ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรช่วยเหลือเด็กเปิดผลวิจัยพบ มีเด็กผู้ลี้ภัยในเมืองถูกกักใน ตม. ถูกล่วงละเมิดทางเพศ แนะไทยให้ความสำคัญด้วย ขณะที่ กสม. เผย มีคนเสียชีวิตใน ตม. ปีละไม่ต่ำกว่า 10 คน เพราะโรคร้าย พร้อมขอให้รัฐบาลช่วยเหลือให้เด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษาตามที่ พลเอกประยุทธ์เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำโลกว่าด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัย

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร องค์กรช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย (Save the children ) จัดงานเปิดตัวงานวิจัย “อนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย”และเวทีเสวนา “เปิดอนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย สู่การจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย” เนื่องในสัปดาห์ วันผู้ลี้ภัยโลกประจำปี พ.ศ. 2561



งานเสวนา.JPG

เวทีเสวนา “เปิดอนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย สู่การจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย”

น.ส. รติรส ศุภาพร ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นองค์การช่วยเหลือเด็ก ระดับภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า ประเทศไทยได้กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ได้อพยพหนีภัยสงคราม ภัยจากความขัดแย้งทางการเมือง หรือภัยจากการได้รับผลกระทบ จากความเชื่อทางศาสนาเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ลี้ภัยในประเทศไทยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิงชั่วคราว และผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ภายนอกค่าย ผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยในเมือง ซึค่งส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 

ตามข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย แห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุตัวเลขผู้ลี้ภัยในเมือง มีประมาณ 6,000 คน ซึ่งเป็นเด็กมากกว่า 2,000 คน จากกว่า 50 ชาติพันธุ์ โดยมีจำนวนร้อยละ 55 มาจากปากีสถาน รองลงมาเวียดนามร้อยละ 10 ปาเลสไตน์ ที่เหลืออีกกว่าร้อยละ 30 มาจากโซมาเลีย ซีเรีย อิรัก ศรีลังกา กัมพูชา จีน อิหร่าน และอื่น ๆ โดยผู้ลี้ภัยเหล่านี้กำลังรอโอกาสที่จะได้ไป ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ประเทศที่สาม แต่โอกาสมีน้อยมาก ซึ่งในปีพ.ศ. 2561 ที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัย จากไทยไปตั้งถิ่นฐานใหม่เพียงร้อยละ 5.5. จากจำนวนผู้ลี้ภัยในเมืองทั้งหมด 

"จากการทำวิจัยเราได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามเด็กๆ จำนวนหนึ่ง ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพราะพ่อแม่ของพวกเขาถูกจับ เด็กๆ จะได้รับผลกระทบด้วยการถูกจับไปด้วย ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานกักกันจะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหรือได้รับการดูแลที่เหมาะสม และมีสภาพที่เป็นอยู่นั้นแออัด สกปรก ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา อีกทั้งยังการกักกันอย่าง ไม่เหมาะสมกับเด็ก" น.ส.รติรสกล่าว  

ทั้งนี้ จากงานวิจัยพบว่าเด็กชายที่ถูกกักแยกจากผู้ปกครองต้องเผชิญกับการถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศในสภาพแวดล้อมเช่นนี้บ่อยครั้ง แต่เด็กเหล่านี้มีความหวาดกลัว และอายเกินไปที่จะรายงานเหตุที่เกิดขึ้น เด็กเหล่านี้บอบช้ำมากเกินไป จนทำให้มีความนับถือตัวเองต่ำ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อปัญหาทางจิตใจของพวกเขาในระยะยาว นอกจากนี้เด็กผู้ลี้ภัย ในประเทศไทย ยังต้องเผชิญกับภาวะของการถูกทำให้โดดเดี่ยวเนื่องจากความกังวล ด้านความปลอดภัย ผู้ลี้ภัยต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัวตลอดเวลา 

น.ส. รติรส ยังได้ยกตัวอย่างของประเทศมาเลเซียที่มีระบบการจัดการกับผู้ลี้ภัยที่อยู่ในระหว่างการรอสถานะที่ทำให้เด็กและครอบครัวของผู้ลี้ภัยไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและหวาดกลัวและทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถดูแลตนเองได้ ที่มาเลเซียผู้ลี้ภัยที่ขึ้นทะเบียนและอยู่ในระหว่างการรอพิจาณาสถานะจาก UNHCR หรือผู้ที่ได้รับสถานะจาก UNHCR ให้เป็นผู้ลี้ภัยแล้วและกำลังรอการเดินทาง ไปยังประเทศที่สาม รายชื่อของทุกคนที่ได้รับการรับรองแล้วจะถูกรวบรวมไปให้เจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำรายชื่อไปจัดทำเป็นฐานข้อมูลและเก็บไว้ในแอปพลิเคชัน และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเจอผู้ลี้ภัยที่สงสัยว่าเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ก็สามารถเช็คข้อมูลผ่านแอปฯได้ และเมื่อผู้ลี้ภัยมีรายชื่อปรากฏในแอปฯ ก็จะไม่ถูกจับกุมตัว อีกทั้งผู้ลี้ภัยบางกลุ่มสามารถทำงานได้ด้วย

แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 (the 1951 Refugee Convention) หรือพิธีสารเลือกรับ พ.ศ.2510 (the 1967 Protocol) แต่เมื่อเดือน ก.ย. พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมาในที่ประชุมสุดยอดผู้นำโลก ว่าด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัย ที่กรุงนิวยอร์ก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะจัดตั้งกลไกการคัดกรองผู้ลี้ภัยเองเพื่อจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์และสนับสนุนหลักการไม่ส่งกลับ (Non Refoulement) และรัฐบาลไทยยังได้สัญญาในการประชุมครั้งนั้น อีกว่าจะส่งเสริมให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงบริการด้านการศึกษา สุขภาพ และการแจ้งเกิดให้มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงจากการลงพื้นที่ กลับพบว่าเด็ก ๆ ยังถูกละเมิดสิทธิและถูกปฏิเสธที่จะได้รับ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในหลากหลายกรณี และแม้ว่าไทยจะมีนโยบายว่า เด็กทุกคนไม่ว่า สัญชาติใดสามารถที่จะเข้าถึงการศึกษาของรัฐได้ฟรี แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ยังคงมีเด็กผู้ลี้ภัยที่ควรได้ไปโรงเรียนเข้าไม่ถึง



รติรส.JPG

รติรส ศุภาพร ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นองค์การช่วยเหลือเด็ก ระดับภูมิภาคเอเชีย

องค์การช่วยเหลือเด็กจึงอยากเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ดูแลจัดการกับเด็กผู้ลี้ภัยอย่างเหมาะสมดังนี้ 

1. ให้นำเด็กออกจากสถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองโดยทันที ไม่ควรมีเด็กคนไหนที่ จะต้องถูกกันตัวในสถานที่และสภาพแวดล้อมแบบนั้น และให้รัฐจัดหาสถานที่ที่เหมาะสม ให้กับเด็กและครอบครัวได้พักอาศัยอยู่ร่วมกันโดยไม่แยกครอบครัวของเด็กด้วย  

2.ขอให้รัฐ ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาให้กับเด็กผู้ลี้ภัยตามที่พลเอกประยุทธ์ ได้ให้คำมั่นสัญญา ในการประชุมสุดยอดผู้นำโลกว่าด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัย 

3.ขอให้รัฐมีการจัดอบรม และพัฒนาศักยภาพ ของครูและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนของรัฐ, ตำรวจตม. ตำรวจท่องเที่ยว และตำรวจทั่วไป และผู้ทำงานให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยให้เข้าใจถึงสิทธิ และการปฏิบัติ ต่อเด็กๆผู้ลี้ภัยด้วย

