ช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา อีคอมเมิร์ซเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตก้าวกระโดดอย่างที่ภาคธุรกิจอื่นตามไม่ทัน ความประจวบเหมาะของเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวยประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแแปลงไปในวงกว้าง ทำให้การซื้อของออนไลน์ไม่ได้กลายเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้บริโภคหันไปใช้ แต่แทบจะก้าวขึ้นมาเป็นทางเลือกอันดับหนึ่งแทน
การชิงพื้นที่ในตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จากการเข้ามาชิงส่วนแบ่งผู้บริโภคของหลายบริษัท เช่น 'ลาซาด้า' ซึ่งมีอาลีบาบาถือหุ้นใหญ่ 'ช้อปปี้' (shopee) แพลตฟอร์มจากสิงคโปร์ '11สตรีท' จากเกาหลีใต้ และล่าสุดคือ 'เจดีด็อทคอม' อีคอมเมิร์ซน้องใหม่จากประเทศจีน
เมื่อการเข้ามาชิงตำแหน่งเจ้าตลาดอีคอมเมิร์ซดุเดือดขึ้น ผู้ประกอบการที่อยู่แต่ในโลกออฟไลน์ไม่เพียงแต่จะขาดโอกาสจากการมีลูกค้ารายใหม่ แต่ยังเป็นการขาดทุนจากการเสียลูกค้ารายเก่าด้วย ซึ่งดูเหมือนว่าธุรกิจห้างสรรพสินค้าจะตกเป็นเหยื่อของการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซเช่นเดียวกัน
'เซ็นทรัล' ทุ่ม 250 ล้าน ปรับโฉมเวบค้าออนไลน์ รุกอีคอมเมิร์ซเต็มสูบ
สำหรับเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าที่มีประวัติยาวนานกว่า 70 ปี ตัดสินใจทุ่มงบประมาณกว่า 250 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงและแปลงโฉมเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ของตน (central.co.th) หวังตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิทัลที่มีการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ถึงร้อยละ 51.28 จากการสำรวจประชากรไทยทั้งหมด
เซ็นทรัลมองว่า นี่จะเป็นช่องทางการเติบโตของบริษัท และตั้งเป้าให้มียอดการซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์โฉมใหม่ในปีนี้ที่ 1,500 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการคาดหวังการเติบโตสูงถึงร้อยละ 150
'ณัฐธีรา จิราธิวัฒน์ บุญศรี' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายของเซ็นทรัลคือการเป็นผู้ขายแบบหลายช่องทาง (Omni Channel) ซึ่งเป็นการผสมผสานการค้าปลีกแบบออนไลน์และออฟไลน์กันอย่างสมบูรณ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
โดยลูกค้าสามารถเข้าไปเลือกซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ของเซ็นทรัล และไปรับสินค้าที่สาขาต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยระบบจะทำการตรวจสอบสินค้าในสาขาที่มีและให้ลูกค้าเลือกสาขาที่ใกล้ที่สุด เมื่อลูกค้าเข้าไปถึงร้าน พนักงานจะดึงข้อมูลสินค้าที่ลูกค้าต้องการ พร้อมทั้งวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อสินค้า นำไปสู่การเสนอสินค้าอื่นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย ทำให้ลูกค้าพึงพอใจและกลับมาซื้อสินค้าใหม่
"เราเชื่อมั่นว่า Central.co.th จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เพื่อเป็นที่ 1 ในด้าน ออมนิ-แชนแนล และธุรกิจห้างสรรพสินค้าของไทย อย่างแน่นอน" ณัฐธีรา กล่าว
สะดวก รวดเร็ว มีคุณภาพ 3 คำจำให้มั่นในธุรกิจค้าออนไลน์
ด้าน 'สเตฟาน จูเบิร์ท' ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายออนไลน์ และออมนิ-แชนแนล ซีอาร์เอ็ม บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า พื้นฐานการแปลงโฉมเว็บไซต์ครั้งนี้มาจากความพยายามในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน คือ ความสะดวก ความรวดเร็ว และการมีคุณภาพ โดยยอมรับว่าเซ็นทรัลต้องแข่งกับอีคอมเมิร์ซอีกหลายบริษัท แต่เชื่อในจุดแข็งของเซ็นทรัลที่ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจในแบรนด์ของห้าง
สเตฟาน ย้ำว่า แผนธุรกิจแบบออมนิ-แชนแนล จะเติบโตได้อย่างแน่นอนเนื่องจาก หากเทียบปริมาณและมูลค่าการซื้อของลูกค้าที่เป็นแบบออมนิ-แชนแนลกับลูกค้าออฟไลน์ธรรมดา พบว่า ลูกค้าที่ใช้บริการแบบออมนิ-แชนแนลใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 36,387 บาท / ครั้ง
ขณะที่ ลูกค้าออฟไลน์ใช้จ่ายอยู่เพียง 12,524 บาท อีกทั้งยอดการกลับมาซื้อซ้ำของลูกค้าแบบออมนิฯ ยังสูงถึง 9.1 ครั้ง ขณะที่ลูกค้าออฟไลน์กลับมาซื้อซ้ำเพียง 3.7 ครั้ง ดังนั้น เซ็นทรัลจึงมองอัตราการเติบโตภายใน 5 ปี ของกลยุทธ์แบบออมนิ-แชนแนลไว้ที่ร้อยละ 15
เชื่อได้ว่าเซ็นทรัลจะไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าเพียงแห่งเดียวที่หันมาช่วงชิงลูกค้าในตลอดอีคอมเมิร์ซที่ดุเดือดแห่งนี้ แต่การเข้ามาก่อนเจ้าอื่นๆ ก็ไม่อาจเป็นการการันตีความสำเร็จได้เช่นกัน
ธรรมชาติของโลกอีคอมเมิร์ซคือการแข่งขันเสรี นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบการไม่ได้แข่งกับคู่แข่งในประเทศไทยเท่านั้น แต่กำลังแข่งกับคู่แข่งจากทั่วโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยขนาดความใหญ่ของตลาดการได้ส่วนแบ่งมาในอัตราส่วนไม่มากก็เพียงพอจะทำกำไรมหาศาลได้แล้ว
คำถามสำคัญจึงไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการควรเข้ามาในโลกอีคอมเมิร์ซไหม แต่คือต้องทำอย่างไรให้บริษัทของตนโดดเด่นและดึงดูดลูกค้าให้กลับมาซื้อซ้ำๆ ให้ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :