ไม่พบผลการค้นหา
ณ ขณะที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสรงมุรธาภิเษกจากสหัสธารานั้น ถือว่าเป็นวินาทีที่เปลี่ยนพระราชสถานะเป็น พระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ตามราชประเพณี หลังจากนั้นการออกพระนาม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปลี่ยนเป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

ความหมาย 'น้ำมุรธาภิเษก' และ 'น้ำอภิเษก' ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4 พ.ค. 2562 เป็นพระราชพิธีเบื้องกลาง ในการประกอบพระราชพิธีจะใช้ "น้ำมุรธาภิเษก" และ "น้ำอภิเษก" ซึ่งเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย และ กทม. ที่ได้ทำพิธีเสกน้ำรวม ณ วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2562 ฤกษ์เวลา 17.16-21.30 น. โดยสมเด็จพระสังฆราช เป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ และนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฝ่ายฆราวาส

ฤกษ์เวลา 10.09-12.00 น. พระราชพิธีเริ่มด้วยการถวาย "สรงพระมุรธาภิเษก" (สง-พระ-มุ-ระ-ทา-พิ-เสก) ที่ชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นการรดน้ำศักดิ์สิทธิ์เหนือพระเศียร น้ำที่รดเรียกว่า "น้ำมุรธาภิเษก" ซึ่งการสรงน้ำพระมุรธาภิเษก หมายถึง การยกให้ หรือการแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ ซึ่งตามคติความเชื่อของพราหมณ์ ถือว่าการยกให้เป็นใหญ่ ทรงสิทธิ์อำนาจนั้นจะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์



S__35577916.jpg


แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ สำหรับ "น้ำสรงมุรธาภิเษก" มีจำนวน 9 แหล่งน้ำ ประกอบด้วย น้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ 5 สาย เรียกว่า "เบญจสุทธคงคา" (เบ็น-จะ-สุด-ทะ-คง-คา) เริ่มใช้ครั้งแรกในพระราชพิธีราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้แก่

1.แม่น้ำบางปะกง ตักที่ตำบลพระอาจารย์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก

2.แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

3.แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง

4.แม่น้ำราชบุรี ตักที่บริเวณสามแยกคลองหน้าวัดดาวดึงส์ ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

5.แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่บริเวณท่าน้ำวัดไชยศิริ ตำบลสมอพลือ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งน้ำจากสระน้ำศักดิ์สิทธิ์อีก 4 สระในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ สระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา



S__35577919.jpg

เมื่อพระมหากษัตริย์สรงพระมุรธาภิเษก (สง-พระ-มุ-ระ-ทา-พิ-เสก) แล้ว เสด็จไปประทับทรงรับ "น้ำอภิเษก" ที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ (อัด-ถะ-ทิด-อุ-ทุม-พอน-ราด-ชะ-อาด) ซึ่ง "อภิเษก" หมายถึง การรดน้ำที่พระหัตถ์ เสมือนผู้น้อยรดน้ำอวยพรผู้ใหญ่ หรือเป็นการยอมรับผู้ที่ขึ้นมาเป็นใหญ่ โดย "น้ำอภิเษก" ตักมาจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จำนวน 108 แหล่งน้ำ ประกอบด้วย แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัด 76 จังหวัด และน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง จำนวน 1 แหล่งน้ำ

"น้ำสรงมุรธาภิเษก" และ "น้ำอภิเษก" เป็นน้ำที่ตักจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ และผ่านการทำ "พิธีพลีกรรมตักน้ำ" ซึ่งเป็นพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ตามความเชื่อว่า สิ่งต่างๆ บนโลก ล้วนมีเทวดาปกป้อง ดูแลรักษา การจะทำสิ่งใดๆ ต้องขออนุญาตเทวดาที่ดูแลรักษาสิ่งนั้นๆ การทำพิธีพลีกรรมตักน้ำ จึงเป็นการทำพิธีขออนุญาตเทวดาที่ปกป้องรักษาแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละจังหวัดเพื่อตักน้ำในแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์นั้นมาทำ น้ำอภิเษก และน้ำสรงมุรธาภิเษก



S__35577923.jpg


ทั้งนี้ "น้ำอภิเษก" และ "น้ำสรงมุรธาภิเษก" จากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 117 แหล่งทั่วประเทศในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวง ร.10 เป็นครั้งแรกที่มีการใช้น้ำจาก 77 จังหวัด เพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในพิธีอันเป็นมหามงคลยิ่งของแผ่นดินไทยในครั้งนี้

ซึ่ง ณ ขณะที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสรงมุรธาภิเษกจากสหัสธารานั้น ถือว่าเป็นวินาทีที่เปลี่ยนพระราชสถานะเป็น พระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ตามราชประเพณี หลังจากนั้นการออกพระนาม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปลี่ยนเป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”