นายชวลิตให้เหตุผล 2 ข้อคือ
1. แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะประกาศกลับไปกลับมาว่า เป็นนักการเมืองบ้าง ไม่เป็นนักการเมืองบ้าง แต่ในความเป็นจริง ที่เป็นทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง มีข้อมูลยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนักการเมืองที่มีตำแหน่งทางการเมือง กล่าวคือ
ใน"ข้อกฎหมาย" พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2538 และ พ.ศ.2550 มาตรา 4(1) บัญญัติให้นายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง จึงเป็นนักการเมืองชัดเจน
ใน"ข้อเท็จจริง" พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะข้าราชการการเมือง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมืองฯ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยทำหน้าที่ทั้งการประชุม ครม. การสั่งราชการและตรวจราชการในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ฯลฯ โดยมิได้ดำเนินการในฐานะส่วนตัว ทั้งยังรับเงินเดือน เงินเพิ่ม เงินประจำตำแหน่ง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ฯลฯ ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการการเมือง ฯ
ดังนั้น ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงถือได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะข้าราชการการเมือง ซึ่งก็คือเป็นนักการเมืองที่มีตำแหน่งทางการเมือง นั่นเอง
2. นอกจากเป็นนักการเมืองตามข้อ 1 พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีสถานะเป็นหัวหน้า คสช. ซึ่งมีอำนาจพิเศษตาม ม.44 อีกด้วย
"ไม่มีที่ไหนในโลก นอกจากประเทศไทย ที่คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน และยังมีอำนาจพิเศษตาม ม.44 ควบคุมประเทศไปจนกว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งจะแล้วเสร็จ มีที่ประเทศไทยประเทศเดียวจริง ๆ แล้วศักดิ์ศรีของประเทศจะอยู่ตรงไหนในเวทีโลก" นายชวลิตระบุ
อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าวด้วยว่า ในการบริหารประเทศที่ผ่านมา มีเรื่องสำคัญทางการเมือง ที่ พล.อ.ประยุทธ์ถูกวิพากษ์และถูกครหาว่า ใช้อำนาจตาม ม.44 เอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุนตน แต่ไม่อาจทำไพรมารีโหวตตาม พรป. พรรคการเมือง ฯ ที่รัฐบาลออกมาเองได้ คสช.จึงออกคำสั่งที่ 53/2560 มาทับ พ.รบ. พรรคการเมือง ฯ ไว้ ทำให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ทั่วไปไม่สามารถปฏิบัติตาม พรป. พรรคการเมืองได้ และต่อมา คสช. ก็ออกคำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 ให้พรรคการเมืองไม่ต้องทำไพรมารีโหวต ตามที่มีการวิพากษ์ วิจารณ์กันไว้ดังกล่าวจริง ๆ
นอกจากนั้น ยังมีการวิพากษ์ วิจารณ์ว่า มีการใช้อำนาจตาม ม.44 ปลดล้อค นายก อบจ.ที่ถูกพักงานเพราะถูกกล่าวหาว่าทุจริตไปแล้ว 1 รุ่น จำนวน 4 คน และมีข่าวปล่อยจากนายก อบจ.ที่ถูกพักงานในพื้นที่ว่า กำลังจะมีการปลดล้อคนายก อบจ. รุ่น 2 - 3 ตามมาอีกเป็นระลอก โดยมีข้อวิพากษ์ วิจารณ์ว่า มีเงื่อนไขของการปลดล้อคนายก อบจ. เพื่อให้ไปช่วยสนับสนุนการเลือกตั้งของฝ่ายรัฐบาล
ทั้งนี้ ไม่นับรวมการมีพลังดูดจากกลุ่มการเมือง และข้าราชการบางส่วนที่กล้าหาญเป็นพลังดูดเพื่อสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอีกต่างหาก
เมื่อการเลือกตั้งมีแนวโน้มว่าจะไม่เสรี และไม่เป็นธรรม ความเชื่อมั่นประเทศ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครจะรับผิดชอบกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
ทั้งหมดทั้งมวลดังกล่าวข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลนี้หมดความชอบธรรมที่จะรักษาการในการจัดการเลือกตั้งร่วมกับ กกต. เพราะมีความไม่เป็นกลางที่สังคมเห็นได้อย่างชัดเจน
การออกมาแก้ตัวของนายวิษณุ เครืองาม รอง นรม.ที่ว่า ที่ผ่านมาฝ่ายบริหารสามารถอยู่ในตำแหน่งบริหาร คือเป็น รัฐมนตรี หรือไปเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง ฯลฯ พร้อมกับเป็นรัฐบาลรักษาการก็มีมาแล้วเป็นปกติ นั้น
คำแก้ต่างส่วนนั้นเป็นเรื่องจริง แต่ไม่ตอบให้หมดว่า ในอดีตไม่มีใครมีอำนาจพิเศษตาม ม.44 อยู่ในมือควบคุมประเทศจนกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จเหมือนรัฐบาลนี้
การกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบกันเกินควร ถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เข้ากับคำพังเพยที่ว่า "ปิดประตูตีแมว" ชัด ๆ
นายชวลิตกล่าวในที่สุดว่า หัวใจสำคัญของการปกครองประเทศ ก็คือ ความสงบสุข ความสามัคคีปรองดองของประชาชนในชาติ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบ้านเมืองมีกติกาที่เป็นธรรม ผู้ปกครองมีความยุติธรรม มีความเป็นกลาง ไม่ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง แต่จากสภาพการณ์ปัจจุบันมองไม่ออกว่าหลังเลือกตั้ง บ้านเมืองของเราจะเป็นอย่างไร เพราะประชาชนเห็นชัดเจนว่ามีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นจริง จึงได้แต่ภาวนาว่า ทำอย่างไรบ้านเมืองจะสงบร่มเย็น ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ซึ่งตนได้ให้ข้อคิดครั้งนี้ไว้ด้วยความสุจริตใจ ไม่มีอคติส่วนตน ก็ขอฝากสังคมช่วยกันคิด ทำอย่างไร หลังการเลือกตั้งบ้านเมืองจะสงบสุขดังกล่าว ซึ่งเท่าที่ฟังมา ควรมีรัฐบาลที่เป็นกลางมารักษาการจัดการเลือกตั้งร่วมกับกกต. เท่านั้น ประเทศถึงจะเดินหน้าไปได้