ไม่พบผลการค้นหา
นักธรณีวิทยายังบอกไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ลาวาจากภูเขาไฟคิลาเวในฮาวายจะหยุดไหล ส่วนบริษัทไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้ดิน เร่งปิดผนึกหลุมเก็บก๊าซธรรมชาติ หวั่นเกิดระเบิด ส่วนประชาชนวางต้นไม้-ดอกไม้บนถนน อุทิศให้ 'เทพเจ้าภูเขาไฟ'

แฮร์รี คิม นายกเทศมนตรีประจำเขตฮาวาย บนเกาะฮาวาย หรือบิ๊กไอส์แลนด์ ในรัฐฮาวายของสหรัฐฯ แถลงสรุปสถานการณ์ภูเขาไฟคิลาเวในเขตอุทยานแห่งชาติปะทุพ่นควันเถ้าภูเขาไฟและพ่นลาวาไหลท่วมหลายพื้นที่ในเขตฮาวาย ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.เป็นต้นมา

ล่าสุด ลาวาได้แยกออกเป็น 22 สาย ไหลเข้าใกล้โรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้ดิน ซึ่งมีแหล่งเก็บกักก๊าซเพนเทน ทำให้ต้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง เพราะเกรงว่าความร้อนจากลาวาอาจทำให้เกิดเหตุระเบิดขึ้น

ภูเขาไฟ-คิลาเว-ปะทุ-พ้นควัน-ลาวา-ฮาวาย-สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่อาศัยอยู่ในย่านเลลานีการ์เดนส์ ไม่ไกลภูเขาไฟคิลาเว ได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปสำรวจบ้านเรือนได้เป็นครั้งแรกนับจากถูกอพยพชั่วคราวเมื่อต้นเดือน พ.ค. แต่เจ้าหน้าที่ยังประกาศห้ามนักท่องเที่ยวและประชาชนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวเข้าไปในพื้่นที่ เพราะเกรงจะได้รับอันตราย ทั้งความร้อนจากลาวา ควันเถ้าภูเขาไฟตกค้าง ก้อนหินที่พุ่งขึ้นจากปล่องภูเขาไฟ และก๊าซอันตรายที่ปกคลุมอยู่ในอากาศ

ภูเขาไฟ-คิลาเว-ปะทุ-พ้นควัน-ลาวา-ฮาวาย-สหรัฐ

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าชายคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บร้ายแรงเพราะถูกก้อนหินที่กระเด็นจากปล่องภูเขาไฟกระแทกจนขาหัก โดยระหว่างเกิดเหตุเขากำลังพยายามดับไฟที่ลุกไหม้บริเวณบ้านพัก ส่วนบ้านเรือนประชาชนราว 82 หลังได้รับความเสียหายจากลาวา เช่นเดียวกับถนนหลายสายที่แตกร้าวและลาวาไหลท่วมจนไม่สามารถใช้สัญจรได้

ขณะเดียวกัน สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งชาติสหรัฐฯ (USGS) ประกาศเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังอันตรายจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ที่ลอยในอากาศ รวมถึงก๊าซอื่นๆ ที่เป็นผลจากลาวาทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือน้ำทะเล ทำให้เกิดก๊าซที่มีฤทธิ์เป็นอันตรายต่อระบบหายใจ โดยประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กอ่อน

ส่วนอาการที่บ่งชี้ว่าได้รับอันตรายจากก๊าซ SO2 ได้แก่ ระคายเคืองตา-จมูก ผิวเป็นผื่นคัน ไอมีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจขัด ปวดศีรษะ และบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลียหรือเวียนศีรษะร่วมด้วย 

5 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับภูเขาไฟคิลาเว

สำนักงาน USGS ยืนยันว่าหน่วยบรรเทาสาธารณภัยและหน่วยฉุกเฉิน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ เตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภูเขาไฟปะทุ แต่ขณะเดียวกันก็แนะนำว่าถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงเข้าไปใกล้พื้นที่รอบภูเขาไฟและบริเวณที่ลาวาไหลท่วม แต่ประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งได้รับอนุญาตให้กลับเข้าไปยังบ้านเรือนในย่านเลลานี พร้อมใจกันนำดอกไม้และกิ่งไม้ไปวางไว้บนถนนหรือตามรอยแยกของถนน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของชนพื้นเมืองในฮาวาย

ภูเขาไฟ-คิลาเว-ปะทุ-พ้นควัน-ลาวา-ฮาวาย-สหรัฐ


ภูเขาไฟ-คิลาเว-ปะทุ-พ้นควัน-ลาวา-ฮาวาย-สหรัฐ
  • 'เปเล' เทพเจ้าแห่งภูเขาไฟ

ตามความเชื่อของชาวฮาวายดั้งเดิม 'เปเล' เป็นเทพเจ้าผู้หญิงซึ่งมีเส้นผมยาวเป็นสายลาวา และเป็นผู้สร้างเกาะน้อยใหญ่ที่กลายเป็นหมู่เกาะในรัฐฮาวายปัจจุบัน โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าความเชื่อนี้ยังสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน อ้างอิงได้จากการแถลงข่าวของนายกเทศมนตรีเขตฮาวายเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ซึ่งไม่มีเหตุการณ์ปะทุพ่นควันรอบใหม่ เกิดขึ้น ทำให้เขากล่าวขอบคุณ 'เปเล' ที่ปราณีให้เหตุการณ์สงบ ต่อหน้าผู้สื่อข่าวที่รอฟังคำแถลง และการนำดอกไม้หรือกิ่งไม้ไปวางที่รอยแตกของถนน ก็ยังเป็นการแสดงความขอบคุณและเคารพต่อเปเลด้วย

เปลวไฟสีฟ้า-คิลาเว-ภูเขาไฟ-ฮาวาย-ลาวา
  • เปลวไฟสีฟ้าแห่งคิลาเว

National Geographic รายงานว่า ลาวามีความร้อนประมาณ 700-1200 องศาเซลเซียส เมื่อไหลผ่านพื้นที่ที่แห้งแล้งก็ทำให้เกิดไฟป่าลุกไหม้ แต่ภาพเปลวไฟสีฟ้าที่โดรนบันทึกเหตุการณ์ถ่ายเอาไว้ได้ สร้างความประหลาดใจแก่ประชาชนที่พบเห็น แต่เนชั่นแนลจีโอกราฟิกอธิบายว่า เปลวไฟสีฟ้าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเกิดจากการเผาผลาญของก๊าซมีเทน และในกรณีของเกาะฮาวาย น่าจะเป็นเพราะลาวาที่มีความร้อนสูงไหลผ่านพื้นที่ที่มีก๊าซมีเทนสะสมอยู่ ทำให้เกิดประกายไฟลุกไหม้จนกลายเป็นแนวเปลวไฟสีฟ้า ส่วนพื้นที่ซึ่งมีก๊าซมีเทนสะสมอยู่มาก จะเป็นแหล่งเพาะปลูกหรือแปลงเกษตร

ภูเขาไฟ-คิลาเว-ปะทุ-พ้นควัน-ลาวา-ฮาวาย-สหรัฐ
  • ปากปล่องภูเขาไฟมีมากกว่าหนึ่ง

คิลาเวเป็นหนึ่งในภูเขาไฟ 50 ลูกที่ยังไม่ดับในสหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่จะปะทุขึ้นอีกเรื่อยๆ เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2557 ภูเขาไฟคิลาเวก็เคยปะทุพ่นลาวาไหลท่วมพื้นที่เพาะปลูกและส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชนมาแล้ว แต่นักธรณีวิทยากล่าวว่าการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภูเขาไฟและลาวาทำได้ยาก เพราะปากปล่องที่จะปะทุพ่นควันเถ้าภูเขาไฟและลาวาตามแนวเขาคิลาเวนั้นมีประมาณ 10 จุด และทุกจุดอาจทำให้เกิดกิจกรรมทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมีหลาย 10 กิโลเมตรรอบภูเขาไฟอยู่ดี

นอกจากนี้ ประชาชนจำนวนมากยังไม่ยอมอพยพออกจากพื้นที่ เพราะมีความผูกพันและเชื่อว่าเป็นบ้านเกิดที่ไม่อาจทิ้งไปได้ เมื่อเกิดภูเขาไฟปะทุในระดับรุนแรงจึงจะอพยพย้ายไปยังที่ปลอดภัยชั่วคราว

ภูเขาไฟ-คิลาเว-ปะทุ-พ้นควัน-ลาวา-ฮาวาย-สหรัฐ
  • 'ตอบไม่ได้' ลาวาจากคิลาเวจะหยุดไหลเมื่อใด

นักธรณีวิทยายังไม่อาจระบุได้ว่าลาวาจากภูเขาไฟคิลาเวจะหยุดลงเมื่อใด เพราะเพิ่งจะตรวจพบแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวขนาด 4.4 แมกนิจูดเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าแรงดันใต้โลกจะทำให้ลาวาไหลออกมาจากปากปล่องอย่างต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง และประชาชนในย่านเลลานี มีความเสี่ยงที่จะถูกลาวาไหลมาโอบล้อมปิดกั้นทางออก จึงทำให้มีการอพยพคนออกจากพื้นที่เพิ่มเติม

ส่วนผู้อาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะฮาวาย ได้รับคำเตือนให้ระวังอันตรายจากควันเถ้าภูเขาไฟที่จะถูกกระแสลมพัดไปยังทิศทางดังกล่าว ทั้งยังมีคำสั่งห้ามบินบริเวณเกาะฮาวายและพื้นที่ใกล้เคียงโดยเด็ดขาด

ภูเขาไฟ-คิลาเว-ปะทุ-พ้นควัน-ลาวา-ฮาวาย-สหรัฐ
  • ทำไมถึงไม่ควรขับรถฝ่าควันเถ้าภูเขาไฟ?

สำนักงานยูเอสจีเอสได้สรุปประเด็นตอบข้อซักถามที่ประชาชนในรัฐฮาวายสงสัยเกี่ยวกับเรื่องภูเขาไฟคิลาเว และหนึ่งในนั้นก็คือคำถามว่า "การขับรถฝ่าควันเถ้าภูเขาไฟเป็นอันตรายหรือไม่" ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของยูเอสจีเอสยืนยันว่า "เป็นอันตราย" เพราะควันเถ้าภูเขาไฟประกอบด้วยฝุ่นผงหรือแร่ธาตุขนาดเล็กที่สามารถเข้าไปเครื่องยนตร์จนอาจสร้างความเสียหายต่อระบบเผาผลาญเชื้อเพลิงได้

นอกจากนี้ ควันเถ้าสีเทาที่หนาจัดจะบดบังการมองเห็น ทำให้เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ไม่ว่าจะรถชนกันเองหรือถูกก้อนหินกระแทกทะลุกระจก และควันเถ้าที่ปกคลุมถนนจะทำให้ถนนลื่น ไม่อาจควบคุมทิศทางการขับรถได้

ที่มา: Reuters/ National Geographic/ Sky News/ Ars Technica/ USGS

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: