เพราะยิ่งชี้แจง ก็ยิ่งสัมผัสได้ว่า กองทัพไทยต้องการที่จะมี “ดาวเทียม” ของตัวเองอยู่จริงๆ
ในปัจจุบัน กระทรวงกลาโหมเช่าใช้บริหารดาวเทียมอยู่ 2 ดวง ด้วยภารกิจที่แตกต่างกัน คือ 1) ดาวเทียมสื่อสาร Thaicom ของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในเครือชินคอร์ป ที่กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2564 จนเป็นสาเหตุให้ต้องรีบหาดาวเทียมอื่นมาทดแทน และ 2) ดาวเทียมสำรวจ THEOS ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ซึ่งภารกิจหลักคือการถ่ายภาพถ่ายทางอากาศ
ข่าวเรื่องดาวเทียม THEIA (ออกเสียงว่า “เธ-เออ” ไม่ใช่ “ไธ-อา”) หลุดออกมา เมื่อไปปรากฏในเอกสารวาระการประชุมสภากลาโหม ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2561 นำไปสู่การสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ที่ยอมรับว่า กระทรวงกลาโหม “อยากมีดาวเทียมของตัวเอง” จริงๆ
ภายใต้แผนที่ชื่อว่า ร่างยุทธศาสตร์กิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2561-2570
พล.ท.คงชีพยังย้ำว่า กองทัพต้องการเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นเพียง user มาเป็น operator หรือเป็น “เจ้าของดาวเทียม” เอง แม้เรื่องเงินทุนยังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะออกเองทั้งหมด 100% ร่วมสร้างกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ หรือร่วมสร้างกับเอกชน
และเมื่อถูกนำไปผูกโยงกับเหตุการณ์ก่อนหน้า ที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ และ รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ไปเจอกับผู้บริหารของบริษัททำดาวเทียมจากสหรัฐฯ THEIA Group ถึง 2 ครั้งภายในปีนี้
พร้อมกับมีการลงนามในเอกสาร 3 ฉบับต่อเนื่องกัน ระหว่างปลายปี 2560 – ต้นปี 2561 คือ หนังสือรับทราบ LOA (Letter of Acknowledge) หนังสือแสดงความจำนง LOI (Letter of Intent) และหนังสือยืนยัน LOC (Letter of Confirm)
ศรีสุวรรณจึงจับเรื่องราวที่พอจะมีมูลอยู่บ้าง มาผูกโยงกันเป็นเรื่องราว ก่อนจะออกมาแฉว่า กระทรวงกลาโหมเตรียมจัดซื้อ “ดาวจารกรรม” มาใช้เพื่อสอดแนมประชาชน?
แม้ พล.ท.คงชีพและ พล.อ.ธารไชยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จะประสานเสียงปฏิเสธว่า “ไม่เป็นความจริง” ก็ตาม
ด้านเว็บไซต์นำเสนอข่าวสารด้านอวกาศ SPACETH.CO ก็ตั้งข้อสังเกตว่า หากเป็นบริษัทที่ทำกิจการเกี่ยวกับดาวเทียม ชื่อ THEIA Group ไม่เพียง “ไม่เป็นที่รู้จัก” ในวงการ หากเทียบกับ Boeing, SpaceX, Lockheed Marin ฯลฯ ตัวบริษัทเองก็ยังใหม่มาก โดยเพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2015 และไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำและส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศมาก่อน
ขณะที่คุณสมบัติของดาวเทียม ที่บริษัทของสหรัฐฯ THEIA Group นำเสนอบนหน้าเว็บไซต์ ก็ยังบอกว่าเป็นดาวเทียมสื่อสารที่ถ่ายรูปได้
และหากสเปกดาวเทียมที่กระทรวงกลาโหมไทยต้องการ เป็นอย่างที่ศรีสุวรรณอ้าง คือถ่ายรูปได้ 50 เซนติเมตรในทุกๆ วินาที แต่ปัจจุบัน เว็บไซต์ Google ได้ใช้ดาวเทียมที่ถ่ายรูปได้ 30 เซนติเมตรในทุกๆ วินาทีแล้ว
“เราจึงจะไม่ได้ดาวเทียมสอดแนมมาสอดส่องคนในประเทศแน่ เพราะคุณภาพมันแอบห่วยกว่าภาพของ Google เสียด้วยซ้ำ”
เว็บไซต์ข่าวสารด้านอวกาศนี้ ยังตั้งคำถามว่า จำเป็นแค่ไหนที่กระทรวงกลาโหมจะต้องมีดาวเทียมของตัวเอง? เพราะขนาดบริษัทเอกชนที่ทำงานในกิจการอวกาศโดยตรงบางบริษัทก็ยัง “ไม่มีดาวเทียมของตัวเอง” แม้แต่ดวงเดียว แต่กลับมาสามารถดีลกับผู้เกี่ยวข้อง จนให้บริการได้ดีกว่าเจ้าของดาวเทียมเองเสียอีก
คุ้มค่าแค่ไหน ที่จะต้องนำเงินกว่า 2,850 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 9.12 หมื่นล้านบาท ไปใช้กับโปรเจ็กต์เช่นนี้
กล่าวโดยสรุป สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ก็คือ
- กระทรวงกลาโหมอยากได้ดาวเทียมของตัวเองจริงๆ ผู้เกี่ยวข้องได้ไปพบและลงนามในเอกสารต่างๆ กับบริษัท THEIA Group มาแล้ว แม้จะยังไม่ใช่การทำสัญญา เป็นเพียงการลงนามว่าจะร่วมกันศึกษาและพัฒนา
- บริษัท THEIA Group ถือว่า “โนเนม” มากในกิจกรรมดาวเทียมหรืออวกาศ ที่สำคัญคือ “ไม่มีประสบการณ์” ในการทำและส่งดาวเทียมขึ้นสูงอวกาศสำเร็จมาก่อน
- แม้จะยังมีข้อสงสัยเรื่องวัตถุประสงค์ ประสิทธิภาพ และราคาทั้งหมดของดาวเทียมตามที่ถูกเปิดเผย แต่ถ้ามีการจัดซื้อกันจริงๆ เงินที่ใช้ย่อมเป็นหลักหลายหมื่นล้านบาท เพราะดาวเทียมนั้นแพงกว่าเรือดำน้ำอยู่แล้ว
ฯลฯ
ข้อมูลจากการแฉของศรีสุวรรณ แม้บางส่วนจะชวนให้ถูกตั้งคำถาม (จนเป็นช่องโหว่ที่ พล.อ.อ.ประจินเตรียมนำไปฟ้องร้องดำเนินคดี) แต่ความสำคัญของมันก็คือช่วยเปิดประเด็นใหม่ๆ ให้สาธารณชนหันมาสนใจการดำเนินงานต่างๆ ของภาครัฐ ร่วมกันตรวจสอบ เพื่อปกป้องสิทธิและเงินภาษีของทุกๆ คน
เพราะต่อให้ ดาวเทียม THEIA ไม่ได้ทำมาเพื่อสอดส่องประชาชนจริงๆ ถึงวันนี้เราก็ถูกผู้มีอำนาจสอดส่องพฤติกรรมอยู่แล้ว ไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง