ไม่พบผลการค้นหา
'จุรินทร์' แจงยิบปมราคาสินค้า ชี้ 'แพงทั้งแผ่นดิน' ไม่จริง-ยังถูกกว่าหลายประเทศ อวดผลงาน ก.พาณิชย์ ตรึงราคาสารพัด เผยคดี 'ถุงมือยาง' คืบหน้า จ่อลงโทษหนัก

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงในประเด็นราคาสินค้าแพงว่า ต้นเหตุสำคัญ ที่สุด ขอราคาสินค้าแพง ในช่วงที่ผ่านมานั้น เกิดจากราคาพลังงาน ที่มีราคาสูงขึ้น ซึ่งราคาน้ำมันถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเพิ่มต้นทุนของการขนส่งถึง 40% โดยประมาณ รวมถึงมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในไทย เช่น สหรัฐอเมริกา หรือสหราชอาณาจักรที่ราคาสินค้าพุ่งสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี ขณะที่ประเทศไทยยังอยู่ในสถานะที่ดีกว่าหลายประเทศในโลก ในปี 2564 เฉลี่ยตลอดปี ภาวะเงินเฟ้อของประเทศไทย หรือดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในประเทศไทยเป็นบวกแค่ 1.23% ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าสถานการณ์ในอีกหลายประเทศ 

ในปี 2564 หมวดสินค้าสำคัญของไทย ที่ราคาสูงขึ้นชัดเจน มีเพียงหมวดเดียว คือหมวดการขนส่ง เพราะน้ำมันที่ราคาสูงขึ้นมีผลกระทบ ทำให้เงินเฟ้อเฉพาะหมวดการขนส่งสูงขึ้น 7.74% แต่หมวดที่เหลือลดลงทั้งหมด อาทิ หมวดอาหารเครื่องดื่ม -0.13% หมวดเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า -0.27% เคหสถาน -1.73% การอ่านการศึกษา -0.45% ดังนั้นจะใช้คำว่า 'แพงทั้งแผ่นดิน' ก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่ช่วง ม.ค. 2565 เป็นต้นมา คือช่วงตรุษจีน ที่คนไทยจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้นเป็นประจำแทบทุกปี จึงมีผลกระทบต่อตัวเลขเฉพาะเดือน ม.ค.ให้มีอัตราค่าเงินเฟ้อสูงขึ้น 2.23% อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลกที่ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วจำนวน 19 ประเทศ เห็นได้ชัดว่าประเทศไทยก็ยังต่ำกว่าเกือบจะทุกประเทศ 

ราคาสินส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่ได้สูงมาก ทั้งหมดนี้เกิดจากมาตรการที่ตรงจุดของรัฐบาล รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ สวนเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายการตั้งราคาสินค้าไว้ ทั้งใช้มาตรการอื่น ให้ราคาสินค้าหลายหมวด สามารถตรึงราคาไว้ได้ แม้มีบางตัวปรับขึ้นเช่นหมู แต่หลายตัวก็สามารถปรับลดลงมาภายในเวลาที่รวดเร็ว ทันทีที่มีปัญหาในเดือนมค ต้นได้ขอให้กรมการค้าภายใน ร่วมประชุมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตสินค้าผู้ประกอบการห้างค้าส่งค้าปลีก และเกษตรกร ร่วมมือกันกับกระทรวงพาณิชย์ ประกาศตรึงราคาสินค้าไว้ 18 กลุ่มสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำอัดลม เครื่องใช้ไฟฟ้า ซอสปรุงรส อาหารกระป๋อง ข้าวสารถุง นมและผลิตภัณฑ์จากนม อาหารสัตว์ ปุ๋ย-ยาฆ่าแมลง กระดาษ วัสดุก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ น้ำมันพืช อาหารสด และบริการค้าปลีก-ค้าส่ง 

สำหรับปัญหาราคาไข่ไก่นั้น กระทรวงพาณิชย์สามารถแก้ปัญหาได้ภายใน 3 วัน เริ่ม 9 ม.ค. และคลี่คลาย 11 ม.ค. 2565 ด้วยการตรึงราคาไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.90 บาทต่อฟอง ทำให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ไม่เกิน 3.50 บาทต่อฟอง หรือแผงละ 102-105 บาท ตนได้ตรวจตราราคาสินค้าในหลายพื้นที่ ก็พบว่าราคายังตรงกัน ในยุคนี้ราคาขายแพงสุดก็ยังถูกกว่าหลายยุคที่ผ่านมา ขออนุญาตไม่เอ่ยถึง (สไลด์ฉายข้อความราคาปลีกไข่ไก่เบอร์ 3 ปี 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นช่วงที่ราคาสูงกว่า 3.93 บาทต่อฟอง) 

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันปาล์มขวด ราคาปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาราคาผลปาล์มดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบของการกลั่นน้ำมันปาล์มขวดสำหรับการบริโภค อดีตผลปาล์มราคา โลละ 2-3 บาท แต่จากการบริหารจัดการในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาผลปาล์มสูงขึ้นจนไปแตะ 9-12 บาท เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นมาตรการและความร่วมมือของหลายฝ่าย ประกอบกับโชคช่วยที่ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียขาดแรงงานแทงปาล์มในช่วงโควิด-19 ทำให้ราคาในตลาดโลกสูงขึ้นเนื่องจากราคาปาล์มของ 2 ประเทศนี้ลดลง 

ส่วนปัญหาราคาเนื้อหมูสูงขึ้นนั้น เป็นผลจากกลไกทางการตลาด เมื่อผลผลิตน้อยลง ขณะที่ความต้องการยังเท่าเดิม ราคาจึงเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งช่วง 3-4 เดือนก่อน เกษตรกรพักเล้าพักเลี้ยงเพราะต้นทุนสูงขึ้นไม่คุ้มทุน จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้น 14% และหมูมีชีวิตก็ราคาสูงขึ้น เมื่อหมูขาดตลาด จึงต้องเร่งผลิตหมูเข้าสู่ระบบให้เข้าสู่ภาวะสมดุล ซึ่งอาจใช้เวลา 5-8 เดือน หรือเป็นปี โดยกระทรวงพาณิชย์สามารถคลี่คลายปัญหาได้ภายใน 29 วัน ด้วยมาตรการห้ามส่งออกหมูเป็นการชั่วคราว 3 เดือน พร้อมเช็กสต็อกเพื่อตรวจสอบการกักตุน มีผลให้ราคาหมูลดลงในเวลาอันรวดเร็ว ราคาหมูหน้าฟาร์มลดลงจาก 100-110 บาท เหลือ 94-95 บาท และ ล่าสุดลงไปที่ 90-91 บาท เช่นเดียวกับราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงที่ลดลง 

อีกประเด็นคือราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำ จุรินทร์ กล่าวว่า ช่วงเวลานี้ในภาพรวมต้องถือว่าราคาสินค้าการเกษตรดีขึ้นเกือบทุกตัว ตรงกันข้ามกับความรู้สึกหรือความเข้าใจที่บอกกันว่าราคาตกต่ำจนติดปาก ปัจจุบันราคาข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ขยับสูงขึ้นเกินราคาประกันรายได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด มะพร้าว ล้วนมีราคาดี หากพืชเกษตรตัวใดมีราคา รัฐบาลยังมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรเข้ามาค้ำจุน ซึ่งนโยบายดังกล่าวเอื้อเกษตรกร ไม่ใช่เอื้อนายทุน เพราะรายได้เข้าสู่บัญชีของเกษตรกรโดยตรง ตกหล่นไม่ได้ 

ท้ายสุด จุรินทร์ เผยความคืบหน้ากรณีทุจริตถุงมือยาง 2 พันล้านบาท ว่ามีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัย ว่ามีความผิดกี่คน ต้องลงโทษขั้นไหน สอบสวนแล้วชี้มูลว่ามีคนที่ต้องรับผิด 3 คน ต้องลงโทษทางวินัยโดยให้ไล่ออกทั้งหมด ขณะนี้ไล่ออกไป 2 แล้วเหลือ 1 คนที่ยังไล่ออกโดย อสม. ไม่ได้ เพราะถูกสั่งให้ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ต้องให้สำนักนายกฯ เป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่คณะกรรมการตรวจสอบการละเมิดว่ามีใครเข้าข่ายต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับ องค์การคลังสินค้า (อคส.) บ้าง ได้ปรากฏว่ามีผู้ที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายมากกว่า 3 คน แต่ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ พร้อมส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทางกฎหมายในการชี้ขาดว่าใครต้องจ่ายจำนวนเท่าไหร่ ขั้นตอนเหล่านี้จะดำเนินการต่อไปตามกระบวนการกฎหมาย ส่วนที่เหลือนั้น ป.ป.ช. และ ป.ป.ง. และดำเนินการฟ้องคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่งอยู่ทั้งราชการและเอกชน โดยที่กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถก้าวก่ายได้