ไม่พบผลการค้นหา
อัฐวุฒิ ผลาสินธุ์ นิสิตปริญญาโท และ รศ.ดร.เสกศักดิ์ อัสวะวิสิทธิ์ชัย อาจารย์ที่ปรึกษา ให้สัมภาษณ์ถึงที่มาของเสื้อเกราะกันกระสุนจามจุรี งานวิจัยที่กลายเป็นความหวังของชาติ

เสื้อเกราะกันกระสุน 'จามจุรี' ผลงานอันโดดเด่นของ ‘อัฐวุฒิ ผลาสินธุ์’ นิสิตปริญญาโท หลักสูตรวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลายเป็นความหวังของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย เนื่องจากทดสอบแล้วว่าได้มาตรฐาน ราคาถูกกว่าเสื้อเกราะที่นำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่าตัว 

“ผมรับทราบข้อมูลมาว่าตำรวจหลายราย โดยเฉพาะระดับชั้นประทวน ไม่มีเสื้อเกราะ หรือมีก็เสื่อมสภาพไปมากการนำเข้าจากต่างประเทศก็มีราคาค่อนข้างสูง เลยกลายเป็นเป้าหมายในการพัฒนาเสื้อเกราะที่มีน้ำหนักเบา สามารถป้องกันกระสุนได้ตามมาตรฐานสากล ที่สำคัญคือมีราคาไม่แพง” อัฐวุฒิบอกที่มาในการพัฒนากับวอยซ์ออนไลน์

สำหรับวัสดุที่ใช้ในการทำเสื้อเกราะกันกระสุน เป็นวัสดุภายในประเทศทั้งหมด ประกอบด้วยวัสดุผสม 3 ชนิด ได้แก่ แผ่นเหล็กกล้าไร้สนิม แผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ และแผ่นฟิล์มเอกซเรย์ ซึ่งได้ขอรับบริจาคแผ่นฟิล์มเอกซเรย์ที่ใช้แล้วจากโรงพยาบาล


8829651565883.jpg

(อัฐวุฒิ ผลาสินธุ์ และ รศ.ดร.เสกศักดิ์ อัสวะวิสิทธิ์ชัย)

ขั้นตอนการจัดทำ เริ่มจากการนำแผ่นเหล็กมาทำการดัดโค้งให้สอดรับกับตัวเสื้อและสรีระร่างกาย จากนั้นจึงนำแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์และฟิล์มเอกซเรย์มาประกบกัน โดยใช้กาวชนิดพิเศษ ให้วัสดุติดประสานกัน การจัดทำตามขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ใช้เวลา 2 วันต่อเสื้อเกราะหนึ่งตัว ขั้นตอนที่ยากที่สุดคือ วิธีการทำให้วัสดุต่างๆ ยึดติดกันอย่างสมบูรณ์

เขาบอกว่า การผลิตเสื้อเกราะจะเน้นให้ใช้วัสดุน้อยที่สุด เพื่อให้ได้เกราะที่บาง น้ำหนักน้อย ต้นทุนต่ำ แต่ต้องสามารถกันกระสุนได้ตามมาตรฐาน โดยมีการทดสอบโดยใช้ระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ ผ่านการทดสอบวิจัยเชิงลึกด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์ ซึ่งมีความถูกต้องในการทดสอบด้วยโมเดลถึงร้อยละ 95 เป็นจุดเด่นของงานวิจัยเสื้อเกราะกันกระสุนจามจุรี

รศ.ดร. เสกศักดิ์ อัสวะวิสิทธิ์ชัย ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยดังกล่าว บอกว่า เสื้อเกราะที่เจ้าหน้าที่ใช้งานในปัจจุบันถูกนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพง ตัวละ 20,000 บาทขึ้นไป ทำจากวัสดุเคฟลาร์และอายุการใช้งานจำกัด เพียง 5 ปี ประสิทธิภาพจะลดลงเหลือร้อยละ 60 ขณะที่เสื้อเกราะกันกระสุนจามจุรี ป้องกันความชื้นและความร้อน มั่นใจว่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 5 ปี

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีหลายมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยที่ทำเสื้อเกราะกันกระสุนแต่ราคายังคงสูง แต่เกราะกันกระสุนของจุฬาฯ มีราคา เพียง 5,000 – 6,000 บาทเท่านั้น

“ป้องกันกระสุนอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านมาตรฐานการทดสอบ NIJ ของสหรัฐอเมริกา ในระดับ 2A สำหรับปืนพกขนาดเล็กทั่วไป เช่น 9 มม , .357 ซึ่งเหมาะกับการใช้งานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” รศ.ดร.เสกศักดิ์ กล่าว

ทั้งคู่เห็นตรงกันว่า ความภาคภูมิใจของการวิจัยและพัฒนา คือ ผลงานถูกนำไปใช้ได้จริง ไม่ใช่แค่แขวนไว้บนหิ้งโดยเสื้อเกราะ 10 ตัวแรกของพวกเขาถูกส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน นำไปใช้งาน

“เราไม่อยากจะทำงานวิจัยขึ้นหิ้ง เราอยากจะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง” รศ.ดร.เสกศักดิ์กล่าว

ขณะที่อัฐวุฒิบอกว่า “ตอนแรกคิดแค่ว่าทำเพื่อให้เรียนจบเท่านั้น แต่พอมองในภาพกว้าง ถ้าทำสำเร็จจะช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในด้านความปลอดภัยได้อีกมาก บวกกับความชอบส่วนตัวในด้านวิศวกรรมโลหการ ทั้งหมดเป็นความภูมิใจที่เราได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา ประยุกต์ก่อเกิดเป็นผลงานที่ใช้งานได้จริง”


cu_051161_005-768x512 (2).jpg

(เสื้อเกราะ 10 ตัวของพวกเขาถูกส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน)

ด้าน พล.ต.ท.ติณภัทร ภุมรินทร์ ผบช.สกบ. (สำนักงานส่งกำลังบำรุง) ให้รายละเอียดว่าที่ผ่านมา ตร.สั่งซื้อเสื้อเกราะกันกระสุนจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในราคาตัวละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท หากมีผู้วิจัยสามารถพัฒนาเสื้อเกราะได้ในราคาที่ต่ำกว่านี้ โดยคงประสิทธิภาพเทียบเท่าระดับสากล ก็ถือเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศ 

ทั้งนี้ ในอนาคตผู้พัฒนาตั้งใจต่อยอดผลงานด้วยการจัดหาวัสดุเสริมความแข็งแกร่งให้กับเสื้อเกราะเพื่อสามารถรองรับความรุนแรงในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

ภาพจาก www.chula.ac.th