ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E. coli) ทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างเข้มข้น ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พบการติดเชื้ออีโคไลชนิดรุนแรง

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีรายงานว่าสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากเชื้ออีโคไลชนิดรุนแรง โดยย้ำว่าในส่วนของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของเชื้ออีโคไล (E. coli) ทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เข้มข้นและต่อเนื่อง ในขณะนี้ไทยยังไม่พบการติดเชื้ออีโคไลชนิดรุนแรงแต่อย่างใด 

ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบเฝ้าระวังและตรวจจับโรคของประเทศไทย โดยอย่าตื่นตระหนกกับเรื่องดังกล่าว แต่ขอให้ตระหนักและป้องกันตนเอง เนื่องจากประเทศไทยมีการนำเข้าผักจากต่างประเทศน้อย เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม สามารถผลิตพืชผักบริโภคเองได้ตลอดปี และขอให้ประชาชนติดตามรับฟังข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการหรือหน่วยงานที่เชื่อถือได้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำได้อย่างถูกต้อง   

ในเรื่องดังกล่าวนี้ ประเทศไทยมีการดูแลใน 2 ส่วน คือ 1.การดูแลอาหารปลอดภัยภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในผัก ผลไม้หรืออาหารประเภทต่างๆ และ 2.การเฝ้าระวังโรค ซึ่งมีกรมควบคุมโรค เป็นหน่วยงานหลักในการเฝ้าระวัง ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน ที่มีระบบดูแลการเจ็บป่วยทั้งในชุมชนและในโรงพยาบาล หากพบการเจ็บป่วยต้องสงสัยจะมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ลงพื้นที่ตรวจสอบ เฝ้าระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยกลุ่มโรคอาหารเป็นพิษ และอุจจาระร่วง เป็นต้น  

สำหรับเชื้ออีโคไลในไทยที่มีการพบเชื้อเหมือนกัน แต่ต่างกันที่ตัวเชื้อบางตัว ซึ่งความรุนแรงของผู้ที่รับเชื้ออีโคไล จะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เช่น ปริมาณของเชื้อ หรือผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เป็นต้น ส่วนอาการของผู้ที่ได้รับเชื้อีโคไล อาจมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวปนมูกเลือด ปวดเกร็งท้อง อาเจียน หากประชาชนมีอาการดังกล่าวข้างต้น ให้ดื่มน้ำสารเกลือแร่ (ORS) ทดแทน และหากภายใน 48 ชั่วโมงอาการยังไม่ดีขึ้น มีอาการท้องร่วงรุนแรง หรือมีอาการปวดเกร็งท้องร่วมกับถ่ายปนมูกเลือด ขอให้รีบพบแพทย์ทันที 

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า วิธีการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร คือการปรุงสุกผ่านความร้อน โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ความร้อนจะทำลายเชื้อโรค รวมทั้งไข่พยาธิที่อาจปนเปื้อนอยู่ในอาหารได้ ส่วนผู้บริโภคผักสด โดยเฉพาะผักสลัดหรือผักจิ้มน้ำพริก ขอให้ล้างผักก่อนด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ผักที่เป็นกาบเป็นหัว เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ให้ลอกเปลือกชั้นนอกทิ้งไป และแกะกลีบหรือใบออกจากต้น คลี่ใบระหว่างการล้างเพื่อให้น้ำผ่านได้ทั่วถึง ควรล้างผ่านน้ำไหลนานประมาณ 2 นาที จะช่วยลดการปนเปื้อนทั้งเชื้อโรค สารพิษตกค้าง รวมทั้งพยาธิได้ ส่วนวิธีป้องกันโรคอุจจาระร่วง ขอให้ประชาชนยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” และถ่ายอุจจาระลงส้วมทุกครั้ง 

ขอบคุณภาพ : Photo by @Shot-through-the-heart on Unsplash