หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นประเด็นที่น่ากังวลและต้องติดตาม ยิ่งเมื่อย้อนไปดูสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในช่วงปี 2554-2558 (ระยะ 5 ปี) พบว่า หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีโครงการจากนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนทั้งโครงการรถคันแรก โครงการบ้านหลังแรก ประกอบการในช่วงเวลาดังกล่าวมีปัญหาอุทกภัย - ภัยแล้ง ราคาพืชผลทางการเกษตรอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลต่อรายได้เกษตรกร ค่าแรง ค่าล่วงเวลาที่ปรับเพิ่มขึ้นน้อย จนกระทบต่อรายได้ลูกจ้าง และทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง เป็นผลต่อเนื่อง เป็นลูกโซ่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ณ สิ้นไตรมาส 1/2554 จากระดับร้อยละ 60.3 กระโดดขึ้นไปแตะระดับร้อยละ 80.8 ณ สิ้นไตรมาส 4/2558 ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการ
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ต้นปี 2559 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีได้ปรับลดลงอย่างช้าๆ โดยตามรายงานสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ณ สิ้นไตรมาส 2/2561 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 77.5 ซึ่งแม้จะปรับตัวลดลงแล้ว แต่ถือว่า ยังอยู่ในระดับสูง หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้น ตามรายงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงระบุว่า ต้องการให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงอีก
ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ลดลง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจภาพรวมที่ขยายตัวเร็วกว่ายอดหนี้ครัวเรือนคงค้าง ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากสิ้นไตรมาส 1/2554 อยู่ที่ 6.648 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 11.103 ล้านล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 4/2558 และ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2561 อยู่ที่ 12.34 ล้านล้านบาท
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น ส่งผลต่อการบริโภคเอกชนให้ปรับดีขึ้นตาม แม้ว่าจะยังไม่ได้ขยายตัวเข้าสู่ภาวะปกติที่การบริโภคจะสูงกว่าจีดีพี 1.5-2 เท่า
ขณะที่ ยอดหนี้คงค้างของสินเชื่ออุปโภคบริโภค ในระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 3/2561 อยู่ที่ 4.358 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย สัดส่วนมากที่สุด 2.187 ล้านล้านบาท รองลงมา คือ สินเชื่อรถยนต์ 1.036 ล้านล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคล 9.174 แสนล้านบาท และสินเชื่อบัตรเครดิต 2.166 แสนล้านบาท
สำหรับคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนโดยรวมยังทรงตัว แต่ความสามารถในการชำระหนี้ในบางกลุ่มอาจจะลดลง เพราะรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากไตรมาสที่ 2/2561 อยู่ที่ร้อยละ 2.72 ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.73 ณ สิ้นไตรมาสที่ 3/2561 อย่างไรก็ตาม เอ็นพีแอลไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.78 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.68 ในสิ้นปีก่อนหน้า
หนี้เสียกลุ่มสินเชื่อรถยนต์-บัตรเครดิต 'เพิ่มขึ้น'
ทั้งนี้ หากดูในรายละเอียด จะพบว่าเอ็นพีแอลของสินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น โดยสินเชื่อรถยนต์ มีเอ็นพีแอลไตรมาสแรก และไตรมาสที่ 2 ปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.53 และร้อยละ 1.52 ตามลำดับ แต่เห็นการขยับขึ้นของเอ็นพีแอล สิ้นไตรมาสที่ 3/2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.57
ด้านเอ็นพีแอลบัตรเครดิต สิ้นไตรมาสที่ 3/2561 อยู่ที่ร้อยละ 2.54 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2561 ที่ร้อยละ 2.42 ส่วนไตรมาสแรกปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 3.15 เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ร้อยละ 2.61 ซึ่งเอ็นพีแอลบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ร้อยละ 3.99 ในปี 2558 ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัย จากที่เห็นการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลไต่ระดับต่อเนื่อง ไตรมาสแรกปีนี้ที่ร้อยละ 3.38 และจากไตรมาสที่ 2/2561 ที่ร้อยละ 3.39 แต่สิ้นไตรมาสที่ 3 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.37
ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคล เอ็นพีแอลสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 2.53 ขณะที่ไตรมาสแรกปี 2561เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 2.65 และไตรมาสที่ 2/2561 อยู่ที่ร้อยละ 2.54 สิ้นไตรมาสที่ 3/2561 อยู่ที่ร้อยละ 2.55
แม้ว่าเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นแต่ผลบวกของเศรษฐกิจยังไม่ส่งผ่านไปยังคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้ ทำให้สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ เอสเอ็ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่เริ่มเห็นการผิดนัดชำระหนี้มากกว่า 1 เดือนนั้น เพิ่มขึ้นมา ขณะที่ SM ของสินเชื่ออุปโภคบริโภค รวมอยู่ที่ร้อยละ 3.18 สินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ร้อยละ 7.32 สินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 1.96 สินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ร้อยละ 1.73 สินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ร้อยละ 2.23
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการประชุมครั้งล่าสุด (กลางเดือนพฤศจิกายน) ยังให้น้ำหนักหนี้ครัวเรือนเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อความเปราะบางเศรษฐกิจ เพราะการก่อหนี้ที่มากเกินไปจะกระทบต่อการบริโภคให้ขยายตัวไม่มากนัก และทำให้เศรษฐกิจขยายตัวชะลอลงในระยะยาว
ทั้งนี้ หากครัวเรือนมีรายได้ลดลงจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งกรณีไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะส่งผลให้เอ็นพีแอลของสถาบันการเงินสูงขึ้นจนอาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน โดยประเด็นที่ยังต้องติดตามต่อ เพราะระดับและอัตราการเร่งของหนี้ แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในภาพรวมที่มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ต้นปี 2559 แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังคงอยู่ในระดับสูง และหนี้ครัวเรือนเริ่มมีสัญญาณกลับมาขยายตัวเร่งขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2560 ขณะที่การเพิ่มขึ้นของรายได้ครัวเรือนยังกระจายตัวไม่เต็มที่
โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้น้อย แต่มีหนี้สูงและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้เพิ่มขึ้น และพบว่าสัดส่วนการชำระหนี้รายเดือนต่อรายได้ปรับสูงขึ้นในบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยและกลุ่มเกษตรกร ดังนั้นจึงยังต้องระวังความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน
ครัวเรือนไทยไร้สภาพคล่องเกือบครึ่ง
รวมทั้งการประเมินความอ่อนไหวต่อการลดลงของรายได้ พบว่าครัวเรือนที่มีหนี้อาจมีปัญหาสภาพคล่องในการชำระหนี้มากขึ้น โดยสภาพคล่องครัวเรือนหลังหักรายจ่ายอุปโภคบริโภคและภาษีแล้วไม่เพียงพอจ่ายภาระหนี้รายเดือนได้เต็มจำนวน สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 46.8
อีกทั้ง เมื่อทำการทดสอบภาวะวิกฤต สมมติให้รายได้ของแต่ละครัวเรือนลดลงร้อยละ 20 แต่คงระดับการใช้จ่ายไว้เท่าเดิม พบว่าสัดส่วนมูลค่าหนี้ที่อาจมีปัญหาสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 72.5 และเพิ่มขึ้นสูงในทุกกลุ่มอาชีพสะท้อนถึงความเปราะบางของภาคครัวเรือน ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ และอาจมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังการขยายตัวของเศรษฐกิจได้
หากมองภาพเศรษฐกิจไทยปี 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนักวิเคราะห์ต่างมองว่าเศรษฐกิจจะชะลอลงกว่าปี 2561 จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน รวมทั้งปัญหาสงครามการค้าสหรัฐและจีน ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยที่กำลังจะปรับขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก การก่อหนี้สูงจะมีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนในอนาคต และทำให้ครัวเรือนต้องมีการชำระหนี้ที่ยาวนานขึ้น
ที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี นับรวมเฉพาะหนี้ในระบบที่มองเห็นเท่านั้น ยังไม่รวมหนี้นอกระบบที่ครัวเรือนอาจจะมีการกู้ยืมเข้ามาเพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งมีการประเมินว่ามูลค่าอาจจะสูงกว่าหนี้ในระบบกว่าเท่าตัว
ดังนั้นนอกจากการพยายามแก้ปัญหาโดยการลดภาระหนี้ของครัวเรือน และให้มีการก่อหนี้ตามความจำเป็นแล้วนั้น ภาครัฐอาจจะต้องมีมาตรการที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน พร้อมกับการให้ความรู้ทางการเงิน ซึ่งหากสามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและยกระดับรายได้ได้จะส่งผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในระยะยาว เป็นเรื่องดีกว่าที่ภาครัฐจะต้องมากระตุ้นกำลังซื้อในระยะสั้นเท่านั้น!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :