เที่ยวบิน JT610 ของสายการบินไลออนแอร์ อินโดนีเซีย ซึ่งเดินทางออกจากกรุงจาการ์ตา ตกลงในทะเลก่อนถึงปลายทางที่เมืองปังกัลปีนัง บนเกาะสุมาตรา เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา และไม่มีผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทั้งยังมีรายงานว่าเครื่องบินลำดังกล่าวมีปัญหาขัดข้องทางเทคนิคก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน แต่สายการบินไม่ได้สั่งหยุดบิน เพื่อตรวจสอบเครื่องบิน ทำให้ครอบครัวของผู้โดยสารที่ตกลงไปในทะเลวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของไลออนแอร์ อินโดนีเซีย ว่าไม่รอบคอบรัดกุม และไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร
จากกรณีดังกล่าว ทำให้กระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลีย ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 30 ต.ค. เพื่อเตือนชาวออสเตรเลีย ที่พำนักอาศัยหรือท่องเที่ยวอยู่ในอินโดนีเซีย งดใช้บริการของสายการบินไลออนแอร์ อินโดนีเซีย หรือบริการอื่นๆ ที่เป็นคู่สัญญาของสายการบินดังกล่าว ได้แก่ บาติกแอร์ และมาลินโดแอร์ โดยให้คำเตือนมีผลไปจนกว่าสายการบินหรือหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในอินโดนีเซียจะออกมาชี้แจงสาเหตุที่ทำให้เที่ยวบิน JT610 ตกกลางทะเล
เว็บไซต์เอบีซีนิวส์และซีเอ็นเอ็น รายงานว่าเครื่องบินที่ใช้สำหรับเที่ยวบิน JT610 ของไลออนแอร์ อินโดนีเซีย คือ เครื่องโบอิ้ง 737 MAX 8 ซึ่งเพิ่งใช้งานมาได้ประมาณ 3 เดือนเท่านั้น และนักบินผู้รับผิดชอบเที่ยวบินดังกล่าวเป็นชาวอินเดียที่มีประสบการณ์การบินยาวนาน แต่ขณะเดียวกันก็ระบุว่า เครื่องบินรุ่นดังกล่าวมีประวัติเครื่องยนต์ขัดข้องจนถูกระงับการใช้งานมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ไลออนแอร์ อินโดนีเซีย ยังไม่เปิดเผยว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตก แต่โฆษกกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซียระบุว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็วที่สุด โดยในขณะนี้ ไลออนแอร์ อินโดนีเซีย มีเครื่องบินโบอิง 737 MAX 8 จำนวน 12 ลำ รวมถึงลำที่ตกลงไปในทะเลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทำให้หุ้นของโบอิ้งตกลงไปร้อยละ 6.6
อีกทั้งเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไลออนแอร์ อินโดนีเซีย ประสบปัญหาเกี่ยวกับเครื่องบินขัดข้อง โดยระหว่างปี 2545-2559 มีอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับเครื่องบินของไลออนแอร์กรุ๊ปในอินโดนีเซียรวมทั้งหมด 19 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2556 เกิดเหตุนักบินแล่นจอดพลาดรันเวย์ที่บาหลี ทำให้เครื่องบินตกลงไปในทะเล แต่ผู้อยู่บนเครื่องบินทั้งหมดรอดชีวิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: