เมื่อมองไปในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ลีกฟุตบอลของประเทศอังกฤษที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่คนส่วนใหญ่จะเป็นแฟนบอลของสโมสรในพรีเมียร์ลีกทั้งนั้น ด้วยความนิยมที่มากล้นเมื่อจัดอันดับกัน พรีเมียร์ลีกจะเป็นลีกกีฬาฟุตบอลที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่ส่งออกไปขายทั่วโลก แต่เมื่อดูลงไปในรายชื่อของแต่ละสโมสรแล้ว จากทั้งหมด 20 สโมสรนั้น ที่มีเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นชาวอังกฤษเพียงแค่ 6 สโมสรเท่านั้น (ซึ่งไม่มีทีมไหนเลยที่เคยคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก)
ด้วยโลกธุรกิจที่โลกาภิวัฒน์เข้ามาสู่กีฬาเต็มรูปแบบ ทำให้หลายคนมองว่าสโมสรฟุตบอลการเป็นของเล่นของเหล่าเศรษฐี
แต่ “without fans football don't worth a penny’’ ปราศจากแฟนบอลฟุตบอลก็ไร้ค่า วลีอมตะของ Jock Stein ยอดผู้จัดการทีมชาวสหราชอาณาจักรคนแรกที่สามารถคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพได้กับสโมสรเซลติก กลายเป็นสโลแกนที่แฟนบอลในอังกฤษใช้ประท้วงการขึ้นราคาค่าตั๋วเข้าชมเกมส์ของหลายสโมสร เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เจ้าของสโมสรฟุตบอลทำการเปลี่ยนแปลงโดยไม่จำเป็นต้องสนใจแฟนบอล ซึ่งมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งทำให้หลายคนถึงกับมองว่าฟุตบอลอังกฤษนั้นไม่ได้เป็นเรื่องของคนท้องถิ่นอีกต่อไปแล้ว ซึ่งมีงาน สำรวจ ที่พบว่าคนอังกฤษนั้นมีส่วนร่วมกับฟุตบอลน้อยลงมาอย่างต่อเนื่อง
“บุนเดสลีกา” ลีกฟุตบอลสูงสุดของชาติเยอรมัน ถึงไม่ใช่ลีกที่มูลค่าสูงที่สุดแบบอังกฤษหรือลีกที่เต็มไปด้วยผู้เล่นซูปเปอร์สตาร์อย่างลาลีกาสเปน แต่บุนเดสลีกาก็มักจะถูกยกให้เป็นหนึ่งลีกกีฬาที่ดีที่สุดลีกหนึ่งในโลก ด้วยจำนวนผู้ชมต่อเกมสูงที่สุดในบรรดาลีกฟุตบอล ตั๋วเข้าชมเกมที่ราคาถูก และมีวัฒนธรรมการเชียร์ฟุตบอลที่แข็งแรง รากฐานหนึ่งก็มาจากกฎของลีกที่เรียกว่า “50+1” นี้เอง ซึ่งดูเหมือนว่าเยอรมันจะเข้าใจวลี “without fans football don't worth a penny’’ มากกว่าอังกฤษ เพราะทุกสโมสรมีแฟนบอลเป็นเจ้าของสโมสรของพวกเขาเอง
ในปี 1998 สมาคมฟุตบอลเยอรมันได้อนุญาตให้สโมสรฟุตบอลสามารถถูกถือครองโดยเอกชนได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้มีหุ้นส่วนในสโมสรต้องเป็นสมาชิกสมาคมของสโมสรฟุตบอลเท่านั้น เปลี่ยนฟุตบอลให้เข้าไปสู่โลกธุรกิจ เหมือนกับลีกฟุตบอลเก่าแก่อื่นๆที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน โดยอดีตกีฬาฟุตบอลจะถูกจัดเป็นองค์กรที่ไม่แสวงกำไร
แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ก็ยังได้ออกกฎบังคับให้ผู้ถือหุ้นของสโมสรอย่างน้อยร้อยละ 51 ต้องเป็นแฟนบอล(ที่เป็นสมาชิก)หรือที่เรียกว่ากฎ “50+1” เพื่อป้องกันการเข้าครอบครองสโมสรแบบเบ็ดเสร็จเจ้าของจะสามารถทำอะไรกับสโมสรก็ได้ อย่างที่เกิดขึ้นในอังกฤษที่กลุ่มทุนจากมาเลเซียเข้ามาซื้อสโมสร คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ แล้วเปลี่ยนสีประจำสโมสรที่ใช้มานานจากสีน้ำเงินเป็นสีแดง ท่ามกลางความไม่พอใจอย่างรุนแรงของแฟนบอล ทั้งยังเป็นการรักษาให้เจ้าของสโมสรเป็นคนจากภายในประเทศ และลดการผูกขาดโดยการทุ่มทุนจากนักลงทุนภายนอก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างให้แฟนบอลรู้สึกเป็นเจ้าของสโมสร ทำให้ฐานแฟนฟุตบอลในเยอรมันเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องมากตั้งแต่ 1998 ซึ่งนับตั้งแต่ฤดูกาล 2004-2005 เป็นต้นมาพวกเขาเป็นลีกที่แฟนบอลเข้าชมการแข่งขันเฉลี่ยต่อเกมมากที่สุดในโลก
แม้ว่าไม่กี่เดือนก่อนนี้จะมีการเสนอให้ยกเลิกกฎนี้ ซึ่งฝ่ายที่ต้องการยกเลิกกฎนี้เพราะต้องการให้การลงทุนเข้ามาในลีกมากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าของลีกให้มากขึ้น แต่ก็ถูกสโมสรส่วนใหญ่ลงมติคัดค้านตกไป นอกจากนั้นยังมีหลายคนที่มองว่าการออกแบบกฎในกีฬาแบบนี้นั้นแสดงให้พื้นฐานความคิดของเยอรมัน ในการพัฒนาด้านอื่นๆ ของประเทศที่มักจะไม่ใช้แนวคิดเสรีนิยมสุดโต่ง