ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการปกป้องคุ้มครองสัตว์ สนช. มอบแผนแม่บทบริหารจัดการปัญหาลิง แนะ 3 รูปแบบ ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ชี้จังหวัดลพบุรี ควบคุมประชากรลิงได้ผล

คณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนาเรื่อง “แนวทางการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤติ" (ตามยุทธศาสตร์แผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิงในจังหวัดลพบุรีอย่างยั่งยืน) โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมการติดตามกลไกและพิจารณาการปกป้องคุ้มครองสัตว์ กล่าวว่า ปัญหาลิงเป็นปัญหาความเดือดร้อนอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นความท้าทายเนื่องจากลิงเป็นสัตว์ที่มีความฉลาด ว่องไว ไปไหนได้รวดเร็ว ทำให้การบริหารจัดการลำบาก ซึ่งพื้นที่ที่มีวิกฤติเรื่องลิง ต้องเตรียมความพร้อมร่วมกัน แผนแม่บทการบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่วิกฤติให้กับรองผู้ว่าราชการจังหวัด 12 จังหวัด ที่มีพื้นที่วิกฤติของลิง เพื่อให้จังหวัดนำไปบริหารจัดการ

โดยแนวทางแผนบริหารจัดการแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.จังหวัดกระบี่ ตรัง ภูเก็ต และอำนาจเจริญ ซึ่ง 4 จังหวัด ดังกล่าวเป็นพื้นที่ซึ่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของลิงถูกรุกล้ำและคุกคามอย่างเห็นได้ชัด มีวิธีจัดการโดยลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับลิง โดยเฉพาะการให้อาหาร จัดทำป้ายเตือนห้ามให้อาหารลิงและควบคุมปัญหาขยะ ไม่ให้รุกล้ำพื้นที่ของลิง 2. กทม. ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สตูล และสระบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ลิงอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ถูกล้อมรอบด้วยชุมชน มีวิธีจัดการคือ การเคลื่อนย้ายลิง และหาสถานที่รองรับลิงแห่งใหม่ ไปยังสถานที่ที่เหมาะสม พร้อมทั้งทำหมันลิง ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ให้หมดก่อนการเคลื่อนย้ายและ 3. จังหวัดเพชรบุรี มุกดาหาร เป็นพื้นที่อาศัยของลิงที่ถูกทับซ้อนด้วยพื้นที่ชุมชน จำเป็นต้องสร้าง 'นิคมลิง' เพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับลิงทั้งหมด ที่ถูกเคลื่อนย้ายมาจากพื้นที่ที่มีปัญหา

ด้านนายจรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า ในเขตเมืองลพบุรีมีลิงอาศัยอยู่กว่า 2,200 ตัว กระจายตามอำเภอต่างๆ รวมกว่า 10,000 ตัว โดยในปี 2560-2561 จังหวัดลพบุรี ได้จัดการควบคุมประชากรลิง ที่อยู่ในเขตเมืองไปแล้ว 6 ครั้งมีการทำทะเบียนลิง และปัจจุบันมีลิงเพิ่มขึ้นมาเพียง 800- 1,000 ตัว เป็นผลมาจากการจัดการควบคุมประชากร

ด้านนายชัยณรงค์ ดูดดื่ม ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุด ต้องทำประชาพิจารณ์กับคนในพื้นที่และศึกษาผลกระทบ ซึ่งขณะนี้ยังหาบริษัทที่ปรึกษาไม่ได้เนื่องจากทีโออาร์เ���้มงวดมาก หากสุดท้ายหาไม่ได้ต้องใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบเจาะจง โดยเบื้องต้นพื้นที่จังหวัดลพบุรี ที่มองไว้คือ เขาพระยาเดินธงพื้นที่ 2,000 ไร่ แต่ทั้งหมดต้องดูผลการศึกษาจากบริษัทที่ปรึกษาก่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: