ภาคภูมิ แสงกนกกุล นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ระบบสาธารณสุขในประเทศไทย มีความเหลื่อมล้ำอยู่ 3 ด้าน คือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบประกันสุขภาพ, ความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงพยาบาลรัฐกับเอกชน และความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท
1. ความเหลื่อมล้ำในระบบประกันภาคบังคับที่มีอยู่ 3 ประเภทคือ กองทุน 30 บาทรักษาทุกโรค, ระบบประกันสังคม, และสวัสดิการข้าราชการ
1) โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีผู้ใช้บริการอยู่ประมาณ 40 - 50 ล้านคน ให้สิทธิประโยชน์กับผู้ป่วยนอกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพียง 30 บาท และผู้ป่วยในรักษาฟรี โดยมีงบประมาณต่อหัว 3,000 บาท มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลงบประมาณแบบปิด ครอบคลุมการเบิกจ่ายยาตามบัญชียาหลัก แต่ข้อเสียคือการต้องเข้ารักษากับโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญา ไม่สามารถรักษาข้ามโรงพยาบาลได้ และไม่ครอบคลุมโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่อยู่นอกคู่สัญญา ซึ่งมีปัญหาสำคัญคือมีจำนวนผู้ป่วยมาก ทำให้ต้องรอคิวนาน
2) ระบบประกันสังคม มีผู้ใช้บริการประมาณ 15 ล้านคน ซึ่งเป็นพนักงานเอกชนที่มีความเสี่ยงเกิดโรคน้อยกว่าประชาชนทั่วไป ใช้สิทธิ์รักษาได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยมีสำนักงานประกันสังคมดูแลงบประมาณ มีเพดานการเบิกจ่ายประมาณ 3,000 บาทต่อคน ซึ่งควบคุมค่าใช้จ่ายได้ยาก และหากค่ารักษาพยาบาลเกิน ผู้ป่วยต้องจ่ายเพิ่มเอง
3) สวัสดิการข้าราชการ มีผู้ใช้บริการ 4.8 ล้านคน ซึ่งมีความเสี่ยงเกิดโรคต่ำสุด มีสิทธิการรักษาดีที่สุด สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ แต่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อนแล้วกรมบัญชีกลางค่อยจ่ายให้ย้อนหลัง งบประมาณต่อหัว 12,000 บาท ซึ่งการคลังแบบปลายเปิด ทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ยาก แต่ครอบคลุมยาราคา และการบริการที่ราคาแพง
การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนมีหลายข้อเสนอ อาทิ การยุบรวมให้เหลือกองทุนเดียว, เพิ่มการแข่งขันระหว่าง 3 กองทุน โดยมีความพึงพอใจของประชาชนเป็นตัวชี้วัด, การเก็บเบี้ยประกันจากข้าราชการ เพราะปัจจุบันข้าราชการไม่ได้มีรายได้น้อยเหมือนอดีต เฉลี่ย 40,000 บาทต่อครอบครัว ขณะที่ครอบครัวทั่วไป 32,000 บาท ดังนั้นข้าราชการควรมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลด้วย
2. ความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน ทั้งเรื่องจำนวนของแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐที่ไม่เพียงพอต่อคนไข้ และนโยบายของโรงพยาบาลที่ไม่ตอบโจทย์ประชาชน
แพทย์ในระบบจำนวนมากมักออกไปอยุ่โรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากค่าตอบแทนที่มากกว่า, ระบบราชการที่ไม่เอื้อต่อการทำงานของแพทย์, การเติบโตในสายงานไม่เพียงพอ, หรือแพทย์ต้องย้ายถิ่นฐานเพราะถูกบังคับให้ไปใช้ทุนในต่างจังหวัด ดังนั้นรัฐบาลอาจต้องแก้ไขและจัดหาปัจจัยที่ทำให้แพทย์อยู่ในระบบได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะจุดเริ่มต้นของการมีโรงพยาบาลเอกชน คือแบ่งเบาภาระ และอุดรอยรั่วของโรงพยาบาลรัฐ แต่ปัจจุบันธุรกิจโรงพยาบาลกลับเฟื่องฟู และขึ้นราคารักษาพยาบาลสูงขึ้นโดยไม่มีการแทรกแซงจากรัฐบาล
ตลาดของโรงพยาบาลเอกชนเติบโตขึ้น 1 แสนล้านบาท และมีกำไร 4 หมื่นล้านบาท แต่กำไรส่วนใหญ่เข้ากระเป๋ากลุ่มทุนรายใหญ่ ไม่ได้เข้ากระเป๋าแพทย์หรือผู้บฏิบัติงาน ซึ่งกำไรส่วนต่างเหล่านั้นควรเก็บมาพัฒนาสังคม หรือทำโครงการส่งเสริมสุขภาพ โดย 6 กลุ่มทุน ที่ผูกขาดตลาดสุขภาพไทย และกว่านซื้อโรงพยาบาลขนาดกลางและเล็ก ได้แก่ เครือโรงพยาบาลมหาชัย โดย นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธาน ทีซีซี กรุ๊ป, โรงพยาบาลวิมุติ โดย บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง, เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ-พญาไท-สมิติเวช-เปาโล โดย นพ. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ, เครือโรงพยาบาลพญาไท โดยตระกูลทองแตง, กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี โดย นพ. บุญ วนาสิน, และกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ โดย นพ. เฉลิม หาญพาณิชย์
การแก้ปัญหา คือ รัฐบาลต้องเข้าแทรกแซงเพื่อควบคุมราคาค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน หรือใช้บริษัทประกันเป็นตัวกลางในการต่อรอง ซึ่งปัญหาต่อมาก็คือ บริษัทประกันเอกชนทั้งหมดเป็นบริษัทแสวงหากำไร ดังนั้นต้องสร้างระบบประกันใหม่ที่ไม่แสวงหากำไรที่ใช้ระบบปลายปิด คือซื้อประกันแล้วไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม และได้รับการงดเว้นภาษีจากภาครัฐ
ต่อมาคือการกระจายอำนาจด้านการคลังและบุคคลาการ ให้โรงพยาบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจ โดยไม่ต้องรอคำสั่งและงบประมาณจากด้านบนอย่างเดียว เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ทันท่วงที เช่น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว
3. ความเหลื่อมล้ำระหว่างเขตเมืองและชนบท เนื่องจากงบประมาณและบุคลากร ต่างกระจุกตัวในโรงพยาบาลเขตเมือง
ทั้งนี้ นายภาคภูมิ มองว่า ทุกคนควรได้รับการรักษาที่เหมือนกัน และระบบประกันสุขภาพก็เป็นระบบที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันด้วยการจ่ายภาษี
"ไม่ว่าคนจนหรือคนรวยต้องการได้รับการรักษาที่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าคนรวยต้องจ่ายเงินช่วยเหลือคนจนมากกว่า เพราะว่าคนรวยมีรายได้สูงกว่า คนแข็งแรงต้องช่วยเหลือคนที่ป่วย เพราะว่าคนแข็งแรงถึงแม้จะไม่ได้ใช้การศึกษา เขาก็ต้องจ่ายภาษี หลักการนี้มีไว้เพื่ออะไร เพื่อบอกว่าคนทุกคนในสังคม เราอยู่ด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ เราต้องอยู่ร่วมกัน มีความสมานฉันท์ร่วมกันและกัน ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน"
อย่างไรก็ตาม นายภาคภูมิ เสนอว่า กองทุน 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นเพียงหลักประกันที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาล แต่ในการป้องกันโรค หรือการสร้างเสริมสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมประชาชน อยู่นอกเหนือปัจจัยทางการรักษาพยาบาล เช่น วัคซีน, การคัดกรองโรค, หรือการให้ความรู้ประชาชน ฯลฯ ดังนั้นจึงต้องใช้อำนาจการปกครองท้องถิ่นมาดำเนินการ ไปพร้อมกับแพทย์ และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมด้วยกันเพราะการทำให้คนมีสุขภาพดีโดยการรักษาอย่างเดียว คือ การลงทุนที่สูงและไม่คุ้มค่า
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องหาทางออกระหว่างการเข้าแทรกแซงระบบสาธารสุขเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ กับการปล่อยให้เอกชนดำเนินการ โดยได้รับฉันทามติจากทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างยั่งยืน