ไม่พบผลการค้นหา
การลงมติในร่าง พ.ร.บ.ประมาณปี65 ไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้เห็น ภูมิใจไทยสไตล์ อภิปรายอย่างราชสีห์ โหวตอย่างหนู

อันที่จริงการลงมติรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่เพิ่งจบศึกยกแรกในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ เมื่อวันที่ 31 พ.ค.- 2 มิ.ย. 2565 ของ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยนั้น หาใช่เรื่องแปลกไม่

เพราะพรรคภูมิใจไทยเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข

การโหวตรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก จะแปลกและฮือฮาก็ต่อเมื่อภูมิใจไทยโหวตคว่ำต่างหาก

ศุภชัย ภูมิใจไทย สภา 60A38865-3D09-41D7-934D-4C8FBF55D538.jpeg

แต่ด้วยท่วงท่าลีลาการอภิปรายของพลพรรคภูมิใจไทย ที่แสดงออกอย่างเต็มกำลัง เรียกว่า จ้างร้อยเล่นล้าน ในระบายถึงความอึดอัด ไม่พอใจการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่รวบอำนาจจากอนุทิน ซ้ำยังลดบทบาท เพิ่มอำนาจข้าราชการประจำให้เหนือกว่ารัฐมนตรี

เหล่านี้เป็นสิ่งที่ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย แสดงออกว่า "รับไม่ได้" เพราะถือว่าไม่ให้เกียรติกัน

ศุภชัย ใจสมุทร แกนนำพรรคภูใจไทย อภิปรายว่า “เราไม่พูดแต่เราคิด จึงมีคำว่าเรากลับบ้านเถอะ ท่านตั้งเลขา สมช.เป็น ผอ.เฉพาะกิจบูรณาการแพทย์-สาธารณสุข ส่วนรองนายกและ รมว.สาธารณสุข และ รมช.สาธารณสุข เป็นแค่ที่ปรึกษา เวลานั่งประชุมเขานั่งกันยังไง นี่เป็นสิ่งที่พวกผมรู้สึก และอยากให้ท่านทราบว่าเรารู้สึกอย่างไร

นั่นเพราะที่ผ่านมาคนอย่างอนุทิน ต้องทนไม้ทนมือของ พล.อ.ประยุทธ์ มามาก เรียกว่า ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ยังคงฝืนยิ้มแล้วบอกว่า ไม่เป็นไร

กระทั่งมาถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 การแสดงออกของพรรคภูมิใจไทย ทำให้เห็นได้ชัดว่า “เสี่ยหนู” และลูกพรรค ไม่ยินดีกับการกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์  จึงได้สะท้อนผ่านการอภิปราย

ด้วยการอภิปรายดุเด็ดเผ็ดมัน ทำให้หลายคนจับตาว่าภูมิใจไทย จะกล้าโหวตคว่ำร่างกฎหมายงบประมาณหรือไม่  

กระนั้น ที่สุดแล้วภูมิใจไทย ก็เลือกที่จะให้งบประมาณได้ไปต่อ เพื่อที่รัฐบาลจะได้ไปต่อด้วยเช่นกัน

มิหนำซ้ำภูมิใจไทยช่วยถึงขนาดให้ 4 งูเห่าจากพรรคก้าวไกล มาช่วยโหวตเห็นชอบด้วย นั่นจึงไม่รอดที่จะถูกมองว่า อภิปรายอย่างราชสีห์ แต่ลงมติอย่างกับหนู

ประชุมรัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ  ภูมิใจไทย ภราดร we317_2.jpg

ความจริงแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ภูมิใจไทยเล่นบทดุ ขึงขันตอนอภิปราย แล้วลงท้ายจบแบบละครลิง

เพราะประมาณ 1 เดือนครึ่งก่อนหน้านี้ ถ้าจำกันได้ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยกำหนดให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ขึ้นมาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

พรรคภูมิใจไทยเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรนูญไม่แพ้พรรคประชาธิปัตย์

กระนั้น เมื่อ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) และ ส.ว.จับมือกันส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าสามารถทำได้หรือไม่ จะต้องทำประชามติก่อนหรืออย่างไร

จนต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำนิจฉัยแบบคลุมเครือ คือ ก่อให้เกิดการตีความไปทางใดก็ได้ ทำให้เสียงของสภาแตกเป็น 2 ส่วน

ส่วนหนึ่งเห็นว่าเดินทางถูกทางแล้ว และอีกส่วนหนึ่งเห็นว่า ผิดทาง จะต้องมีการทำประชามติก่อน มิเช่นนั้น จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

18 มี.ค.2564 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เถียงกันอยู่นาน ว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อความกระจ่างอีกครั้ง หรือลงมติไปเลย

สุดท้ายรัฐสภาเลือกลงมติ และผลก็คือการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย ส.ส.ซีกรัฐบาลและ ส.ว.งดออกเสียง ขณะที่ภูมิใจไทยวอล์กเอาต์

ชาดา ไทยเศรษฐ์ สภา สุริยัน ภูมิใจไทย 1_0009.jpg

ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย กล่าวกลางสภาว่า “ผมคงไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยกับพวกฉ้อฉล ศรีธนญชัย ปลิ้นปล้อน ไร้สาระสิ้นดี นี่คือสภาโจ๊ก” จากนั้น ส.ส.พรรคภูมิใจไทยจึงวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมทั้งหมด

การวอล์กเอาต์ดูเผินๆ ก็เป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนถึงความไม่พอใจที่พรรคพลังประชารัฐและ ส.ว.ที่เล่นเกมการยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่เมื่อมาพิจารณาดีๆ ก็มองได้ว่าพรรคภูมิใจไทย เลือกที่จะไม่ลงมติเลยเสียยังดีกว่า ด้วยเหตุผล 2 ประการ

1.ถ้าลงมติงดออกเสียง ก็จะเจอกับข้อครหาไม่สนับสนุน ไม่จริงใจกับแก้ไขรัฐธรรมนูญ

2.หากลงมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะเสี่ยงต่อการขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาอย่างคลุมเครือ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่พรรคประชาธิปัตย์ เลือกลงมติงดออกเสียง เพื่อความปลอดภัย

ดังนั้น การวอล์กเอาต์ของพรรคภูมิใจไทยคราวนั้น นอกจากจะได้โชว์หล่อแล้ว ยังไม่เป็นอันตรายในภายภาคหน้าต่อตนเองด้วย

นี่แหละ ภูมิใจไทยสไตล์ อภิปรายอย่างราชสีห์ โหวตอย่างหนู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง