ไม่พบผลการค้นหา
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีผลใช้บังคับ 22 ก.ค.นี้ เป็นต้นไป

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าเป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 

ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 28 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 37 และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผลและความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติสามารถดําเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ซึ่งการตราพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคําแนะนํา และยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่รัฐสภา และให้มีผลใช้บังคับ นับแต่วันที่ 22 ก.ค.นี้ เป็นต้นไป 

โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีทั้งสิ้น 200 มาตรา มีสาระสำคัญ ของกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ,กรรมการองค์กรอิสระ ,ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ,ข้าราชการการเมือง ,หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม ,ผู้บริหารท้องถิ่นบางตำแหน่ง จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมถึงบุคคลซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภรรยา ให้สาธารณชนได้รับทราบด้วย

สำหรับกระบวนการไต่สวนคดีในชั้น ป.ป.ช. ยังให้อนุญาตให้ ป.ป.ช. สามารถขอให้ศาลในขอบเขตอำนาจ ออกหมายจับเพื่อคุมตัวผู้ถูกกล่าวหา หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า บุคคลดังกล่าวจะหลบหนีได้ หรือหากจำเลยหลบหนี ระหว่างถูกดำเนินคดีในกระบวนการศาล เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว กำหนดให้ไม่มีการนับอายุความของคดี หรือจะต้องหลบหนีไปตลอดชีวิต

นอกจากนั้น ยังให้กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ กรรมการ ป.ป.ช. ชุดที่มีพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนครบวาระ ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปรับแก้ในร่างกฎหมายยกเว้นการบังคับใช้ลักษณะต้องห้ามเอาไว้ แม้จะมีกรรมการ ป.ป.ช. บางตำแหน่งขาดคุณสมบัติก็ตาม เป็นต้น