ไม่พบผลการค้นหา
กบง. ออก 4 มาตรการเร่งด่วน เสนอ ครม. เคาะพรุ่งนี้ (10 มี.ค.) เน้นลดค่าครองชีพ ปชช.-ผู้ประกอบการขนาดเล็ก รับมือโควิด ทั้งคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า-ตรึงค่าไฟฟ้า 3 เดือน -ขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้าเม.ย.และพ.ค. ออกไป 6 เดือน-นำเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า 4,000 ล้านมาสร้างงาน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) อนุมัติ 4 มาตรการเร่งด่วน ช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยคาดว่าจะช่วยสร้างเงินหมุนเวียนในระบบได้ราว 4.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับทั้ง 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1. การคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าที่มีอยู่ 21.5 ล้านครัวเรือน ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก คิดเป็นวงเงินในระบบรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยมีเงินประกันตั้งแต่ระดับ 300-6,000 บาท/มิเตอร์ โดยจะดำเนินการทยอยคืนตั้งแต่รอบบิลสิ้นเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้มีเงินหมุนเวียนกลับเข้าสู่ระบบราว 30,000 ล้านบาท

2.การตรึงค่าไฟฟ้าในอัตราราว 3.50 บาท/หน่วย เป็นเวลา 3 เดือนระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. จากปัจจุบันที่ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3.64 บาท/หน่วย ซึ่งจะมาจากการตรึงค่าไฟฟ้าอัตราโนมัติ (เอฟที) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในระดับปัจจุบันที่อยู่ -11.60 สตางค์/หน่วย ออกไปอีก 2 เดือนจากที่จะสิ้นสุดในเดือนเม.ย.นี้ และการช่วยเหลือของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย 2 แห่ง คือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อีกราว 11.60 สตางค์/หน่วย รวมเป็นวงเงินช่วยเหลือจากทั้ง 2 ฝ่ายราว 10,000 ล้านบาท

3.ขยายระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้า ในช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคม ออกไป 6 เดือน ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 คือ บ้านพักอาศัย ประเภท 2 กิจการขนาดเล็ก และประเภทที่ 5 ธุรกิจโรงแรม 4.กระทรวงพลังงานจะนำเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในวงเงินราว 4,000 ล้านบาท มากระตุ้นการใช้จ่ายด้วยการเร่งสร้างงานต่าง ๆ เช่น การขุดบ่อบาดาล ลอกคลอง ตลอดจนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยจะเร่งการจัดซื้อจัดจ้างและปรับโครงการให้สอดรับกับนโยบาย ซึ่งจะเป็นการช่วยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยการดำเนินการดังกล่าว จะมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายอื่น ๆ นั้น กระทรวงพลังงานจะหารือกันในช่วงต่อไป โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับลดลงแรงในช่วงนี้ก็น่าจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมัน (กบน.) ในเร็ว ๆ นี้เพื่อใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาบริหารจัดการให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :