เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงข้อมูลผลประกอบการของ ทอท.ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา พบว่า ทอท. มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงถึง 1 ล้านล้านบาท แซงหน้าบริษัทท่าอากาศยานในนครเซี่ยงไฮ้ของจีน (Shanghai International Airport Co.) และบริษัทท่าอากาศยานของสเปน (AENA Airport )
ปัจจัยที่ทำให้ราคาหุ้นและผลกำไรของ ทอท.เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการขยายตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งหลั่งไหลเข้ามาในไทย ช่วยให้จำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศและภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้ ทอท.มีผลกำไรเพิ่มขึ้นกว่า 75 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก แต่นักวิเคราะห์ประเมินว่าสถิติดังกล่าวอาจปรับลดลงในช่วง 12 เดือนต่อจากนี้
ก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม บลูมเบิร์กรายงานว่าไทยมีแผนจะใช้งบประมาณราว 165,000 ล้านบาทในการพัฒนาโครงสร้างและระบบพื้นฐานต่างๆ ของท่าอากาศยาน เพื่อรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 68 ล้านคนภายในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ในระหว่างที่โครงการยังไม่แล้วเสร็จ จะส่งผลให้สนามบินที่อยู่ในความดูแลของ ทอท.ทั่วประเทศประสบปัญหาแออัด และดำเนินขั้นตอนต่างๆ ล่าช้า โดยยกตัวอย่างกรณีสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิซึ่งมีผู้ใช้บริการสูงกว่าสถิติมาตรฐานที่ระบบรองรับได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์
ส่วนข้อท้าทายอีกประการหนึ่งคือปัญหาการจราจรแออัดและระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เพียงพอต่อปริมาณผู้เดินทางจากสนามบินไปยังแหล่งท่องเที่ยวหรือแหล่งที่พักอาศัยในจุดต่างๆ ซึ่งอยู่ในเขตเมือง กระทบต่อการจัดสรรเวลาที่ใช้ในการเดินทางของกรุ๊ปทัวร์ต่างๆ และอาจจะมีผลต่อการจัดการนักท่องเที่ยวเช่นกัน
บลูมเบิิร์กระบุด้วยว่าช่วงปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามายังไทยเพิ่มขึ้นถึง 28 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเช่นกัน เพราะพบปัญหานักท่องเที่ยวไม่ใช้จ่ายเงินหรืออุดหนุนกิจการท้องถิ่นในประเทศ หรือที่เรียกกันว่า "ทัวร์ศูนย์เหรียญ" จนรัฐบาลต้องออกมาตรการปราบปรามกลุ่มทัวร์ซึ่งมีพฤติกรรมดังกล่าว มีการสั่งปิดบริษัทที่เกี่ยวพันกับทัวร์ศูนย์เหรียญ 29 บริษัท แต่ธุรกิจคล้ายกันนี้ก็จะเริ่มกลับมาประกอบการใหม่ในเวลาไม่นาน เพราะไทยยังต้องพึ่งรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวและเงินหมุนเวียนต่างชาติ ซึ่งคิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านของไทยก็ประกาศว่าจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติแข่งกับไทย เช่น นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ระบุว่าจะเดินตามรอยความสำเร็จของการท่องเที่ยวบาหลีซึ่งเป็นปลายทางยอดนิยมของชาวต่างชาติ ส่วนมาเลเซียประกาศว่าจะสร้างเส้นทางรถไฟ เชื่อมต่อกรุงกัวลาลัมเปอร์กับชายฝั่งทะเลทางตะวันออก ซึ่งจะเป็นการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณในการพัฒนาเส้นทางดังกล่าวประมาณพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อ่านเพิ่มเติม:
วิทยุการบินคาดปี 61 ปริมาณการบินแตะ 1 ล้านเที่ยว