ไม่พบผลการค้นหา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์แบคทีเรียรูปแบบผง - แบบอัดเม็ดกำจัดลูกน้ำยุง ทดสอบแล้วกำจัดลูกน้ำยุงพาหะนำโรคไข้ปวดข้อ - ชิคุนกุนยา ยุงก้นปล่องพาหะนำโรคมาลาเรียได้รวดเร็ว ไม่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรคที่มียุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก ไข้ซิกา โรคชิคุนกุนยา โรคมาลาเรีย เป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะโรคมาลาเรียนั้นมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งแม่การะเกดแห่งบุพเพสันนิวาสได้แนะนำวิธีป้องกันโดยการปิดฝาภาชนะใส่น้ำต่างๆ เพื่อกันการเพาะพันธุ์ของยุงพาหะ และนอนกางมุ้งเพื่อป้องกันการถูกยุงกัด 

ปัจจุบันพบว่ามีสถานการณ์การติดเชื้อมาลาเรียสูงบริเวณตามแนวชายแดน เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศ เป็นป่าเขาเหมาะแก่การเจริญเติบโตของยุงก้นปล่อง ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้มาลาเรีย อันเกิดจากเชื้อพลาสโมเดียมชนิดต่างๆ ซึ่งพบแพร่กระจายอยู่ในประชาชนบริเวณชายแดนที่มีการอพยพอยู่ตลอดเวลา โดยมีรายงานการดื้อยาของเชื้อนี้มาอย่างต่อเนื่อง 

804264.jpg


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้ทำการศึกษาข้อมูลยุงพาหะนำโรคมาลาเรีย ทั้งด้านชนิด การแพร่กระจาย ความหนาแน่นในพื้นที่ชายแดน จัดทำเป็นฐานข้อมูลในลักษณะของแผนที่ GIS เพื่อเป็นข้อมูล ในการควบคุมยุง อีกทั้งยังได้ศึกษาพัฒนาวิธีการควบคุมทางชีววิธี ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์กำจัดลูกน้ำยุงรูปแบบผงและแบบอัดเม็ด ซึ่งเป็นการนำสิ่งมีชีวิตมาควบคุมกำจัดลูกน้ำยุง โดยใช้แบคทีเรียกำจัดลูกน้ำยุงชนิด Bacillus thuringiensis var. israelensis (Bti) และ Bacillus sphaericus (Bsph) 

804267.jpg

หลักการคือเมื่อลูกน้ำยุงกินแบคทีเรียเหล่านี้เข้าไป ผลึกโปรตีนที่อยู่ภายในเซลล์แบคทีเรีย จะก่อให้เกิดพิษกับลูกน้ำยุง พิษจะเข้าไปทำลายระบบทางเดินอาหารทำให้ลูกน้ำยุงตายอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญผลึกโปรตีนนี้สามารถสลายตัวไปเองตามธรรมชาติและไม่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิดนี้ ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถผลิตได้อย่างครบวงจร หรือสามารถติดต่อ ขอซื้อได้จาก บริษัท ทีเอฟไอ. กรีนไบโอเทค จำกัด ชื่อผลิตภัณฑ์ “มอสแท็บ (Mostab)” โทรศัพท์ 032-371357-8 ซึ่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปผลิตเชิงอุตสาหกรรม เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้โดยง่ายขึ้น