ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2561 เรื่อง 'มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์' มีผลให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (23 พ.ค.)
โดยในคำสั่งดังกล่าว มีเนื้อหาสรุปโดยสังเขป ระบุว่า ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งหนังสือไปยังสํานักงาน กสทช. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ เพื่อขอ "พักชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ" ตามคําสั่ง คสช. 76/2559 หรือประกาศ และ สำนักงาน กสทช. จะพิจารณาการพักชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ โดยกําหนดระยะเวลาการพักชําระค่าธรรมเนียม ไม่เกิน 3 ปี พร้อมกับมีเงื่อนไขว่า ผู้รับใบอนุญาตยังคงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นตามคําสั่งที่ 76/2559 หรือประกาศ
พร้อมกันนี้ จัดให้มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) ให้กับผู้รับใบอนุญาตฯ เป็นจํานวนเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าเช่าใช้โครงข่ายฯ เป็นระยะเวลา 24 เดือน นับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ
อย่างไรก็ตาม ตามคำสั่งดังกล่าวยังระบุว่า ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดทําผังรายการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาต มีการผลิตรายการหรือการดําเนินรายการที่ดี ให้ข้อมูลที่มีความถูกต้องชัดเจน มีสาระและเป็นประโยชน์ต่อสังคม เนื้อหารายการมีความหลากหลาย ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตลอดจนเปิดโอกาสให้คนพิการหรือคนด้อยโอกาสมีโอกาสเข้าถึงหรือใช้ประโยชน์จากรายการที่ออกอากาศได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป โดยให้ปฏิบัติตามกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ อย่างเคร่งครัด
หาก สํานักงาน กสทช. ตรวจสอบพบว่าผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามที่กําหนด ให้สํานักงาน กสทช. พิจารณายกเลิกการพักชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและให้ผู้รับใบอนุญาตชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในงวดที่เหลือให้ครบถ้วนต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยอนุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์อาจมีเงินรายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่จําเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการ ตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. ประกาศกําหนด
โดยมีเหตุผลประกอบในคำสั่ง ระบุว่า "สมควรให้กรมประชาสัมพันธ์ในฐานะองค์กรสื่อของรัฐสามารถมีรายได้จากการโฆษณาได้ตามความจําเป็น และเพียงพอต่อการพัฒนาภารกิจด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพให้ทันต่อความต้องการของรัฐและสังคม ตลอดจนทันต่อเทคโนโลยี โดยต้องไม่เป็นการประกอบธุรกิจที่มุ่งแสวงหากําไร"
อย่างไรก็ตาม ในคำสั่งดังกล่าว ไม่มีการระบุถึง การอนุญาตให้คืนใบอนุญาตฯ
'วิษณุ' ชี้มาตรการที่ออกมาเป็นไปตามหารือกับผู้ประกอบการ
ก่อนหน้านี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ภายในวันนี้ คสช.จะออกคำสั่งตามมาตรา44 ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยเนื้อหาเป็นไปตามที่เคยหารือกันก่อนหน้านี้ ซึ่งหากการประกาศไม่ทันในเวลาราชการที่ครบกำหนดจ่ายค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลงวดที่ 5 ผู้ประกอบการสามารถยืดระยะเวลาในการจ่ายตามที่ กสทช.กำหนด ได้อยู่แล้ว โดยไม่ถูกปรับ และเชื่อว่า คำสั่ง มาตรา 44 อาจจะออกก่อนผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ได้หารือร่วมกับนายวิษณุ เพื่อนำข้อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม คสช. และครม. พิจารณา โดยเสนอให้
ช่อง 7 จ่ายงวดที่ 5 มูลค่า 372 ล้านบาทแล้ว ส่วน TNN-True4U แจ้งใช้สิทธิ์ขยายเวลา
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า ขณะนี้มี ช่อง 7 หรือ ช่อง 35HD ได้นำเงินค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 มาชำระแล้วเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา จำนวน 372 ล้านบาท โดยไม่ใช้สิทธิ์ตามมาตรการช่วยเหลือ
ขณะนี้ ช่อง 16 ทีเอ็นเอ็น (TNN) และช่อง 24 ทรูฟอร์ยู ในเครือบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือแจ้งมายัง กสทช. เพื่อขอใช้สิทธิ์ขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล งวดที่ 5 ตามประกาศมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 57/2559 ซึ่งให้สิทธิ์ขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลจาก 3 งวด เป็น 6 งวด แม้ว่าเมื่อปีที่ผ่านมา ช่อง 16 และ 24 ไม่ได้ใช้สิทธิ์ขยายระยะเวลาชำระค่าประมูลก็ตาม
สำหรับผู้ประกอบการทีวิดิจิทัลรายอื่นๆ หากไม่มาชำระค่าประมูลภายใน 5 วัน (นับจากวันครบกำหนด 23 พ.ค.) กสทช.จะทำหนังสือแจ้งให้มาชำระครั้งที่ 1 จะให้เวลา 30 วัน หากยังไม่ชำระอีก ก็จะแจ้งเตือนครั้งที่ 2 และให้เวลาอีก 30 วัน ถ้ายังไม่มาชำระอีก ก็ทำหนังสือแจ้งเตือนครั้งที่ 3 และให้เวลาอีก 30 วัน รวมทั้งสิ้น 90 วัน และหลังจากนั้นจะนำเรื่อง เสนอบอร์ด กสทช. เพื่อออกคำสั่งทางปกครอง พักใช้ใบอนุญาตเป็นการชั่วคราว ซึ่งจะใช้เวลาอีก 30 วัน
ดังนั้น หากผู้ประกอบการไม่ยอมมาจ่ายค่าประมูลภายใน 120 วัน กสทช.จะสั่งให้ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) ระงับการส่งสัญญาณทันที
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายนำเงินค่าประมูลมาชำระ กสทช. ครบ จะได้เงินสำหรับงวดนี้รวม 4,808 ล้านบาท จาก 22 ช่อง โดยมี 5 ช่องที่ชำระเต็ม ไม่เข้าการผ่อนผันตามประกาศ คสช.เมื่อปี 2559 ได้แก่ ช่อง 35 (ช่อง 7), ช่อง 19 สปริงนิวส์, ช่อง 16 ทีเอ็นเอ็น, ช่อง 24 ทรูฟอร์ยู และช่อง 23 เวิร์คพอยท์
สำหรับค่าใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล งวดที่ 5 ที่ ผู้ประกอบการต้องชำระกับ กสทช. ในวันที่ 23 พ.ค. มีรายการ ดังนี้
ช่อง 13 หรือ ช่อง 3 แฟมิลี่ จำนวน 59 ล้านบาท
ช่อง 15 อสมท จำนวน 59 ล้านบาท
ช่อง 16 ไบรท์ ทีวี จำนวน 118 ล้านบาท
ช่อง 19 สปริงนิวส์ จำนวน 219 ล้านบาท
ช่อง 21 วอยซ์ ทีวี จำนวน 122 ล้านบาท
ช่อง 22 เนชั่น จำนวน 122 ล้านบาท
ช่อง 23 เวิร์คพอยท์ จำนวน 395 ล้านบาท
ช่อง 24 ทรูฟอร์ยู จำนวน 387 ล้าทบาท
ช่อง 25 จีเอ็มเอ็ม จำนวน 210 ล้านบาท
ช่อง 26 NOW จำนวน 201 ล้านบาท
ช่อง 27 อาร์เอส (ช่อง 8) จำนวน 207 ล้านบาท
ช่อง 28 หรือ 3SD จำนวน 208 ล้านบาท
ช่อง 29 โมโน จำนวน 206 ล้านบาท
ช่อง 30 อสมท จำนวน 258 ล้านบาท
ช่อง 31 วัน จำนวน 256 ล้านบาท
ช่อง 32 ไทยรัฐทีวี จำนวน 260 ล้านบาท
ช่อง 33 หรือ ช่อง 3HD จำนวน 277 ล้านบาท
ช่อง 34 อัมรินทร์ทีวี จำนวน 256 ล้านบาท
ช่อง 35 (ช่อง 7) จำนวน 372 ล้านบาท
ช่อง 36 พีพีทีวี จำนวน 270 ล้านบาท
ข่าวเกี่ยวข้อง :