ไม่พบผลการค้นหา
องค์การจัดการน้ำเสีย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีแม่น้ำอยู่ในขั้นเสื่อมโทรม 11 แห่ง จาก 52 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา-ท่าจีนตอนล่าง เสื่อมโทรมหนักสุดสะสมมายาวนาน ขณะที่การบำบัดน้ำเสียทำได้เพียงวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น

นายชีระ วงศบูรณะ รักษาการผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีน้ำเสียประมาณ 9.5 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่ประเมินจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั่วประเทศ 7,353 แห่ง พบว่า จัดการน้ำเสียได้เพียงวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ส่วนอีก 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ไม่มีระบบกำจัดน้ำเสียรองรับ แต่บางส่วนธรรมชาติช่วยบำบัดด้วยตัวเอง และบางส่วนมีระบบบำบัดน้ำเสียติดตั้งอยู่ภายในตัวอาคารอยู่แล้ว จึงเหลือน้ำเสียปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติลดลง

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจน้ำเสียของกรมควบคุมมลพิษในช่วงปีหลัง พบว่าบริเวณแหล่งน้ำจืด แหล่งน้ำสำคัญ และแม่น้ำสายต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 52 แห่ง พบว่า มีแม่น้ำอยู่ในขั้นเสื่อมโทรม 11 แห่ง แต่มีแนวโน้มการพัฒนาที่ดีขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากการสำรวจแม่น้ำทั้ง 11 แห่งดังกล่าวเกิดการเน่าเสียหรือเสื่อมโทรมบางส่วน เช่น ตอนบน ตอนกลาง หรือตอนล่าง ไม่ได้เสื่อมโทรมทั้งแม่น้ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจหาจุดที่เกิดการเสื่อมโทรมเพื่อเข้าไปบำบัดน้ำเสีย จะช่วยให้การดูแลน้ำเสียในภาพรวมของประเทศดีขึ้น 

ทั้งนี้ จุดเกิดน้ำเสียและเสื่อมโทรมมากที่สุดก่อนปล่อยออกสู่อ่าวไทยยังคงเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา-ท่าจีนตอนล่างที่เกิดความเสื่อมโทรมหนักสุดสะสมมายาวนานและยังแก้ไม่ได้ คาดว่า จากแผนงานที่ทำอยู่ภายใน 5 ปี จะเห็นความชัดเจนของแนวทางการแก้ปัญหาให้แม่น้ำเจ้าพระยา-ท่าจีนมีคุณภาพที่ดีขึ้น หลังประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และใส่ใจการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

สำหรับสาเหตุการเกิดน้ำเสียภายในประเทศมาจากการขยายตัวและเพิ่มขึ้นของประชากรที่ก่อให้เกิดน้ำเสีย ���ต่ถ้ามีการบริหารจัดการให้ถูกวิธีและเหมาะสมกับประเทศก็จะช่วยลดปริมาณน้ำเสียลงได้ จากการสำรวจพบว่า ปริมาณน้ำเสียส่วนใหญ่มาจากการใช้น้ำประปา หากมีการใช้น้ำอย่างประหยัด ปริมาณน้ำเสียที่ใช้จริงจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมถึงความสกปรก ที่มาจากการประกอบอาหารจากแหล่งต่างๆ จะต้องมีวิธีการกำจัดขั้นต้นอย่างถูกต้องก่อนปล่อยลงสู่ท่อบำบัดน้ำเสีย

เมื่อรวบรวมน้ำเสียไปยังปลายทางจะถูกบำบัดตามหลักวิชาการ แต่กลับพบว่าท่อบำบัดน้ำเสียมีถุงพลาสติกและเศษอาหารเป็นจำนวนมาก จึงกลายเป็นภาระของระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้องเสียเวลามากำจัดขยะอื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ำเสียโดยตรง ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงขึ้น การบริหารจัดการมีขีดจำกัด และความต่อเนื่องของงบประมาณจะน้อยลงด้วย จึงควรเริ่มต้นบำบัดขั้นแรกจากผู้ใช้น้ำก่อน

นายชีระ กล่าวย้ำด้วยว่า องค์การจัดการน้ำเสีย ได้นำนวัตกรรมการบำบัดน้ำเสียใหม่ๆ มาใช้ในระบบ โดยใช้โรงงานน้ำเสียที่บำบัดอยู่ใต้ดิน ส่วนข้างบนเป็นสวนสาธารณะ หรือสนามฟุตบอลตามที่ท้องถิ่นต้องการให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ในเบื้องต้นดำเนินการไปแล้ว 10 แห่ง ริมแม่น้ำท่าจีน เช่น เทศบาลเมืองไร่ขิง บริเวณหน้าวัดไร่ขิง ภาพรวมแม่น้ำมีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยนวัตกรรมดังกล่าวได้นำมาประยุกต์ใช้ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ในการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เข้ากับแต่ละพื้นที่