ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน ป.ป.ช. ห่วงการจ่ายสินบนผ่านโครงการที่เกี่ยวข้องโครงสร้างพื้นฐาน ชี้จ่ายสินบนร้อยละ 15 เท่ากับผลาญงบฯกว่าแสนล้านบาท แนะบริษัทเอกชนออกกฎเข้มป้องกันให้สินบน จนท.รัฐ ด้านทูตออสเตรเลีย ชี้เงินสินบนอาจนำไปสู่การค้ามนุษย์ - อาชญากรข้ามชาติ

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการจ่ายสินบนว่า ป.ป.ช. อยากเห็นความร่วมมือจากภาคเอกชน เพราะในมิติของภาคเอกชนคือผู้ให้สินบน หากสามารถแก้ไขปัญหาในส่วนของภาคเอกชนได้ ก็จะไม่มีผู้ให้สินบนเกิดขึ้น เมื่อไม่มีผู้ให้สินก็จะไม่มีผู้รับสินบน โดยเฉพาะผู้รับสินบนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

ป.ป.ช.จึงออกมาตรการด้วยการกำหนดความรับผิดชอบของนิติบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนมีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ มีกลไกไม่ให้คนของภาคเอกชนติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ หรือนักการเมือง ถ้าประสบความสำเร็จจะส่งผลให้ประเทศต่างๆอยากเข้ามาลงทุนในไทย เพราะไม่ต้องจ่ายสินบน และสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม อีกทั้งยังทำให้ภาคธุรกิจของไทยเกิดความเข้มแข็ง อันจะส่งผลต่อการลงทุนและการเข้าไปแข่งขันของไทยในต่างประเทศ ให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น

ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ยอมรับว่า ยังห่วงใยถึงตัวเลขการจ่ายสินบนของผู้ประกอบการผ่านโครงการก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ที่ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน แม้ตัวเลขการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐจะลดลงจากปี 2557 คือจาก 30% เหลือเพียง 5-15% แต่ก็ยังถือว่าเป็นจำนวนตัวเลขที่สร้างความเสียหายจำนวนมากอยู่ดี การจ่ายสินบน15% ก็เท่ากับความเสียหายกว่าแสนกว่าล้าน 

ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ยังยอมรับด้วยว่า การกำหนดให้การทำคดีของป.ป.ช.ที่ต้องเสร็จสิ้นภายใน 2-3ปี สร้างความกดดันให้กับเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ในการทำงาน ถือเป็นกรอบเวลาที่เร่งรัดการทำงานให้เร่งสะสางคดี แต่ถึงแม้จะเร่งทำก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความครบถ้วนสมบูรณ์ของพยานหลักฐานด้วย ซึ่งปัญหาขณะนี้คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเรื่องค้างเก่าจำนวนมาก ทำให้ในช่วง 2-3ปีจากนี้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานหนักขึ้น หรือหนักขึ้นกว่าเดิม 2-3 เท่า โดยเฉพาะเรื่องใหม่ที่จะเข้าระบบการบังคับให้ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 2-3ปี ซึ่งป.ป.ช.มีเรื่องไต่สวนที่ค้างอยู่ 2,700 เรื่อง เรื่องที่ต้องแสวงหาข้อเท็จจริง 14,000 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าเรื่องใหม่ๆที่จะเข้ามาสู่ ป.ป.ช. เมื่อการทำงานของป.ป.ช.มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามแนวทางใหม่ จะเป็นการป้องปรามคนไม่ให้กระทำความผิด ซึ่งแต่ก่อนเมื่อทำผิดแล้ว ต้องใช้เวลา 10-15 ปี คดีจึงจะขึ้นศาล แต่ปัจจุบันนี้อาจจะต้องขึ้นศาลเร็วขึ้น โดยหลังกระทำผิด คดีจะขึ้นสู่ชั้นศาลภายใน 2-3ปีเท่านั้น

ปปช วัชรพล 9.jpg

ประธาน ป.ป.ช. แนะเอกชนออกมามาตรการป้องกันให้สินบน จนท.รัฐ

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังจัดสัมมนา "มาตรการที่มีประสิทธิภาพสำหรับภาคธุรกิจเอกชนในการต่อต้านการให้สินบน" ร่วมกับสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) หน่วยงาน American Bar Association (ABA) และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) 

โดยพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การให้สินบนไม่ได้เป็นเพียงปัญหาภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงการให้สินบนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้นานาชาติ โดยเฉพาะประเทศที่มีบทบาททางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของโลก ต่างให้ความสำคัญกับการต่อต้านการให้สินบนเพื่อให้การค้า การลงทุนเป็นไปอย่างโปร่งใสและเท่าเทียม

โดยมาตรการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้และได้รับการยอมรับว่าเป็นมาตรการต่อต้านสินบนที่มีประสิทธิภาพ คือการส่งเสริมให้นิติบุคคลมีมาตรการควบคุม ดูแลการจัดการภายในองค์กรของตนเอง เพื่อป้องกันมิให้มีการให้สินบนเพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจ

โดยใน พ.ร.บ. ป.ป.ช.ฉบับใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2561 ในมาตรา 176 ยังคงหลักการสำคัญของกฎหมาย คือการกำหนดความรับผิดชอบของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนมีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมในการป้องกันการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ โดยได้ออกคู่มือมาตรการ 8 ประการที่นิติบุคคลควรนำไปใช้เพื่อป้องกันการให้สินบน

Mr.Paul Robilliard เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ระบุว่า ในออสเตรเลียต้องทำงานในการต่อสู้กับการคอร์รัปชั่น เพราะเงินที่เกิดขึ้นจากการให้สินบน จะนำไปสู่ขบวนการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งออสเตรเลียได้กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยร่วมมือกับภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

เลขาฯ ก.ล.ต. รับบริษัทใหญ่อาจเป็นต้นทางจ่ายสินบนได้

จากนั้นเป็นการอภิปรายในหัวข้อ "การส่งเสริมให้ภาคเอกชนประกอบธุรกิจอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล" โดยนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. ระบุว่า ในฐานะที่ต้องดูแลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กว่า 700 บริษัท ซึ่งมูลค่ากว่า 16.5 ล้านล้านบาท ซึ่งบริษัทเหล่านี้ถือเป็นยักษ์ใหญ่ อาจเป็นต้นทางของการจ่ายสินบน ดังนั้น ก.ล.ต.จึงต้องกำกับดูแลให้บริษัทเหล่านี้ทำธุรกิจที่มีความโปร่งใส ไม่ดำเนินธุรกิจที่นำไปสู่การคอร์รัปชั่น 

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นการควบคุมได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะหากขาดความเกรงกลัวกฎหมาย การคอร์รัปชั่นก็ยังคงเกิดขึ้น ดังนั้นจึงต้องอาศัยความยับยั้งชั่งใจ และความตระหนักรู้ของผู้ประกอบการเอง ที่จะมีส่วนสำคัญในการแก้ไขและลดปัญหาการจ่ายสินบน

ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ระบุว่า หัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่น คือการมีธรรมาภิบาล ซึ่งมีความสำคัญทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน โดยในส่วนของภาคเอกชนนั้น คณะกรรมการบริษัทถือเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องได้รับการปลูกฝังให้เกิดแนวคิดการทำงานที่มีธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง 

ซึ่งหากกรรมการบริษัทใดสามารถกำกับดูแลบริษัทของตนเองให้เป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี ไม่มีการจ่ายสินบนที่นำไปสู่การคอร์รัปชั่นได้ ย่อมส่งผลให้บริษัทนั้นมีธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งภาคธุรกิจมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบ โดยภาคธุรกิจจะต้องมีแนวความคิดที่จะไม่รับ และไม่จ่ายสินบน