นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยสำนักการระบายน้ำซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการจัดทำแผนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งแผนดังกล่าวกรุงเทพมหานครได้จัดทำเป็นประจำทุกปี โดยมีการประชุมหารือทำความเข้าใจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานเขต 50 เขต สำนักการโยธา สำนักจราจรและขนส่ง สำนักเทศกิจ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กองโรงงานช่างกล สำนักงานประชาสัมพันธ์ และศูนย์รับแจ้งทุกข์ กทม. เพื่อความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
โดยได้ดำเนินการลอกทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง กำจัดวัชพืช เก็บขยะมูลฝอย เพื่อเปิดทางน้ำไหลเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและสนับสนุนเครื่องสูบน้ำให้แก่สำนักงานเขต การปรับปรุงสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ บ่อสูบน้ำ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
นอกจากนี้ยังมีอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานอย่างเต็มระบบเมื่อเดือนที่ผ่านมา (เม.ย. 2561) อย่างไรก็ตามด้วยสภาพพื้นที่ในปัจจุบันมีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่ง จึงทำให้ระบบระบายน้ำในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบทำให้การระบายน้ำมีปัญหา
ในขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครยังมีพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นที่เอกชน หรือในหมู่บ้าน หรือหน่วยงานราชการอื่นๆ การเตรียมความพร้อมในการป้องกันปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสำคัญ การประชุมในวันนี้เป็นการประชุมเพื่อซักซ้อมแนวทางการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้แต่ละหน่วยงานได้มีการประชุมกลุ่มย่อยและลงพื้นที่มาก่อนแล้ว เฉพาะปีนี้ได้มีการลงพื้นที่ร่วมกับสำนักการระบายน้ำแล้ว 102 ครั้ง เพื่อรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและติดตามการแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด
อย่างไรก็ตามการที่ฝนตกในปริมาณมากเกินกว่า 60 มม.ขึ้นไป นับตั้งแต่ฝนเริ่มตกจนกระทั่งฝนหยุดตก บางครั้งปริมาณฝนอาจจะมากถึง 80-100 มม. ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในถนนสายหลักและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ที่ผ่านมาสำนักการระบายน้ำได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนเป็นการแก้ไขปัญหาชั่วคราว ที่สำคัญจะต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างถาวร ถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างถาวรจะต้องเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังให้เร็วกว่าปีที่แล้วในสัดส่วนที่ปริมาณฝนตกเท่ากัน
สำหรับการขุดลอกคูคลองจะเสร็จอย่างช้าภายในเดือน พ.ค. 2561 ส่วนการลอกทำความสะอาดท่อระบายน้ำ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อเปิดทางน้ำไหลเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเขตเร่งรัดผู้รับจ้างให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หากผู้รับจ้างรายใดทิ้งงานหรือผิดสัญญาให้จัดหาผู้รับจ้างรายใหม่เข้ามาแทน โดยขึ้นบัญชีผู้รับจ้างที่ทิ้งงานไว้ไม่ให้กลับเข้ามารับงาน ส่วนหน้าฝนในปีนี้ก็คงเหมือนปีที่แล้วคาดว่าฝนจะเริ่มมาเดือนพ.ค.เป็นต้นไป
จากการสำรวจจุดเสี่ยงน้ำท่วม เมื่อฝนตกในปริมาณ 60 มม. มีทั้งหมด 17 จุด ในพื้นที่ 11 สำนักงานเขต ถือว่าลดลงจากเดิมเมื่อ 2-3 ปีก่อนที่มีอยู่ประมาณ 22 จุด ซึ่งในจุดที่หายไปเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจุดดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้พื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมในถนนสายหลัก จำนวน 17 จุด ในพื้นที่ฝั่งพระนคร ได้แก่ 1.ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณวงเวียนหลักสี่ หน้าสถานีตำรวจนครบาลบางเขน เขตบางเขน 2.ถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปาถึงคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่ 3.ถนนรัชดาภิเษก ช่วงหน้าธนาคารกรุงเทพ เขตจตุจักร 4.ถนนพหลโยธิน ช่วงหน้าตลาดอมรพันธ์และแยกเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร 5.ถนนประชาราษฎร์ สาย 2 ช่วงแยกเตาปูน เขตบางซื่อ 6. ถนนราชวิถี ช่วงหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตและเชิงสะพานกรุงธน เขตดุสิต 7. ถนนพญาไท ช่วงหน้ากรมปศุสัตว์ เขตราชเทวี 8.ถนนศรีอยุธยา ช่วงหน้าสถานีตำรวจนครบาลพญาไท เขตราชเทวี
9.ถนนเจริญกรุง แยกหมอมี จากถนนแปลงนามถึงหมอมี เขตสัมพันธวงศ์ 10.ถนนเยาวราชฝั่งเหนือ จากถนนทรงสวัสดิ์ถึงถนนราชวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ 11.ถนนจันทน์ จากซอยบำเพ็ญกุศลถึงไปรษณีย์ยานนาวา เขตสาทร 12.ถนนสวนพลู จากถนนสาทรใต้ถึงถนนนางลิ้นจี่ เขตสาทร 13.ถนนสาธุประดิษฐ์ บริเวณแยกตัดถนนจันทน์ เขตสาทร 14.ถนนสุวินทวงศ์ ช่วงจากคลองสามวาถึงคลองแสนแสบ เขตมีนบุรี ส่วนพื้นที่ฝั่งธนบุรี ได้แก่ 15.ถนนเพชรเกษม จากคลองทวีวัฒนาถึงคลองราชมนตรี เขตบางแค 16.ถนนหมู่บ้านเศรษฐกิจ เขตบางแค และ 17.ถนนบางขุนเทียน จากถนนพระราม 2 ถึงถนนบางขุนเทียนชายทะเล เขตบางขุนเทียน