นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ ติดตามความก้าวหน้าผลการศึกษาทบทวนแผนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมลงเรือตรวจเยี่ยมพื้นที่โครงการเพื่อดูตำแหน่งที่จะมีการพัฒนาบริเวณบึงบอระเพ็ด อาทิ จุด Deep Pool จุดท่องเที่ยว พื้นที่นาบง รวมถึงฝายน้ำล้นบึงบอระเพ็ด เป็นจุดสำคัญในการระบายน้ำออกจากบึงบอระเพ็ด ว่า ขณะนี้ผลการศึกษาทบทวนแผนฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดภายใต้แนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสม และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวรจัดทำโครงการศึกษาทบทวนแผนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงบางประเด็นที่ยังต้องเร่งหาข้อสรุป เช่น การบริหารจัดการน้ำตามระดับเก็บกักที่เหมาะสมเพื่อให้บึงทำหน้าที่หน่วงน้ำในช่วงฤดูฝนได้เต็มศักยภาพ รวมถึงหลังสิ้นสุดฤดูฝนควรมีปริมาณน้ำเก็บกักคงเหลือเท่าไหร่ และแต่ละระดับเก็บกักควรเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานใดรับผิดชอบ ซึ่ง สทนช.จะสรุปเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช.ให้ความเห็นชอบก่อนบรรจุในแผนแม่บทน้ำชาติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาบึงบอระเพ็ดให้กลับมาเป็นบึงเอนกประสงค์ที่สามารถเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว
สำหรับผลการศึกษา ฯ ในเบื้องต้น พบว่า การดำเนินการตามแผนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดแบ่งเป็น 7 ด้านสำคัญ จะช่วยให้บึงบอระเพ็ดกลับมาสร้างประโยชน์ได้ทุกมิติอีกครั้ง ได้แก่ 1. ด้านการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำและแก้มลิงจะทำให้เก็บน้ำได้ 24.47 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีพื้นที่ได้รับผลประโยชน์ 28,000 ไร่ ประตูระบายน้ำ 3 แห่งสามารถระบายน้ำได้ 260 ลบ.ม./ วินาที สัตว์น้ำสามารถเข้า-ออกบึงได้ตามธรรมชาติ พื้นที่ได้รับผลประโยชน์ 9,000 ไร่
2.ด้านการแก้ปัญหาน้ำแล้ง ด้วยการขุดลอกตะกอนดินจะช่วยเพิ่มความจุเก็บกักน้ำในบึง 18 ล้านลบ.ม. ขุดคลองดักตะกอนตามแนวขอบบึงความยาว 57 กิโลเมตร ช่วยดักตะกอนไม่ให้ไหลลงสู่บึง พื้นที่รับประโยชน์จำนวน 29,200 ไร่ ทำปฏิทินเพาะปลูกพืชที่เหมาะสมกับระดับน้ำในบึงบอระเพ็ด ลดความเสียหายของเกษตรกรจากอุทกภัยและภัยแล้ง
3.ด้านการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ด้วยการลดปริมาณผักตบชวาและลดตะกอนดินที่เกิดจากวัชพืชเน่าในบึง ลดผลกระทบด้านนิเวศน้ำจากการขุดลอก ลดน้ำเสียที่เกิดจากชุมชนในพื้นที่บึงบอระเพ็ด จัดการขยะจากชุมชนในพื้นที่ให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน สร้างเครือข่ายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์คุณภาพจากท้องถิ่นออกสู่ตลาด และลดการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร
4.ด้านการจัดหาน้ำสะอาดเพื่ออุปโภค-บริโภค
5.ด้านการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและการพังทลายของดินโดยให้ประชาชนมีความเข้าใจในการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม
6.ด้านการบริหารจัดการบึงบอระเพ็ด ควรจะจัดตั้งองค์กรรัฐในรูปแบบพิเศษที่มีความเหมาะสมและมีอำนาจในการบริหารจัดการพื้นที่บึงบอระเพ็ดได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคู่มือการดำเนินงานสำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐและสำหรับประชาชนเพื่อการดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีความชัดเจนในการถือครองที่ดิน ดินตะกอนจากการขุดลอกบึงได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์บึงบอระเพ็ด กำหนดพื้นที่และประเภทของการใช้ประโยชน์ของบึงบอระเพ็ด
และสุดท้ายคือการพัฒนาศักยภาพบึงบอระเพ็ดเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้หน่วยงานภาครัฐ นักท่องเที่ยวและชุมชนได้มีแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติและวิถีชุมชนเพื่อร่วมกันอนุรักษ์บึงบอระเพ็ดอย่างยั่งยืน การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการข้อมูลข่าวสารอย่างมีคุณภาพ ภาครัฐ เอกชน และชุมชนมีส่วนร่วมในการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตการเกษตรและร่วมกันบริหารจัดการเพื่อยกระดับรายได้ให้ประชาชนในท้ายที่สุด
นายสมเกียรติ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับโครงการเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการได้เลย คือ ด้านการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโซนลุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด โดยการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำปากคลองบอระเพ็ด บริเวณตำบลเกรียงไกร และโครงการประตูระบายน้ำคลองบางปอง กับการปรับปรุงขุดลอกคลองบางปอง ที่ตำบลปากน้ำโพ ทั้ง 3 โครงการจะช่วยจัดการน้ำที่ไหลบ่าจากด้านบนให้ไหลลงแม่น้ำน่านได้เร็วขึ้น บรรเทาน้ำท่วมให้ประชาชนใน ต.พระนอน ต.หนองปลิง ต.เกรียงไกร ต.แควใหญ่ ต.ทับกฤช ต.พนมเศษ และ ต.วังมหากร ร่วมกว่า 6,200 ครัวเรือน คิดเป็นประชากรราว 15,000 คน อีกทั้งยังจะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ด้านการประมง และแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรด้วย