นายบุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกและกรรมการบริหารสมัชชาคนจน ฝ่ายกฎหมายแรงงาน และกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ได้เข้าร่วมชี้แจงกับคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Working Group on Business and Human Rights) ณ อาคารเลขาธิการสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา จากปัญหานายจ้างคือ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย (GMTH) จังหวัดระยอง ไม่ให้กลับเข้าทำงาน โดยมีการปิดงานเป็นรายบุคคลในส่วนของสมาชิกสหภาพแรงงาน หลังจากมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้
อีกทั้งนายจ้างงดจ่ายค่าจ้างเป็นเวลากว่า 5 ปี (ตั้งแต่ ก.พ. 2556- ปัจจุบัน) ซึ่งขณะนี้ปัญหายังไม่ได้รับการเหลียวแลแก้ไข คนงานถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
ส่วนการกระทำของนายจ้างยังขัดต่อหลักปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รวมทั้งละเมิดหลักข้อตกลงการลงทุนร่วมระหว่างประเทศ OECD Guidelines และ Global Compact (กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรธุรกิจ) ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ทำข้อตกลงไว้กับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์สได้ประกาศเป็นหลักจรรยาบรรณทางการค้า GM Code Of Conduct
ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมของพนักงานทั้งหมด และเพื่อประโยชน์แก่องค์กรของลูกจ้างที่จัดตั้งมาเพื่อประโยชน์ของพนักงานบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส เพาเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด จึงขอให้บริษัททั้งสองปฏิบัติต่อลูกจ้างทั้งหมดด้วยความเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ ดังนี้
1. ให้บริษัทฯ ทั้งสองรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานในสถานที่ทำงานเดิม และตำแหน่งหน้าที่ และสภาพการจ้างเดิมทุกประการ
2. ห้ามมิให้บริษัทฯ ทั้งสองขัดขวางการดำเนินงานหรือดำเนินกิจกรรมของสหภาพแรงงาน ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม
3. ห้ามมิให้บริษัทฯ ทั้งสองขัดขวางการดำเนินงานโดยการกลั่นแกล้ง การลงโทษ หรือเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นกรรมการและสมาชิกของสหภาพแรงงานฯ ด้วยเหตุผลอันไม่เป็นธรรมอีกต่อไป
4. ให้บริษัทฯ ทั้งสองปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยเคร่งครัด
5. ขอให้คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Working Group on Business and Human Rights) ลงตรวจเยี่ยมสถานประกอบการของบริษัทฯ ทั้งสอง พร้อมทั้งให้ผู้แทนของสหภาพแรงงานเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
ทั้งนี้ สหภาพแรงงานเจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จึงขอร้องเรียนมายังคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้ดำเนินการช่วยเหลือ ให้สมาชิกสหภาพแรงงานฯ ได้รับความเป็นธรรมและให้นายจ้างเคารพกฎหมาย และยุติพฤติกรรมที่เป็นการละเมิดกฎหมายแรงงาน และหลักจรรยาบรรณแรงงานสากล เพื่อไม่ให้พนักงานได้รับความเดือดร้อน และเป็นการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์อันดี ในระบบทวิภาคีที่ยั่งยืนตลอดไป
นายนฤพนธ์ มีเหมือน ประธานสหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย (GMTH) จังหวัดระยอง ระบุว่า แม้สหภาพแรงงานฯ จะได้ยอมถอนข้อเรียกร้องที่ได้ยื่นต่อบริษัทฯ ไปแล้ว แต่สมาชิกสหภาพแรงงานฯ กลุ่มนี้ยังไม่สามารถกลับเข้าทำงานได้ เนื่องจากติดปัญหาจากการปิดงานเป็นรายบุคคลของบริษัทฯ ที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน โดยที่สมาชิกสหภาพแรงงานเคยยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ รับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าเสียหายนับแต่วันที่ 8 พ.ย. 2560 จนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน
แต่ปัจจุบันยังมีพนักงานบางคนที่บริษัทฯ ยังจ่ายเงินให้ไม่ครบถ้วน อีกทั้งยังมีคำสั่งให้พนักงานเข้าไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงาน แต่กลับมีคำสั่งให้พนักงานทั้งหมดไปทำงานที่คลังสินค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งไกลจากจังหวัดระยองและชลบุรี นอกจากนี้ยังปรับลดเงินเดือนพนักงานเหลือเพียงค่าแรงขั้นต่ำสุดเพียง 9,600 บาทต่อเดือน และตัดสวัสดิการที่เคยได้รับทั้งหมด เช่น ไม่มีรถส่ง ไม่มีเบี้ยต่างจังหวัด ไม่จ่ายปรับค่าจ้าง 3 ปี ไม่จ่ายโบนัสผันแปร 3 ปี และไม่มีอาหารกลางวันให้
อีกทั้งเปลี่ยนหน้าที่จากพนักงานประกอบรถยนต์ ต้องถูกปรับลดลงมาเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ทำหน้าที่ขูดสีและทาสีเส้นในคลังสินค้า ซึ่งข้อพิพาทแรงงานดังกล่าวที่ตกลงกันไม่ได้ และนายจ้างงดจ่ายค่าจ้าง
ด้านตัวแทนด้านประชาสัมพันธ์ ของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ ประเทศไทย และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงว่่า จีเอ็ม ได้ปฏิบัติตามกฏหมายต่อกรณีต่างๆตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และยืนยันว่าจะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป โดยยังคงยึดมั่นในการเดินหน้าปฏิบัติตามพันธกิจที่มีภายใต้หลักกระบวนการของกฎหมายอย่างเคร่งครัด