ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลลงพื้นที่อำนาจเจริญ-อุบลฯ 23 – 24 ก.ค.นี้ ขับเคลื่อนไทยนิยมยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิต 3 จังหวัดรายได้ต่ำสุดของประเทศ ตั้งเป้าส่งเสริมการพัฒนาโครงการเกษตรอินทรีย์สร้างรายได้ให้ประชาชน

พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 23 – 24 กรกฎาคมนี้ นายกรัฐมนตรีจะนำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม. สัญจร) ที่จังหวัดอำนาจเจริญและ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มจังหวัดราชธานีเจริญศรีโสธร (อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ-ศรีสะเกษ-ยโสธร)

โดยการตรวจราชการนั้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาแพทย์แผนไทยที่มีมาตรฐานบูรณาการกับการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้เพื่อสร้างสมดุลธรรมชาติ และการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ มุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนากลุ่มจังหวัด คือ 'อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและเกษตรอินทรีย์เพิ่มมูลค่า การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การค้าชายแดนได้มาตรฐานสากล'

สำหรับสภาพปัญหาของพื้นที่ที่รัฐบาลเล็งเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญและต้องเร่งแก้ไข คือ รายได้ของประชาชนอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะ จังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ นั้นติด 1 ใน 10 จังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวต่ำที่สุดของประเทศ มีความก้าวหน้าด้านการศึกษาน้อย เกิดภาวะน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก และมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ครม. จะได้พิจารณาข้อเสนอแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มจังหวัด ได้แก่

  1. การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทั้งทางถนน ทางอากาศ และทางราง เช่น ขยายช่องจราจร ขยายสนามบิน ศึกษาโครงการรถไฟทางคู่
  2. การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและแก้ปัญหาน้ำท่วม เช่น จัดทำแก้มลิง อาคารบังคับน้ำ ระบบส่งน้ำ
  3. การยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เช่น ก่อสร้างโรงงานต้นแบบเพื่อแปรรูปสินค้าเกษตร ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ และอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร
  4. การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เช่น พัฒนาศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลศูนย์ สนับสนุนศูนย์การแพทย์แผนไทย
  5. การส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น พัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี วิมานพญาแถน จ.ยโสธร และอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน จ.อำนาจเจริญ เป็นต้น
ข้าวจิ๊บเกษตรอินทรีย์ อนาคตข้าวไทยในตลาดอาเซียน

รัฐบาล วางแผนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ 5 ปี จัดตั้งสถาบันฯนำร่องพื้นที่ 'ยโสธร'

ด้าน พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีกลาโหม เป็นประธานว่า ความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะอนุกรรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคการเกษตรมีเรื่องการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของชาติ พ.ศ. 2560 - 2564 โดยในแผนงานกำหนดการขับเคลื่อนไว้ 4 ยุทธศาสตร์ คือ

  1. การส่งเสริมความรู้ และนวัตกรรม
  2. การผลิตสินค้าและบริการที่จะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
  3. การตลาดและการบริการ
  4. การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ตามนโยบายของโครงการส่งเสริมและสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว รวมถึงจัดตั้งสถาบันการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ และจัดทำพิกัดศุลกากรสำหรับเกษตรอินทรีย์ 5 ชนิด ได้แก่ ชา มะพร้าว กะทิ มังคุดและทุเรียน

ส่วนกลไกขับเคลื่อนทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่จะใช้หลักการตลาดนำการผลิต อีกทั้งกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 7 ประเภท คือ ใกล้โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม ใกล้พื้นที่ที่เป็นการปฏิบัติงานของคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ พื้นที่ สปก. พื้นที่เอกชนกลุ่มเกษตรกร และพื้นที่ที่เกษตรกรมีความพร้อมที่จะเป็นพื้นที่หลักในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โดยจะใช้กลไกขับเคลื่อนระหว่างกลุ่มจังหวัดร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงมหาดไทยอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน อย่างไรก็ตามขณะนี้มีการนำร่องทำเกษตรอินทรีย์แล้วที่จังหวัดยโสธร