแนวโน้มเลี่ยงภาษี

'ภาษี' คือผลประโยชน์และรายได้ของประเทศ การปล่อยให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาทำธุรกิจหากำไรในประเทศ แต่ไม่สามารถควบคุมให้บริษัทเหล่านั้นจ่ายภาษีตามสมควรจึงนับเป็นการเสียผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน

งานศึกษาการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งถากรณ์ ศึกษาข้อมูลงบการเงินของบริษัทข้ามชาติใน 5 ประเทศกำลังพัฒนาสำคัญของอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ในช่วงปี 2548 - 2559 พบว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเข้มงวดตรวจสอบการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติน้อยที่สุด

บริษัทข้ามชาติ

แม้จำนวนบริษัทข้ามชาติ อาทิ กูเกิล แอปเปิล เฟซบุ๊ก และแอมะซอน จะมีไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนบริษัทเอกชนทั่วโลก แต่มูลค่าบริษัทรวมทั้งมูลค่าตลาดของบริษัทเหล่านี้กลับสูงอย่างมหาศาล นั่นหมายความว่า การเลี่ยงภาษีของบริษัทเหล่านี้ทำให้ประเทศขาดทุนมหาศาลเช่นเดียวกัน

งานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ในปี 2559 สะท้อนตัวเลขเม็ดเงินภาษีรายปีที่แต่ละประเทศต้องเสียไปกับการเลี่ยงภาษี โดยระบุว่า ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD) เงินจากการเลี่ยงภาษีอยู่ที่ร้อยละ 1 ของการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของประเทศนั้นๆ และในประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่านั้นเม็ดเงินเลี่ยงภาษีจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 /จีดีพี

ตามข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย ประจำปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 16.3 ล้านล้านบาท ซึ่งหากคิดตามงานวิจัยของไอเอ็มเอฟ แปลว่าเม็ดเงินที่รัฐบาลสูญเสียรายได้จากการเลี่ยงภาษีอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท

ช่องโหว่มาตรการรับมือการเลี่ยงภาษีของรัฐบาลไทย

'อธิภัทร มุทิตาเจริญ' นักเศรษฐศาสตร์ด้านนโยบายการคลังและการพัฒนา ผู้เขียนงานวิจัย กล่าวว่า บริษัทข้ามชาติสามารถโยกย้ายกำไรเพื่อลดภาระภาษีของตนได้หลายวิธี 

วิธีแรกคือการกำหนดราคาการซื้อขายสินค้าระหว่างบริษัทในเครือ (Transfer Pricing) ซึ่งคือการเลี่ยงไม่กำหนดราคาซื้อขายตามราคาตลาด เพื่อให้บริษัทในประเทศที่มีอัตราการเสียภาษีมีกำไรน้อยจะได้จ่ายภาษีน้อย

สำหรับวิธีการนี้ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงผ่าน พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 47) พ.ศ. 2561 เรื่อง มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing) ซึ่ง 'อธิภัทร' กล่าวว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มเครื่องมือตรวจสอบให้กับกรมสรรพากร

ขณะที่ รูปแบบการเลี่ยงภาษีอีกอย่างหนึ่งคือการกำหนดโครงสร้างทางการเงินของบริษัทพึ่งพาหนี้ในอัตราที่สูงเกินความจำเป็น (Thin Capitalization) ซึ่งเป็นรูปแบบที่หลายบริษัทเลือกใช้ เนื่องจากในหลายประเทศรวมทั้งในปรเทศไทย หากบริษัทข้ามชาติมีสัดส่วนหนี้สูงจะได้รับการยกเว้นหรือลดภาษีได้ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายใดออกมาแก้ปัญหาดังกล่าว

ธปท แถลง
  • อธิภัทร มุทิตาเจริญ

รูปธรรมของการเสียเปรียบ

'อธิภัทร' ยกตัวอย่างกรณีการเสียผลประโยชน์จากการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ โดยชี้ว่า กรณีแพลตฟอร์มออนไลน์ให้บริการดูหนังหรือซีรีย์ต่างๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย แต่เข้ามาทำการตลาดหาฐานลูกค้าในประเทศ เมื่อผู้บริโภคชาวไทยเสียเงินให้กับแพลตฟอร์มดังกล่าว รายได้เหล่านั้นรัฐบาลไทยไม่สามารถหักภาษีนิติบุคคลได้เนื่องจากบริษัทไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้มีหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญเช่นเดียวกันไทย ทำให้เกิดแนวความคิดเก็บภาษีบริการดิจิทัล หรือที่ประเทศไทยใช้ว่าภาษีธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ โดยเป็นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เข้ามาหารายได้กับผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งตอนนี้กฎหมายภาษีดังกล่าวยังอยู่ภายใต้ขั้นตอนการพูดคุยและพัฒนาเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :