นิกเกอิ เอเชี่ยน รีวิว รายงานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมตัวเสนอราคาประมูลขายระบบเรดาร์ป้องกันภัยทางอากาศให้ไทย หลังสภาความมั่นคงแห่งชาติของญี่ปุ่น อนุญาตให้บริษัทมิตซูบิชิ อิเล็กทริค รับผิดชอบกระบวนการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีระบบเรดาร์ป้องกันภัยทางอากาศ FPS-3 ให้ตรงตามเป้าหมายการส่งออก
นอกจากนี้ มิตซูบิชิ อิเล็กทริค จะเป็นผู้รับผิดชอบการยื่นเรื่องเสนอราคาประมูลขายระบบเรดาร์ให้กับกองทัพอากาศไทยไม่เกินสิ้นเดือน มี.ค. โดยคาดว่าจะมีบริษัทจากสหรัฐอเมริกาและประเทศแถบยุโรปเข้าร่วมเสนอราคาด้วย และทางการไทยน่าจะประกาศผลประมูลได้ประมาณเดือน พ.ค.
สื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจของญี่ปุ่นรายงานเพิ่มเติมว่าหากการประมูลประสบความสำเร็จ ญี่ปุ่นจะมีโอกาสได้ส่งออกเทคโนโลยีด้านความมั่นคงที่ผลิตเองเป็นครั้งแรก และคาดว่ากองทัพอากาศไทยจะนำระบบดังกล่าวไปติดตั้งทางภาคเหนือเพื่อทดแทนระบบเรดาร์รุ่นเก่า
ด้านมิตซูบิชิ อิเล็คทริค ประเมินว่าทางการไทยอาจสั่งซื้อระบบเรดาร์อย่างน้อย 10 ชุด ซึ่งทางบริษัทพร้อมจะปรับระบบเตือนภัยและการป้องกันภัยให้มีฟังก์ชันการใช้งานตามที่กองทัพไทยต้องการ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการผลิตชุดละ 1,000-2,000 ล้านเยน (ราว 284-589 ล้านบาท)
แม้บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นพัฒนาระบบเรดาร์มาตั้งแต่ปี 2531 แต่รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งปรับแก้รัฐธรรมนูญเมื่อปี 2557 เพื่อผ่อนผันข้อความที่เคยห้ามกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นพัฒนาเทคโนโลยีด้านความมั่นคง โดยนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้เหตุผลต่อที่ประชุมสภาไดเอ็ทว่าประเทศชาติจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการแผ่ขยายอำนาจของจีนในน่านน้ำทะเลจีนใต้ และการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในทะเลญี่ปุ่น
ก่อนหน้านี้ในเดือน ธ.ค.2559 สำนักข่าวรอยเตอร์เคยรายงานเช่นกันว่า โยชิยูกิ ซุงิยามะ ประธานเสนาธิการทหารของญี่ปุ่น ได้เดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อเข้าพบตัวแทนกองทัพและรัฐบาลไทย และหารือลู่ทางเสริมสร้างความร่วมมือทางทหารกับไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายระดับประเทศของญี่ปุ่นที่จะเพิ่มบทบาทของตนเองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงให้สัมภาษณ์รอยเตอร์โดยระบุว่า ญี่ปุ่นจะต้องร่วมมือกับประเทศพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ เพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของจีนในภูมิภาค และการยื่นข้อเสนอเรื่องการพัฒนาและประมูลระบบเรดาร์ของญี่ปุ่นและไทยเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่กองทัพไทยตกลงใจซื้อเรือดำน้ำจากจีน 3 ลำ มูลค่าประมาณ 36,000 ล้านบาท
ส่วนบริษัทมิตซูบิชิ อิเล็กทริค อยู่ในเครือเดียวกันกับบริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรีส์ ผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งตกเป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อปีที่แล้ว กรณีปลอมข้อมูลผลิตภัณฑ์ซึ่งถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องบิน ดาวเทียม รถไฟ และอื่นๆ จนส่งผลกระทบอย่างหนักต่อความเชื่อมั่นในธุรกิจญี่ปุ่น
อ่านเพิ่มเติม: