นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่าตามที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงชี้แจงผ่านเอกสารข่าวถึงกรณี ป.ป.ช.ยกข้อกล่าวหานายวัฒนา อัศวเหม กับพวกเมื่อวันก่อนนั้น แต่เอกสารข่าวดังกล่าว กลับกล่าวก้าวล่วงไปว่าการกระทำของนายวัฒนา เป็นคนละกรณีกับการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ ที่ อม.2/2550 คดีหมายเลขแดงที่ อม.2/2551 จำคุกนายวัฒนา เป็นเวลา 10 ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ซึ่งได้กระทำเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ระหว่าง พ.ศ. 2531-2535 ได้ใช้อำนาจข่มขืนใจหรือจูงใจเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าพนักงานสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ให้ร่วมกันดำเนินการออกโฉนดที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ ในเขตพื้นที่สงวนหวงห้าม ทับที่สาธารณประโยชน์ ให้แก่นายวัฒนา ในนามของบริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด โดยมิชอบ
อีกทั้งยังเป็นคนละกรณีกับกรณีที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา ที่ 8064/2560 เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2560 จำคุกนายวัฒนา เป็นเวลา 3 ปี ในความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เดิม) ซึ่งนายวัฒนา กับพวกได้ร่วมกันรวบรวมที่ดิน แล้วนำมาเสนอขายกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2540 โดยหลอกลวงและปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินที่มีเนื้อที่ไม่ครบ เนื่องจากมีการออกโฉนดโดยมิชอบออกทับคลองและถนนสาธารณะ
นายศรีสุวรรณ ระบุว่า ข้อเท็จจริงที่ ป.ป.ช ชี้แจงนั้นสวนทางกับข้อเท็จจริงในส่วนเกี่ยวข้องกับนายวัฒนา อัศวเหม ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ที่ว่านายวัฒนาบังคับข่มขืนใจเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ให้ร่วมกันดำเนินการออกโฉนดที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ ในเขตพื้นที่สงวนหวงห้าม ทับที่สาธารณประโยชน์ ให้แก่นายวัฒนา ในนามของบริษัท ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงนั้น กรรมการผู้มีอำนาจของ บ.ปาล์มบีชฯ ตามกฎหมาย คือนายรอย อิศราพร ชุตาภา ซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจให้ นายกิติชัย พิมพาภรณ์เป็นผู้ยื่นขอรังวัดออกโฉนด ในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.2533 ซึ่งนายเฉลา ทิมทอง ผู้นำการคัดค้านการก่อสร้างโครงการบำบัดน้ำเสีย และเป็นต้นเรื่องในการเป็นผู้กล่าวหานายวัฒนา ก็ยืนยันเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นอีก 4-5 ปีถัดมาคือในปี 2535-2536 จึงออกโฉนดเสร็จสิ้น สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการก็มอบโฉนดให้บริษัท ปาล์มบีชฯ และนายวัฒนา อัศวเหม ก็มิได้เป็นกรรมการฯ บริษัทปาล์มบีชฯ แต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่ ป.ป.ช.แจงว่านายวัฒนา กับพวกได้ร่วมกันรวบรวมที่ดิน แล้วนำมาเสนอขายให้กรมควบคุมมลพิษ (เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2540) โดยหลอกลวงและปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่าที่ดินที่มีเนื้อที่ไม่ครบ เนื่องจากมีการออกโฉนดโดยมิชอบออกทับคลองและถนนสาธารณะนั้น ข้อเท็จจริงปรากฎว่า บริษัทปาล์มบีช ดีเวลอบเมนท์ จำกัด เป็นผู้รวบรวมที่ดิน ต่อมาขายที่ดินให้กับ บริษัท คลองด่านมารีน จำกัด เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2537 (ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีโครงการโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน) และบริษัท คลองด่านมารีน จึงเสนอขายให้กับกรมควบคุมมลพิษอีกทอดหนึ่ง เมื่อ 20 ก.พ.2541 ซึ่งนายวัฒนาก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ อีกเช่นกัน สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลว่า "เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานใดที่ยืนยันว่า นายวัฒนาเข้ามาเกี่ยวข้องกระทำการใดใดให้คณะกรรมการคัดเลือกของกรมควบคุมมลพิษ ที่เลือกที่ดินของบริษัทคลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอนรี่ จำกัด" (ปรากฎตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 2794 /2553 หมายเลขแดงที่ 14544 /2556 วันที่ 19 ก.ค.2556)
"กรณีข้อเท็จจริงที่คาดเคลื่อนดังกล่าว จึงเป็นเหตุที่นายวัฒนา อัศวเหม ได้แจ้งกับคนใกล้ชิดว่าพร้อมที่จะกลับมาขอศาลเพื่อรื้อฟื้นคดีใหม่ ซึ่งเป็นสิทธิที่สามารถทำได้หากพบว่ามีหลักฐานข้อมูลใหม่ที่มีน้ำหนักเพียงพอ ดังนั้น เอกสารแถลงข่าวของ ป.ป.ช.ที่ออกมาจึงเป็นการแจ้งข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและนอกเหนือไปจากส่วนที่ร้องเรียน ซึ่งเป็นการสร้างความสับสนให้กับสังคมไทย ที่ต้องการให้ความจริงแท้ปรากฏผ่านกระบวนการทางศาลนั่นเอง" นายศรีสุวรรณ ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :