ไม่พบผลการค้นหา
รองผู้ว่าฯ กทม.เผยเตรียมดำเนินโครงการก่อสร้างลิฟต์สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ ของระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยก่อสร้างลิฟต์จากชั้นพื้นดินถึงชั้นจำหน่ายตั๋ว และจากชั้นจำหน่ายตั๋วถึงชั้นชานชาลา ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีสถานีรถไฟฟ้าทั้งหมด 34 สถานี แต่ละสถานีจะต้องมีลิฟต์สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ จำนวน 4 ตัว รวมทั้งหมด 136 ตัว

(18 พ.ค.61) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่โครงการก่อสร้างลิฟต์สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี (S3) เขตบางรัก ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ยุทธศาสตร์ “มหานครสีเขียว สะดวกสบาย” ที่มีเป้าหมายให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เชื่อมโยงโครงข่ายเพิ่มประสิทธิภาพการจราจรให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานเขตบางรัก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการจราจรและขนส่ง เตรียมดำเนินโครงการก่อสร้างลิฟต์สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ ของระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยโครงการดังกล่าวเป็นการก่อสร้างลิฟต์จากชั้นพื้นดินถึงชั้นจำหน่ายตั๋ว และจากชั้นจำหน่ายตั๋วถึงชั้นชานชาลา ซึ่งตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีสถานีรถไฟฟ้าทั้งหมด 34 สถานี แต่ละสถานีจะต้องมีลิฟท์สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ จำนวน 4 ตัว รวมทั้งหมด 136 ตัว

แต่ในขณะนี้มีลิฟต์อยู่ 107 ตัว ทั้งนี้ก่อนปี 57 กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการก่อสร้างลิฟท์สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ จำนวน 55 ตัว จากนั้นในปี 57 สำนักการจราจรและขนส่งได้มีการขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มในการก่อสร้างลิฟต์ซึ่งแล้วเสร็จในปี 60 เพิ่มเติมอีก 52 ตัว ขณะนี้มีลิฟต์รวมทั้งหมด 107 ตัว ซึ่งยังเหลือลิฟต์ที่ยังไม่ได้ก่อสร้างอีก 29 ตัว จึงจะครบทั้งหมด 136 ตัว

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง ที่ให้กรุงเทพมหานครจัดทำลิฟต์สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการบริเวณสถานีรถไฟฟ้าที่ยังไม่มีลิฟท์ดังกล่าว

จากการสำรวจของสำนักการจราจรและขนส่งพบว่ามีสถานีรถไฟฟ้า จำนวน 16 สถานี ซึ่งยังมีลิฟต์ไม่ครบ 4 ตัว รวมแล้วต้องก่อสร้างลิฟต์เพิ่มอีก 19 ตัว ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ นอกจากนี้ยังพบว่าสถานีรถไฟฟ้า จำนวน 5 สถานี ที่มีความจำเป็นต้องสร้างก่อสร้างลิฟต์อีก 10 ตัว เพื่อให้ครบสถานีละ 4 ตัว ซึ่งติดปัญหาอยู่ที่ 5 สถานีดังกล่าว เริ่มจากสถานีตากสินซึ่งสถานีดังกล่าวยังไม่มีลิฟต์ เนื่องจากสถานีตากสินเป็นรางเดี่ยว แต่ในอนาคตกรุงเทพมหานครจะก่อสร้างเป็นรางคู่พร้อมกับการก่อสร้างลิฟต์อีก 4 ตัวไปพร้อมกัน

ส่วนสถานีศาลาแดงติดปัญหาระบบสาธารณูปโภค จึงขอใช้ลิฟต์ของ รฟม.เป็นการชั่วคราวก่อน สถานีชิดลม กับสถานีเพลินจิต เนื่องจากทางเท้าแคบจึงก่อสร้างลิฟต์เพียงสถานีละ 1 ตัว และสถานีอโศกซึ่งขณะนี้มีลิฟต์อยู่ 2 ตัว โดยได้ไปใช้ลิฟต์ของเอกชนในการเชื่อมทางเข้ามา

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครจะดำเนินการสร้างลิฟต์ตามลักษณะทางกายภาพที่สามารถดำเนินการได้ จำนวน 19 ตัว โดยจะเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 210 วัน นับตั้งแต่เริ่มลงนามสัญญา ส่วนที่เหลืออีก 10 ตัว สำนักการจราจรและขนส่งจะดำเนินการหาแนวทางเพื่อดำเนินการก่อสร้างลิฟต์ในส่วนที่เหลือให้ครบตามมาตรฐานสถานีละ 4 ตัว ยกเว้นสถานีใดที่มีข้อจำกัดในการก่อสร้างก็จะดำเนินการเท่าที่สามารถก่อสร้างได้