วันที่ 15 ธันวาคม ผู้กำกับไทย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์ระดับสูงสุด ในสาขาศิลปะและวรรณกรรม หรือ Commandeur des Arts et Lettres จากประเทศฝรั่งเศส ณ สมาคมฝรั่งเศส ถนนวิทยุ หลังจากที่ได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์ชั้นก่อนหน้า คือ เหรียญชั้นอัศวิน Chevalier เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2551 และเป็นคนไทยคนที่ 4 ที่ได้เหรียญชั้น Officier เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ก่อนจะรับเหรียญชั้น Commandeur เป็นคนที่ 2 ของไทย ต่อจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในรัชกาลที่ 9 นับจากปี 2522
โดย ‘จิลส์ การาชง’ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย กล่าวในพิธีมอบเหรียญฯ ให้อภิชาติพงศ์ว่า ผู้กำกับสายเลือดไทยผู้นี้มีผลงานโดดเด่นทั้งด้านภาพยนตร์ที่ไปคว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ได้ในปี 2553 และยังมีผลงานศิลปะจำนวนไม่น้อยที่สะท้อนถึงเสรีภาพในการสร้างสรรค์ เสรีภาพในงานศิลป์ รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ต่างกับหลักการที่ประเทศฝรั่งเศสยึดถือ
วอยซ์ทีวี จึงเปิดบทสนทนากับอภิชาติพงศ์ ที่งานรับเหรียญอิสริยาภรณ์ฯ ซึ่งจัดก่อนเริ่มงานสุดสัปดาห์กับภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ เพื่อสำรวจมุมมองเกี่ยวกับเสรีภาพและสังคมไทยในปัจจุบัน
ทุกคนในทุกสาขาอาชีพ ถ้าจริงใจกับตัวเองและไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองพูดได้ในสิ่งที่ตัวเองสามารถพูดได้ ก็ควรจะทำครับ
ดีใจมากที่คนมาเยอะ ที่เพื่อนมาให้กำลังใจ และแน่นอนว่าที่เขาให้เกียรติเรา เราเพิ่งรู้ว่าเป็นเหรียญที่สูงสุดแล้วของทางด้านศิลปะ พี่ว่ามันเป็นสัญลักษณ์ที่เขามองว่าประเทศไทยอาจต้องการการแสดงออกทางภาพเคลื่อนไหว หรือแนวความคิดด้านสังคมที่เราพยายามพูดหรือทำหนังที่สะท้อนถึงสิ่งเหล่านี้ เขาสนับสนุนในด้านนั้น คือประเทศมันต่างกัน ประเทศนั้นเขาจะมีความเคารพด้านเสรีภาพในการแสดงออกและอิสรภาพ สุดท้ายแล้วมันคือสัญลักษณ์
จริง ๆ พี่ไม่ใช่เป็นนักกิจกรรมนะ เพราะฉะนั้นหนังที่เราทำก็เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ว่าหลายอย่างเราก็พยายามนำเสนอในสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ แต่บางอย่างเราก็พูดไม่ได้ เราก็เตือนตัวเองเสมอว่าเราไม่ใช่นักกิจกรรม ไม่ใช่ Activist เป็นคนทำหนังแค่นั้น แต่ว่าเราคิดว่าทุกคนในทุกสาขาอาชีพ ถ้าจริงใจกับตัวเองและไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองพูดได้ในสิ่งที่ตัวเองสามารถพูดได้ ก็ควรจะทำครับ
แน่นอนว่าหลาย ๆ อย่างเราทำไม่ได้ไง เราต้องรู้ลิมิตตัวเอง แต่ว่าเราเชื่อในผลระยะยาวครับว่าสิ่งเหล่านี้จะคงอยู่ แล้วมันเป็นเสียงหลาย ๆ เสียงที่เป็นเหมือนคลื่นพลังในความหวังที่จะทำให้ประเทศเปลี่ยน
อภิชาติพงศ์ ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องล่าสุด 'รักที่ขอนแก่น'. ภาพโดย Chai Siris/ Kick the Machine Films
เราไม่จำเป็นต้องมาตบตีกัน มันเป็นการแลกเปลี่ยนกันในด้านปัญญา แล้วพอเราเข้าใจ เรายอมรับอีกคน ก็จะทำให้สังคมมีคำว่า ‘Empathy’ คือการเห็นอกเห็นใจมนุษย์คนอื่น
พี่พูดถึงออร่าของเสียงซึ่งบางทีเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่จริง ๆ ก็เป็นออร่าของจิตใจ ออร่าของอะไรหลายอย่างที่เป็นเหมือนความสั่นสะเทือนที่อยู่ในใจเราที่สามารถสะท้อนถึงคนอื่นได้ โดยที่ไม่ต้องสื่อสารกันจริง ๆ แล้วเรารู้สึกว่าในบ้านเรา การสั่นสะเทือนแห่งความตื่นรู้มันสำคัญ ซึ่งพี่ว่ามันกำลังเกิดขึ้น แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นเยอะเท่าที่จะเปลี่ยนสังคมได้ในตอนนี้
แต่ว่าถ้าเรารู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างจริงจัง อาจไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่เราถูกสอนมาเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วในกรณีพี่เนี่ย ประวัติศาสตร์มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา อะไรที่เราถูกเปลี่ยนความคิด ในเรื่องของการโฆษณาชวนเชื่อ หรือการที่เขามอมเมาข้อมูลบางอย่าง มันสำคัญ คือมันเกิดขึ้นทุกประเทศแหละ แต่ประเทศเราในยุคนี้แล้ว มันมีการเข้าถึงข้อมูลเยอะมาก เพราะฉะนั้นการตื่นรู้ของแรงสั่นสะเทือนของข้อมูล พี่เรียกว่า “ความสูญเสีย”
การที่เรารู้ตัวว่าเราเป็นมนุษย์ในสังคมที่ยอมตกเป็นทาส หรือในสังคมที่เชื่อฟัง ว่านอนสอนง่าย แค่รู้แค่นี้ก็ดีแล้ว คือบางคนไม่รู้ บางคนคิดว่าเราเป็นคนดำเนินชีวิต แต่จริง ๆ เราไม่ได้เป็นคนกำหนดชีวิตตัวเองเหมือนในหลาย ๆ สังคมที่เป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น การตื่นรู้มันต้องรณรงค์อีกเยอะ มันอาจไม่ได้พูดกัน แต่มันจะรู้กันเองโดยไม่ต้องสื่อสาร แล้วเราคิดว่าถึงจุดนั้นแล้ว มันจะทำให้เปลี่ยนได้ในเรื่องของออร่าทั้งหมดที่เรารับรู้ร่วมกัน ขับเคลื่อนประเทศได้ในแพทเทิร์นที่ไม่เหมือนเดิม แพทเทิร์นที่ไม่จำเป็นต้องซ้ำกับอดีต ไม่ต้องเป็นลูปอีกต่อไป ผมเชื่อในผลระยะยาว มันอาจไม่ใช่ในรุ่นผมก็ได้ แต่มันอาจจะเป็นอีกรุ่น สองรุ่นข้างหน้าครับ
มันก็เกิดมาระยะนึงแล้วในเรื่องของการยอมรับความแตกต่าง แล้วก็การที่เราให้การจำกัดความของคำที่หลากหลาย เช่น บางคนบอกว่าความสงบและความเรียบร้อยในบ้านเมืองคืออันนี้ แต่เราบอกว่าไม่ใช่ ความสงบเรียบร้อยไม่ใช่อย่างนี้ มันคืออีกแบบนึง
สำหรับพี่แล้ว มันคือที่ที่คนสามารถพูดในสิ่งที่ต้องการได้ การที่ออกไปประท้วงบนถนนกันไม่ใช่เรื่องผิด มันคือการแสดงความเข้มแข็งของประชาชน การที่เราสามารถใช้อำนาจการต่อรอง แต่เราต้องอยู่ในกรอบของสากลที่ไม่ได้มุ่งเข้าสู่ความรุนแรง แต่เราไม่มีจุดนี้ เราไม่ได้เรียนรู้ในการไม่ใช้ความรุนแรง เพราะฉะนั้นมันเลยรุนแรงบ่อย ๆ และถูกแทรกแซงได้จากมือที่สาม
เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างวัฒนธรรมนี้ใหม่ โดยที่เรียนรู้ใหม่ว่า เราจะส่งเสียงของเราอย่างไร ... มันเหมือนเด็กโต้เวทีกันในมัธยมฯ หรือมหาลัยฯ น่ะ คือเรารับฟังคนอื่นได้ เราไม่จำเป็นต้องมาตบตีกัน มันเป็นการแลกเปลี่ยนกันในด้านปัญญา แล้วพอเราเข้าใจ เรายอมรับอีกคน ก็จะทำให้สังคมมีคำว่า ‘Empathy’ คือการเห็นอกเห็นใจมนุษย์คนอื่นว่าเขาไม่ใช่คนนอก เขาอาจเหมือนพี่น้องพ่อแม่เรา แค่คิดต่างกัน แต่ทำอย่างไรให้คุยกันได้ ให้ยอมรับได้
เสร็จแล้วครับ จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ 10 Years ด้วยครับ มันเกี่ยวกับปัจจุบัน เพราะพี่เชื่อว่าปัจจุบันมันสะท้อนถึงอนาคต คือปัจจุบันตอนนี้ที่มองเหมือนภาพ Portrait ของขอนแก่น แล้วก็เป็นจุดหนึ่งคือเป็นอนุสาวรีย์ที่เราคิดว่ามันสำคัญในความทรงจำของประวัติศาสตร์ ที่คนไม่คิดว่ามีอนุสาวรีย์นี้แล้วเขาคือใคร เราก็ไม่ได้บอกนะ แต่กระตุ้นให้เขาค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้นในยุค 50 - 60 ปีที่แล้ว แล้วทำไมต้องมีอนุสาวรีย์นี้ในจังหวัดขอนแก่นครับ
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง 'รักที่ขอนแก่น' ถ่ายโดย Chai Siris/ Kick the Machine Films
เพิ่งเริ่มเลย จริง ๆ เวลาก็กระชั้นชิดแล้ว ทางนู้นก็เต็มที่ในการพยายามสร้างไอเดียของเราให้เกิดขึ้น ก็คือไอเดียของการที่เราสามารถนอนหลับได้ในภาพยนตร์ ไม่จำเป็นว่าเราดูหนังเบื่อแล้วหลับ แล้วถือว่าเป็นหนังไม่ดี แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของพลังงาน ของแสงที่แต่ละคนจะรับเข้ามา ที่จะชอบไม่ชอบ ผมคิดว่ามันมีอะไรมากกว่าเนื้อเรื่อง เพราะฉะนั้นการที่เราสามารถที่จะสบายจนถึงขนาดที่จะหลับได้เนี่ย มันต้องมีอะไรสักอย่าง มากกว่าความน่าเบื่อของภาพยนตร์
เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังโคฯ กับเนเธอร์แลนด์นั้นคือ การที่จะร่วมมือกับหอภาพยนตร์ของเนเธอแลนด์หลาย ๆ แห่งที่จะรวมภาพเคลื่อนไหวในอดีตทั้งขาวดำ ทั้งสี เกี่ยวกับเรื่องของทะเล เรื่องของการนอนหลับเข้ามา เราสร้างเป็นโรงแรมเลย คนสามารถเช็กอินเข้ามาได้ แล้วก็นอนกับภาพยนตร์ครับ มีเป็นห้องโถงยักษ์ ราคายังไม่ได้คุยกัน อาจมีแค่ 10 กว่าที่ เพราะเป็นโรงแรมพิเศษ
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติร็อตเตอร์ดัม จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 24 มกราคม ถึง 4 กุมภาพันธ์ ที่ประเทศเนเธอแลนด์ ซึ่งงาน SLEEPCINEMAHOTEL ของอภิชาติพงศ์ จะจัดที่อาคาร World Trade Center Rotterdam ในวันที่ 25 - 30 มกราคม 2561