ในที่สุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ก็ครบทั้ง 7 คน โดยว่าที่ใหม่ถอดด้าม ทั้ง 7 กกต. ประกอบด้วย ลองมาดูว่าใครเป็นใครมาจากไหนกันบ้าง
เริ่มจากคนแรก เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ อายุ 61 ปี ที่ได้รับเลือกเป็นว่าที่กกต. มาจากสายการศึกษา การศึกษา ศิลปศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) มหาวิทยาลัยรามคำแหง รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เคยเป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อาจารย์วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นอาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
นอกจากนี้ เรืองวิทย์ เคยขึ้นเวทีสัมมนา “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ภาคพิเศษ ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในนามนักวิชาการ เมื่อครั้งเริ่มขับไล่รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ในเดือนมีนาคม 2551 ด้วย และเป็นเจ้าของ วลีเด็ดที่กล่าวถึงคนอีสานเกี่ยวกับการเลือกตั้ง คือ เงินไม่มากาไม่เป็น
คนที่สอง ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเป็นที่รู้จักด้วยผลงาน การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ที่สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมาและมีการสู้ราคากันข้ามวันข้ามคืนพลิกประวัติศาสตร์การประมูลของประเทศไทย ซึ่งเงินจากการประมูลทั้งหมดนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินเกินกว่า 8 หมื่นล้านบาทเศษ
เคยเป็นนักศึกษาหลักสูตรวิทยาลัยตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 8 รุ่นเดียวกันกับ กิตติรัตน์ ณ ระนอง, ธงทอง จันทรางศุ, จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี, นวลพรรณ ล่ำซำ ซึ่งถือว่า รุ่นนี้มีคนมีชื่อเสียงและอยู่ในแวดวงการเมืองหลายคน
คนที่ 3 อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ถือเป็นคนที่คลุกคลีอยู่ในวงการศึกษาอีกคนหนึ่ง จบการศึกษาปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
จากนั้นสอบชิงทุนรัฐบาลระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกแล้ว ได้กลับมารับราชการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
และได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ก่อนขยับเป็นรองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา จากนั้นได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้จัดการโครงการเงินกู้ธนาคารโลก สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอีกตำแหน่งหนึ่ง
คนที่4 ชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท วรวิสิฏฐ์ จำกัด และหัวหน้าสำนักงานกฎหมายสุธีรชาติ เป็นทนายความ จบนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
เข้าทำงานเป็นหัวหน้าสำนักงานกฎหมายรัตนากร หัวหน้าสำนักงานกฎมายสุธีรชาติ หุ้นส่วนผู้จัดการในบริษัทต่างๆ เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้ทางกฎหมายให้แก่ประชาชน ในคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สนช. ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท วรวิสิฏฐ์ จำกัด และหัวหน้าสำนักงานกฎหมายสุธีรชาติ
คนที่5. ประชา เตรัตน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี เป็นอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผ่านตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นราธิวาส และสุราษฎร์ธานี และผู้ตรวจราชการกระทรวง ปัจจุบันเป็นคณะทำงาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มท.1 รมว.มหาดไทย และก่อนหน้านี้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปท.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ
ส่วนตัวแทน กกต.สายศาล ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเคาะแล้ว 2 คน ประกอบด้วย
คนที่1.ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา ที่ได้รับเลือกจากที่ประช���มใหญ่ศาลฎีกาเมื่อ 17 พ.ย.ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น และเป็นเต็งหนึ่งประธาน กกต.คนใหม่
คนที่2. ปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เคยดำรงตำแหน่งต่างๆ เช่น อดีตรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4, อดีตอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 (ภาคอีสานตอนบน) และปัจจุบันยังได้รับเลือกเป็นหนึ่งในอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) ในศาลฎีกา (วาระ 2559-2561)