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า มีจำนวนไม่น้อยที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับครอบครัวโดยกลุ่มคนเหล่านี้จะขอสถานะผู้ลี้ภัย (Refugees) จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งหากได้รับสถานะผู้ลี้ภัย คนกลุ่มนี้จะสามารถพำนักในประเทศไทยได้ โดยได้รับการดูแลจาก UNHCR เพื่อรอการเดินทางต่อ ไปยังประเทศที่สาม ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยและ หากเป็นผู้ไม่มีเอกสาร เช่น หนังสือเดินทาง หรือวีซ่า หรือหนังสือเดินทางหรือวีซ่าหมดอายุ คนกลุ่มนี้ก็จะอยู่ในประเทศไทย ในฐานะผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือ overstay ซึ่งหากเจ้าหน้าทื่ พบเห็นก็จะถูกจับกุมและถูกกักที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อรอการส่งกลับประเทศต้นทาง

“เคยมีเรื่องร้องเรียนมายัง กสม. เรื่องกักตัวเด็กที่เดินทางมาพร้อมผู้ปกครอง เพราะเมื่อผู้ปกครอง ถูกจับและถูกกักในห้องกัก เด็กก็จะถูกกักไปด้วย แม้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะมี Day Care ที่ใช้เป็นสถานที่ดูแลเด็กในเวลากลางวัน แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะรองรับเด็กทุกคน และแม้จะมีเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ เช่น IOM (International Organization for Migration) เข้ามาช่วยดูแลหรือสอนหนังสือเด็กในห้องกัก แต่ปัญหาสำคัญ คือ เด็กที่ย้ายถิ่น มากับครอบครัวยังคงถูกกักขัง และขาดโอกาสในการศึกษา และการพัฒนาตามวัย นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมายังพบว่ามีผู้ลี้ภัยเสียชีวิตในห้องกักกว่า 10 คน จากโรคเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ”นางอังคณา กล่าว

กรรมการสิทธิฯ ยังยกตัวอย่างการบริหารจัดการที่ดีในการดูแลกลุ่มเด็กผู้ลี้ภัยที่ติดตามครอบครัว และถูกจับโดยอยู่ในการดูแลของบ้านพักเด็กในหลายจังหวัด เช่น เด็กชาวโรฮิงยา ที่ได้รับการดูแลที่บ้านพักเด็กจังหวัดพังงา ทางบ้านพักจะส่งเด็กไปโรงเรียนในท้องถิ่น ทำให้เด็กได้เรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และได้รับการพัฒนาตามวัย อีกทั้งทางบ้านพักยังสอนให้เด็กทำอาชีพเสริม เช่น การปลูกผัก หรือเลี้ยงปลาไว้ขายเพื่อมีรายได้ หรือที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีโรงเรียนอิสลามศึกษา ที่สอนสามัญด้วย รับเด็กๆเหล่านี้เข้าเรียนเพื่อให้เด็กมีโอกาสสอบเทียบ ในหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)

ซึ่งในปลายปีที่ผ่านมา กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียน ว่ามีเด็กผู้ลี้ภัยชาวแอฟริกา 4-5 คนถูกจับโดยลำพัง หลังจากกลับจากโรงเรียน ซึ่งเด็กเหล่านั้น อายุเพียง 11-12 ปี ทั้งที่ตามปกติเด็กจะถูกจับ พร้อมผู้ปกครอง เมื่อได้ไปตรวจสอบที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่า สตม. ได้รับเด็กจากสถานีตำรวจแห่งหนึ่งจึงต้องนำมากักไว้ในห้องกักโดยที่ สตม.ก็ไม่มีอำนาจ ในการกักเด็กต่ำกว่า 15 ปีได้เนื่องจากเด็กไม่ได้ทำความผิด กรณีนี้ สตม.ได้ขอให้ กสม.เป็นพยาน ในการส่งมอบเด็กให้อยู่ ในความดูแลของมูลนิธิที่ช่วยเหลือเด็ก แต่กรณีเด็กที่อายุมากกว่า 15 ปี ทาง สตม.ผ่อนปรนที่ให้มีการประกันตัวเด็กได้



อังคณา.JPG

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ทั้งนี้ กสม. และ องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัย ได้มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาทางเลือกแทนการกักเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยการอนุญาตให้ เด็กพร้อมผู้ปกครองมีโอกาสพักอาศัยนอกห้องกัก ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้รับทราบปัญหา และพัฒนาไปถึงการดำเนินการให้มีบันทึกความเข้าใจร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งหากสำเร็จจะถือว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้ามาก เนื่องจากเด็กและผู้ปกครองจะสามารถ ใช้ชีวิตข้างนอกห้องกัก ได้รับการศึกษาและการพัฒนาตามวัยได้ อีกทั้งยังทำให้เด็กเข้าถึงสิทธิ ทางสังคมและวัฒนธรรม เด็กมีโอกาสเรียนรู้ภาษาแม่และภาษาท้องถิ่น และเมื่อวันหนึ่งเด็ก ต้องกลับไปประเทศต้นทาง หรือเดินทางไปประเทศที่สาม เด็กจะสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ นอกจากนี้ประเทศไทยควรมีระบบคัดกรองผู้อพยพผู้ลี้ภัยด้วย  

“ล่าสุดสหรัฐฯได้ปรับเปลี่ยนนโยบายผู้ลี้ภัย ที่ก่อนหน้านี้แยกเด็กออกจากครอบครัว แต่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ดังนั้นไทยจึงควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เพราะเด็กไม่ควรถูกแยกอยู่ตามลำพัง” นางอังคณา กล่าว

ขณะที่ น.ส.ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ กล่าวว่า แม้ว่ารัฐไทย จะมีนโยบาย Education for all หรือการศึกษาเพื่อคนทั้งมวลสำหรับเด็กทุกคน แต่มีปัญหาอยู่ที่ ผู้ปกครองที่จะพาไปโรงเรียนยังถูกกักตัวอยู่ในตม. เด็กเองก็ยังถูกกักตัว พร้อมกับผู้ปกครอง และหากไม่ถูกกักตัวครอบครัวของผู้ลี้ภัยที่อยู่ในเมืองหลวงก็ต้องใช้ ชีวิตอย่างหลบๆซ่อนๆ และมีความเสี่ยงที่จะถูกจับจึงทำให้ไมกล้าส่งลูกไปโรงเรียนก็ทำให้เด็กๆ ขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาไป การเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยจึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่รอการจัดการที่เหมาะสม จากสถิติผู้ลี้ภัยมีจำนวนเพียงหลักร้อยคนเท่านั้นที่ได้เข้าเรียน นอกจากบางครอบครัวที่มีศักยภาพ หรือ ในอดีตมีโรงเรียนอินเตอร์ บางแห่งให้ทุนการศึกษา

“มีเคสหนึ่งเมื่อปี 2016 เด็กผู้ลี้ภัยได้เรียนโรงเรียนอินเตอร์ เป็นนักกีฬา สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน ไปทัศนศึกษาที่ จ.เชียงรายกับโรงเรียน แต่ปรากฏว่าขากลับเด็กกลับถูกจับ ต้องขึ้นศาลต่อสู้คดี แต่สุดท้ายศาลเยาวชน ก็ตัดสินว่าเด็กไม่ได้หนีไปไหน เด็กได้สถานะแล้วแต่กำลังจะ ไปประเทศที่สาม ให้กลับไปเรียนต่อได้ ซึ่งเคสนี้ถือว่าเป็นเคสที่โชคดี” น.ส.ปริญญากล่าว

นอกจากนี้ ไทยอยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วย สิทธิเด็ก และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่งบทบัญญัติทางกฎหมายคุ้มครองเด็กทุกคน แต่ยังไม่ถูกนำไปใช้ จึงต้องผลักดันให้ใช้มากขึ้น นอกจากนี้ขอเสนอไปยังรัฐบาล ควรที่จะให้การรับรองการมีตัวตนของผู้ลี้ภัย เพื่อให้เขามีความหวาดกลัวน้อยลง เปิดทางให้เด็กได้ไปโรงเรียนมากขึ้น ซึ่งเห็นว่าในแง่นโยบายการศึกษาไทยดีอยู่แล้ว คือรัฐสนับสนุนให้ทุกคนได้เรียน แต่ควรแก้ไขในทางปฏิบัติ เพราะเมื่อเด็กไม่ได้รับสถานะ ก็ทำให้ไม่สามารถไปเรียนได้ ทำให้เกิดภาวะลักลั่นขึ้น นอกจากนี้ผู้ลี้ภัยที่ได้สถานะ แล้วรัฐควรที่จะเปิดให้คนเหล่านี้ได้ทำงานอย่างถูกต้อง เพราะแม้จะเรียนฟรี แต่ผู้ปกครองต้องมีค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ค่าเดินทางไปโรงเรียน หรือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ซึ่งหากดำเนินการตามข้อเสนอนี้จะทำให้ปัญหาต่างๆดีขึ้น

ขณะที่นางกรแก้ว พิเมย ผู้อำนวยการโครงการ Urban Education Project (UEP) องค์การเยสุอิตสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย กล่าวว่า ปัญหาที่พบเจอคือผู้ลี้ภัยขาดโอกาสทางการศึกษา ที่จะต้องเรียนตามระบบการศึกษาไทย แต่ปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมไทยและภาษาไทย ลำบาก ทางองค์กรจึงได้เปิดคอร์สอบรมระยะสั้น 6 เดือน ให้ผู้ลี้ภัยจากหลากหลายเชื้อชาติได้ เรียนฟรี ในวิชาต่างๆ โดยจัดไปแล้ว 3 รุ่น ๆละ 35 คน แต่ด้วยข้อจำกัดของเงินทุนทำให้ไม่พอเพียง ต่อผู้ที่สนใจลงทะเบียนกว่า 400 คน ทั้งนี้ในส่วนหลักสูตรที่สอนนั้น จะส่งเสริมให้ผู้เรียน ได้หางานทำต่อได้ ไม่ว่าในขณะที่อยู่ในไทย หรือไปประเทศที่สามแล้ว



กรแก้ว.JPG

นางกรแก้ว พิเมย ผู้อำนวยการโครงการ Urban Education Project (UEP) องค์การเยสุอิตสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย

นางกรแก้ว ยังกล่าวด้วยว่า ปัญหาสำคัญที่สุด คือ การเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ โดยองค์กรได้เน้นตั้งแต่เด็กวัยรุ่น เด็กโต รวมถึงผู้ใหญ่ ที่ในบางครั้งจะพาไปฝึกทักษะอาชีพกับ หน่วยงาน ภาครัฐ แต่ขาดคุณสมบัติที่จะเรียนได้ เช่น ของกรุงเทพมหานคร ที่มีศูนย์ฝึกอาชีพ แต่ให้เฉพาะคนไทยเท่านั้น จึงอยากให้รัฐบาลเปิดโอกาส อย่างน้อยต้องจัดโควต้าในแต่ละรอบ แต่ละปี เพราะถ้าพวกเขาเหล่านี้มีโอกาสพัฒนาทักษะต่างๆ หรือมีการศึกษาที่สูงขึ้น ก็จะสามารถนำไปต่อยอดในประเทศที่สามได้ หรือ อย่างกศน. ที่บอกว่ามาเรียนได้ แต่เป็นภาษาไทย ซึ่งส่วนใหญ่ในกลุ่มของเด็กโต จะปรับตัวอยาก มีปัญหาเรื่องภาษา

นอกจากนี้ ภายในงานยังมี “โรงเรียนผู้ลี้ภัยจำลอง”เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสบรรยากาศห้องเรียนในค่ายผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการภาพถ่ายและภาพวาดของเด็กผู้ลี้ภัยที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตจริงในอดีต, ปัจจุบัน และความหวังของพวกผู้ลี้ภัย พร้อมฉายภาพยนตร์สั้นเรื่อง “ปลดล็อคห้องกักตม.ไม่ใช่ที่อยู่ของเด็ก” ที่จะบอกเล่าถึงเส้นทางความยากลำบากและชะตากรรมที่เด็กๆผู้ลี้ภัยต้องพบเจอขณะเดินทางเพื่อลี้ภัย รวมถึงการเลือกซื้ออาหาร, เสื้อผ้าประจำชาติพันธุ์และงานฝีมือต่าง ๆ ของชุมชนผู้ลี้ภัยต่าง ๆ ในประเทศไทยด้วย



ห้องเรียนผู้ลี้ภัยจำลอง2.JPG

โรงเรียนผู้ลี้ภัยจำลอง



ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย.JPG

อาหารจากผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย