ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ ต่างไปจากปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบัน มียอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกประมาณ 200 ล้านคน จากปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 30 ล้านคนทำให้หลายหน่วยงานคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจทั่วโลกจะกลับมาฟื้นตัวใน 2 ลักษณะ
ได้แก่ รูปตัว W ที่เป็นการฟื้นตัวแบบขึ้นๆลงๆ และรูปตัว K ที่เป็นการฟื้นตัวแบบขึ้นและลงในบางภาค ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และต่างไปจากเดิมที่เคยคาดการณ์เมื่อต้นปีว่า อาจฟื้นตัวรูปตัว V ที่เศรษฐกิจตกลงไปและจะกลับมาฟื้นขึ้น ฉะนั้นมองว่าปัญหาโควิด-19 จะยังอยู่กับทุกภาคส่วนไปอีก 1 ปี ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องเร่งปรับตัวรับกับสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อประคองให้ธุรกิจอยู่รอดได้ในช่วง 1 ปี นับจากนี้
โดย ดีพร้อม ได้วางกลยุทธ์การดำเนินงานในระยะต่อไปในปีงบประมาณ 2564 ภายใต้แนวนโยบายการดำเนินงาน โควิด 2.0 "พร้อมสู้-อยู่ได้-ไปรอด" ในระยะเร่งด่วนช่วง 60 วัน ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก ดังนี้
1.การจัดการโควิดภายในองค์กร โดยจะต้องทำให้โรงงานที่เป็นส่วนสำคัญของภาคการผลิตและการส่งออก สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะเข้าไปช่วยเหลือให้ความรู้ด้านอาชีวอนามัยและสุขอนามัย การใช้เครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยี เพื่อลดความแออัดและปลอดภัยจากโควิด-19 โดยปีที่ผ่านมามีโรงงานเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 3,000 ราย ปีนี้ก็จะดำเนินการให้มากขึ้น
2.การตลาดภายใต้โควิด โดยมุ่งเน้นขยายตลาดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการทำการตลาดออนไลน์ภายใต้โครงการ DIProm Marketplace และการเสริมแกร่งผู้ประกอบการด้วย Social Commerceและแนวทางการตลาดร่วมเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ โดยเตรียมความพร้อมเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนไทยเข้าสู่การรับรองตราสินค้า Made in Thailand หรือ MiT โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผ่านการเสริมสร้างการรับรู้และสร้างโอกาสการเป็นคู่ค้ากับภาครัฐผ่าน 3 ช่องทาง ประกอบด้วย การรับรอง Made in Thailand (MiT) โดย ส.อ.ท. การขึ้นทะเบียนเอสเอ็มอี Thai SME-GP ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. และการขึ้นบัญชีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Thai GPP ของกรมควบคุมมลพิษ
"เราพบว่า 67% ของ SME เดือดร้อนเรื่องการตลาดและเงินทุน ฉะนั้นเราจะเน้นช่วยเหลือเรื่องของ MiT ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่จะเอาหน่วยงานรัฐมาจัดซื้อจัดจ้างผ่าน MiT ให้นำร่องได้ 100% โดยจะพยายามสร้างกลไกผ่านแซนด์บ็อกซ์ ให้ SME เข้าถึงก็จะมีโอกาสเกิดเม็ดเงินเข้าระบบSME กว่า 1 ล้านล้านบาท"
3.เปลี่ยนค่าใช้จ่ายเป็นเงินทุน เช่น โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาบริหารจัดการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบ ที่ถือเป็นปัญหาสำคัญ เป็นต้น
4. สร้างเครือข่ายพันธมิตร โดยเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร ผ่านโครงการสำคัญ ต่างๆ และ 5. ปรับโมเดลธุรกิจ มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการสร้างจุดแข็ง และออกแบบธุรกิจให้อยู่รอดได้ภายใน 1ปี โดยจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงในการรับมือกับโควิด-19
ทั้งนี้ ดีพร้อม คาดว่าในปีงบประมาณ 2564 จะสามารถช่วยส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการในภาคส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้จำนวนรวม 3,356 กิจการ 11,955 คน 982 ผลิตภัณฑ์ และคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้กว่า 8,000 ล้านบาท