ไม่พบผลการค้นหา
แบรนด์ระดับโลก 'ชาแนล' เลือก 'ไทย' จัดแฟชั่นโชว์ครั้งใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน้นกลุ่มเป้าหมายระดับมหาเศรษฐีผู้กุมเศรษฐกิจไทย ขณะที่ผลวิจัยระบุ การบริโภคสินค้าหรูเป็นต้นตอ 'ความเหลื่อมล้ำ'

'บรูโน ลาฟรอฟสกี' ประธานบริหารแบรนด์แฟชั่นชื่อดังระดับโลก Chanel ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี กรณีที่ 'ชาแนล' เลือกไทยเป็นสถานที่จัดแฟชั่นโชว์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ต่อจากสิงคโปร์ ซึ่งเคยจัดแฟชั่นโชว์ของชาแนลมาก่อนเมื่อปี 2556 โดยมีนางแบบและคนดังจากฝั่งตะวันตก รวมถึงบุคคลสำคัญและคนดังจากหลายแวดวงของไทยเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง 

ฉากหลังแฟชั่นโชว์ครั้งใหญ่ของชาแนล ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เป็นการจำลองเรือเดินสมุทรซึ่งชาแนลเคยใช้จัดแฟชั่นโชว์ช่วงกลางปี 2561 ซึ่ง 'คาร์ล ลาเกอร์เฟล' เคยออกแบบให้รันเวย์กลายเป็นชายหาดที่มีครบทั้งผืนทรายและคลื่นทะเลซัดฝั่ง แต่แฟชั่นโชว์ที่กรุงเทพฯ เป็นการเดินแบบบนเรือจำลองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ลาฟรอฟสกีระบุว่าไทย คือ 'ตลาดแห่งอนาคต' โดยเฉพาะ 'กรุงเทพฯ' ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศนี้ และเป็นศูนย์กลางของตระกูลมหาเศรษฐีต่างๆ ในกลุ่ม 'ซูเปอร์ริช' ซึ่งเป็นผู้มีกำลังซื้อและทำให้ไทยติดกลุ่ม 1 ใน 10 ประเทศที่มีการซื้่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของชาแนลมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

'วาเลอเรีย สการามุซซี' หนึ่งในผู้บริหารด้านการตลาดของดีลอยต์ ซึ่งสำรวจและเก็บข้อมูลการตลาดเกี่ยวกับสินค้าแบรนด์แนมทั่วโลก ระบุว่า ความเป็นเมืองหรือการขยายตัวของเมือง รวมถึงปริมาณผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์และเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังประเมินว่าตลาดสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยจะเติบโตเฉลี่ยได้สูงถึงร้อยละ 6 ต่อปี

เอเอฟพีระบุว่า การเติบโตของสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยในกลุ่มผู้บริโภคของไทย สวนทางกับเศรษฐกิจที่ยังไม่เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนลูกค้ากลุ่มใหญ่ของแบรนด์ชาแนลที่เป็นกลุ่มคนรวยระดับมหาเศรษฐีก็มีอยู่ไม่กี่ตระกูล ทั้งยังเป็นผู้ครอบครองส่วนแบ่งใหญ่ในตลาดและระบบเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว

AFP-ชาแนล-Chanel-Karl Lagerfeld-คาร์ล ลาเกอร์เฟล-แฟชั่น-รันเวย์-นางแบบ

ส่วนผลวิจัยและสำรวจตลาดของ Research and Markets ฉบับล่าสุด เผยแพร่เมื่อเดือน ก.พ. 2561 บ่งชี้ว่า สินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมีราคาแตกต่างไปจากสินค้าปกติในท้องตลาด โดยมักจะมีลักษณะเฉพาะด้านการออกแบบ ฝีมือการผลิต และการเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ช่วยให้ผู้ซื้อสินค้ารู้สึกได้ถึง 'ความเฉพาะกลุ่ม' แตกต่างจากสินค้าที่ผลิตเป็นจำนวนมากและหาซื้อได้ในตลาดทั่วไป

ผลวิจัยชี้ว่าการเติบโตของตลาดสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยทั่วโลก มีผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นการเติบโตของเมือง ส่วนช่องทางจำหน่ายสินค้าที่เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ รองลงมาคือร้านค้าที่มีการจัดโปรโมชั่นลดราคา ตามด้วยธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เปิดให้ลูกค้าสั่งซื้อทางออนไลน์

นอกจากนี้ 'ปีเตอร์ อูเบล' คอลัมนิสต์ของนิตยสารด้านเศรษฐกิจ 'ฟอร์บส์' ยังเคยเผยแพร่บทความสะท้อนวิธีคิดและกลไกที่ผลักดันให้ตลาดสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยระบุว่า กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางจำนวนมากเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่ทำให้สินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยขายดี เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ต้องการเครื่องบ่งชี้ หรือแสดงฐานะทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม อูเบลระบุว่า ผู้ใช้สินค้าหรูหราสวนทางกับสถานะทางการเงินของตัวเอง อาจไม่ได้เป็นพวก 'วัตถุนิยม' หรือคลั่งไคล้สินค้าราคาแพงเสมอไป แต่เป็นเพราะการใช้สินค้าหรูหรามีผลเชิงบวกในบางสถานการณ์ เช่น กรณีไปสัมภาษณ์งานหรือติดต่อธุรกิจ การมีเครื่องประดับหรือผลิตภัณฑ์แสดงถึงสถานะทางเศรษฐกิจที่ดี มีผลโน้มน้าวให้คนสนใจฟังหรือเปิดกว้างรับฟังได้มากกว่าผู้ที่แต่งกายหรือใช้สินค้าที่หาได้ทั่วไปตามท้องตลาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: