ไม่พบผลการค้นหา
ช่วงที่ผ่านมาโลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ 'การบริจาคนมแม่' กันอย่างกว้างขวาง ขณะที่วงการแพทย์ได้ออกมาเตือนไม่สนับสนุนให้มีการแจกจ่ายน้ำนมแม่กันเอง โดยที่ไม่มีการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อก่อน เพราะอาจเสี่ยงต่อสุขภาพทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้

เพราะ "นมแม่" เป็นอาหารชั้นเลิศของทารก เนื่องจากมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต พัฒนาสมอง จอประสาทตา ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการให้นมแม่กับลูกควรทำให้ได้อย่างน้อย 6 เดือน

แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คุณแม่ส่วนใหญ่ลาคลอดได้เพียง 3 เดือน หลังจากกลับไปทำงานแล้วอาจไม่มีเวลาให้นมลูกด้วยตัวเอง และไม่มีเวลาปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกรับประทาน คุณแม่บางคนประสบปัญหาน้ำนมไม่เพียงพอ คุณแม่ที่มีน้ำนมเยอะก็อยากจะแบ่งปัน จึงทำให้มีการบริจาคน้ำนมกันเกิดขึ้น

ทั้งๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นเจตนาที่ดี แต่ในทางการแพทย์กลับออกมาเตือนว่าหากเป็นน้ำนมแม่ที่มาจากการบริจาค แจกจ่ายกันเองโดยที่ไม่มีการตรวจและฆ่าเชื้อโรค อาจมีความเสี่ยงต่อทารกได้

แพทย์เตือน แจกจ่ายน้ำนมกันเองเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำและไม่ถูกต้อง

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าการบริจาคน้ำนมแม่ให้กับแม่ที่ไม่มีน้ำนมที่เพียงพอที่จะเลี้ยงลูกนั้นว่า แม้จะเป็นไปด้วยความตั้งใจดี แต่การแจกจ่ายกันเองเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำและไม่ถูกต้อง ซึ่งโดยปกติก็ไม่ได้ มีการสนับสนุนให้กระทำตามที่เป็นข่าว

ด้านแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลว่า นมแม่จากการบริจาคมีความจำเป็นสำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนดหรือทารกน้ำหนักตัวน้อยผิดปกติ หรือเด็กป่วยโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องได้รับการผ่าตัดเกี่ยวกับลำไส้ โดยต้องเป็นนมแม่บริจาคที่ได้ผ่านกรรมวิธีตรวจและฆ่าเชื้อโรคแล้วอย่างมีมาตรฐานต้องมีระบบธนาคารน้ำนม (milk bank) ที่เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์และมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกับระบบทางการแพทย์อื่นๆ

สำหรับคุณแม่ที่จะบริจาคนมจำเป็นต้องได้รับการซักประวัติและการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่าไม่มีการติดเชื้อ ไม่ใช้ยา หรือ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพน้ำนมที่บริจาค และนมที่ได้รับบริจาคจะต้องถูกตรวจสอบจากธนาคารน้ำนม มีการตรวจคัดกรองเชื้อโรคต่างๆ


"ไม่สนับสนุนการบริจาคนมให้กันเองโดยไม่มีการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อ เพราะอาจมีผลต่อสุขภาพของเด็ก ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เด็กควรได้รับนมจากแม่ตนเองดีที่สุดเนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่มีประโยชน์สูงสุด ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว


บริจาคนมแม่ หากทารกผู้รับเกิดเจ็บป่วย ผู้ให้มีความผิดทางกม.

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีธนาคารนมแม่จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารนมแม่ศิริราช และธนาคารนมแม่รามาธิบดี ดำเนินการภายใต้ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งได้นำมาตรฐานของคลินิกนมแม่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย มาจัดทำหลักเกณฑ์และปรับให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย สำหรับคุณแม่ที่จะบริจาคน้ำนมจำเป็นต้องได้รับการซักประวัติ และการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่า ไม่เจ็บป่วยหรือติดเชื้อ เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพน้ำนมที่บริจาค เมื่อพบว่าผลการตรวจวิเคราะห์ผ่านมาตรฐานแล้วจึงจะจ่ายให้เด็กทารก ในโรงพยาบาลต่อไป

ทั้งนี้ การบริจาคน้ำนมแม่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายจึงไม่ต้องขออนุญาตกับ อย. แต่อย่างไรก็ตาม อย. มีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับอาหารที่ปลอดภัยหากพบมีเด็กได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการดื่มนมแม่ที่บริจาคจะถือว่าผู้บริจาคมีความผิดทางกฎหมายกรณีผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นมแม่ต้องตรวจทุกครั้งที่บริจาค

ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า น้ำนมแม่ถือเป็นชีววัตถุ เช่นเดียวกับเลือด น้ำเหลือง ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคอวัยวะ ในทางการแพทย์ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะในมนุษย์จะมีเชื้อโรคหรือโรคซ่อนเร้นที่ทราบและไม่ทราบอีกเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นอย่าคิดว่าเรา มีสุขภาพแข็งแรงแล้วจะไม่มีสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ความถูกต้องของนมแม่จะต้องเป็น แม่ใครแม่มัน ไม่มีการให้กันเองโดยเด็ดขาด 

ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง ยังระบุด้วยว่า ชีววัตถุ เช่น เลือด น้ำนมแม่ อวัยวะต่างๆ สามารถแพร่โรคจากคนหนึ่งไปคนหนึ่งได้ เลือด หรือ ชีววัตถุที่บริจาค ต้องตรวจทุกครั้งที่บริจาค ถึงแม้ว่าบริจาคครั้งที่แล้วตรวจแล้วปกติ การตรวจเลือดจะรวมไปถึงตัวเลือดที่บริจาคด้วย ต้นทุนในการตรวจมากมาย HIV HCV HBV etc ตรวจถึง (NAT) DNA RNA ที่มีอยู่น้อยนิด โดยการตรวจสุขภาพจะไม่ตรวจกัน เพื่อลดความเสี่ยงของผู้รับให้น้อยที่สุด 

การตรวจครั้งที่ผ่านมาว่าปกติ ไม่ได้บอกว่าวันนี้จะปกติ และยังมีโรคอีกจำนวนมาก ที่ไม่ได้ตรวจ หรือไม่สามารถตรวจได้ด้วยเทคนิคปัจจุบัน เหตุนี้ในน้ำนมก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นสารคัดหลั่ง และระหว่างปั๊ม อาจจะมีบาดแผลเล็กๆน้อยๆที่มีเลือดซึมออกมาก็ได้ 


คนที่แข็งแรงดี ไม่ได้เป็นการรับประกัน จุลชีพ ที่อยู่ในร่างกาย และยังไม่แสดงอาการ การตรวจเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ก็ไม่ได้รับประกันว่าวันนี้ปกติเหมือนอาทิตย์ที่แล้ว จึงต้องตรวจทุกครั้งที่บริจาค ค่าใช้จ่ายจะสูงมาก และบางโรคก็ทำได้ยาก และยังมีโรคที่ไม่รู้หรืออาจจะรู้ทีหลังเกิดขึ้นได้อีก

ดังนั้น ชีววัตถุ เช่น เลือด อวัยวะ สิ่งคัดหลั่งที่ออกจากมนุษย์ จะถูกนำไปใช้ทางการแพทย์ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ ที่ไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้

เพจดังชี้ "บริจาคนมแม่" แค่มีใจอยากให้ ไม่พอต้องมีความรู้ด้วย

ด้านเพจดังอย่าง Drama-addict ก็ได้ออกมาเตือนว่า แม่ๆที่คิดจะไปรับนมแม่ที่เขาแบ่งๆกันเองโดยไม่ผ่านธนาคารนมแม่ มีความเสี่ยงหลายอย่างที่อาจจะตามมา เนื่องจากมีไวรัสหลายตัว ที่ในผู้ใหญ่อาจไม่แสดงอาการอะไรชัดเจน แต่หากส่งต่อไปถึงทารกผ่านนมแล้วอาจเกิดปัญหาตามมาได้

ยกตัวอย่างเช่น ไวรัส CMV ตัวนี้ ในผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อส่วนมากไม่ค่อยมีอาการอะไร แต่หากทารก โดยเฉพาะกลุ่มที่คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย ติดเชื้อ หรือคนที่ภูมิต้านทานต่ำกว่าปรกติโดนเข้าไปก็จะมีผลได้ และหากกรณีติดเชื้อตั้งแต่กำเนิด จะส่งผลต่อสมอง พัฒนาการเด็กจะมีปัญหาพัฒนาช้า บางคนอาจมีความพิการตามมา เช่น หูหนวก ส่วนกรณีติดในวัยทารกหลังคลอด เด็กที่ติดเชื้อ อาจมีอาการ ปอดบวม ตับอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองโต ฯลฯ

ดังนั้นธนาคารนมแม่ที่เขาทำกันเป็นมาตรฐาน ก็จะมีกระบวนการในการฆ่าเชื้อ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่เด็กจะติดเชื้อ ทำให้เด็กกินนมแม่ที่บริจาคผ่านธนาคารนมแม่ได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ แอดมินเพจDrama-addict ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ยังมีไวรัสอีกหลายตัว ที่ส่งต่อผ่านนมแม่ได้ เช่น HTLV ตัวนี้เป็นไวรัสรุ่นเดอะตัวนึง ที่กำลังเป็นปัญหาในออสซี่ตอนนี้ และคนที่ติดเชื้อจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สูงกว่าคนทั่วไปหลายเท่า และการตรวจหาไวรัสชนิดนี้ ยังไม่มีแพร่หลายในไทย ทำได้แค่ รพ. ใหญ่มากๆเท่านั้น

เรื่องของนมแม่ ให้คิดซะว่าเหมือนกับการบริจาคเลือดนั่นล่ะครับ เป็นเรา จะรับเลือดใครก็ไม่รู้มาใส่ตัวเราง่ายๆมั้ยล่ะ ถ้าไม่มีกระบวนการตรวจสอบยุ่บยั่บจากคลังเลือด ฉันใดก็ฉันนั้น เรื่องแบบนี้ แค่มีใจอยากให้ ไม่พอครับต้องมีความรู้ด้วย



ขณะที่บนเว็บไซต์ ธนาคารนมแม่ศิริราช ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้จะบริจาคน้ำนมแม่ ดังนี้

  • มีสุขภาพแข็งแรงไม่ได้กินยาหรือฉีดยาใดๆเป็นประจำ
  • มีน้ำนมมากเกินความต้องการของลูกและยินดีบริจาค
  • น้ำนมที่บริจาคเป็นน้ำนมที่บีบเก็บในช่วงที่บุตรคนปัจจุบันอายุไม่เกิน 6 เดือนหลังคลอด
  • น้ำนมบริจาคเป็นน้ำนมที่มีอายุการเก็บไม่เกิน 3 เดือนนับจากวันที่บีบเก็บ
  • ยินดีปฏิบัติตามคำแนะนำในการบีบเก็บและการเก็บรักษาน้ำนมแม่ของธนาคารนมแม่ศิริราช
  • ผลเลือดที่ตรวจขณะฝากครรภ์ลูกคนปัจจุบันปกติทุกรายการ
  • ยินดีตอบแบบสอบถามตามความเป็นจริง และยินดีทำซ้ำทุก 2-3 เดือน หากบริจาคน้ำนมอย่างต่อเนื่อง
  • ยินดีเจาะเลือดเพื่อตรวจภาวะตับอักเสบบี ตับอักเสบซี โรคเอดส์และซิฟิลิส และยินดีให้ตรวจซ้ำทุก 2-3 เดือนหากบริจาคน้ำนมอย่างต่อเนื่อง

สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานการบริจาคน้ำนมแม่ มีดังนี้

1.ตรวจคัดกรองผู้บริจาคน้ำนมแม่

2.รับบริจาคน้ำนมแม่จากคุณแม่ที่มีน้ำนมมากเกินความต้องการของบุตรตนเอง และยินดีบริจาคด้วยความสมัครใจและไม่มีค่าตอบแทน

3.เตรียมน้ำนมแม่ที่รับบริจาค โดยใช้การพาสเจอร์ไรซ์เซชั่น (pasteurization)

4.แจกจ่ายน้ำนมแม่ที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ให้แก่ทารกเกิดก่อนกำหนด ทารกเจ็บป่วย และทารกรายอื่น ๆตามความเหมาะสม

5.จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิต การนำไปใช้ และผลของการใช้น้ำนมแม่ที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ 



อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :