ไม่พบผลการค้นหา
แม้เหตุก่อวินาศกรรม 9/11 ในสหรัฐฯ จะผ่านไปถึง 17 ปีแล้ว แต่ยังมีคนต้องทุกข์ทรมานจากเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมาก และคนที่ตายจากผลพวงของเหตุก่อการร้ายครั้งนั้นก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เหตุก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ปี 2001 ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 ราย และบาดเจ็บอีกมากกว่า 6,000 ราย เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ทั่วโลกตกตะลึงที่การก่อการร้ายครั้งใหญ่เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินสหรัฐฯ หลังจากนั้น นโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของทั้งสหรัฐฯ และทั่วโลกก็เริ่มเปลี่ยนไป ขณะที่ความรู้สึกของคนทั่วไปจะกลับมาเป็นปกติกันบ้างแล้ว แต่เหตุการณ์เมื่อ 17 ปีก่อนก็ยังไม่สิ้นสุด มีคนต้องเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ต่อเนื่องอีกจำนวนมาก

เทคโนโลยีใหม่ช่วยระบุอัตลักษณ์ผู้เสียชีวิตที่เหลือ

ผ่านมาแล้ว 17 ปี ยังมีผู้เสียชีวิตอีก 1,100 รายที่ยังไม่สามารถระบุอัตลักษณ์ได้ แต่ทีมพิสูจน์อัตลักษณ์ในนครนิวยอร์กก็ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง มีการนำเศษชิ้นส่วนมนุษย์กว่า 22,000 ชิ้นที่พบในที่เกิดเหตุไปตรวจสอบมากกว่า 10 ครั้งแล้ว แต่จะไม่สามารถระบุอัตลักษณ์ใครเพิ่มได้เลยเป็นเวลาหลายปี

ไม่นานมานี้ ทีมพิสูจน์อัตลักษณ์เพิ่งพบวิธีการใหม่ในการสกัดดีเอ็นเอออกมาจากเศษกระดูกที่พบใต้ซากปรักหักพังของตึกแฝดเวิล์ดเทรดเซนเตอร์ โดยการนำเศษกระดูกมาตัดและบดเป็นผงและผสมกับสารเคมี 2 ชนิด แล้วจึงสกัดดีเอ็นเอออกมา

สำนักข่าว Channel News Asia รายงานว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังไม่อาจการันตีผลได้ โดยนายมาร์ก ดีไซร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการนิติชีววิทยาที่สำนักงานชันสูตรศพของมลรัฐนิวยอร์กกล่าวว่า กระดูกเป็นชิ้นส่วนร่างกายที่นำมาใช้ยากมาก และดีเอ็นเออาจถูกทำลายไปกับไฟ เชื้อรา แบคทีเรีย แสงแดด น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน น้ำมันดีเซลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ดังนั้น ดีเอ็นเอที่จะสกัดออกมาจากกระดูกจึงได้ในปริมาณน้อยมาก


ญาติผู้เสียชีวิต 9/11

เปลี่ยนซากปรักหักพังเป็นสวนสาธารณะ

ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการพิสูจน์อัตลักษณ์นี้ยิ่งทำให้ญาติของผู้เสียชีวิตในเหตการณ์ 9/11 ยิ่งรู้สึกขมขื่นกับโครงการสวนสาธารณะเฟรชคิลส์ ที่จะเปลี่ยนบ่อขยะเฟรชคิลส์ที่ใช้ทิ้งซากปรักหักพัง 1 ใน 3 จากตึกเวิล์ดเทรดเซนเตอร์ หรือประมาณ 1.8 ล้านตัน เป็นสวนสาธารณะ เนื่องจากการปรับพื้นที่อาจทำให้เศษชิ้นส่วนมนุษย์ที่อยู่ในซากปรักหักพังนั้นถูกทำลายไปด้วย

หลังเหตุการณ์ 9/11 ทางการนิวยอร์กได้นำซากปรักหักพังจากกราวนด์ซีโร่ หรือพื้นที่ที่ตึกแฝดถูกเครื่องบินชนถล่มลงมา ไปทิ้งที่บ่อขยะเฟรชคิลส์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบหาหลักฐาน รวมถึงชิ้นส่วนมนุษย์เพื่อนำไปพิสูจน์อัตลักษณ์ แต่ทางการนิวยอร์กต้องการปรับพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นสวนสาธารณะ โดยชี้แจ้งว่า การปรับพื้นที่ไม่ได้เป็นไปเพราะทางการไม่เคารพหรือไม่เห็นใจครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่บ่อขยะเฟรชคิลส์มีขยะจำนวนมากที่จะปล่อยแก๊สพิษขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

ด้านกลุ่ม “ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่เวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ เพื่อการฝังกลบที่เหมาะสม” จึงออกมาคัดค้านความพยายามจะปรับพื้นที่นี้ให้เป็นสวนสาธารณะ แต่เมื่อปี 2009 ศาลอุทธรณ์นิวยอร์กได้ตัดสินว่า ทางการมีระบบจัดการซากตึกที่ไม่เหมาะสมเพราะ “ไม่มีความระมัดระวังมากพอ” ฝ่ายต้านโครงการนี้จึงแพ้คดีไป

นายชาร์ลส วูฟ ซึ่งสูญเสียภรรยาในเหตุการณ์ 9/11 แต่ยังไม่สามารถระบุอัตลักษณ์ของเธอได้กล่าวว่า ที่ผ่านมาเขาคิดว่า หากมีการปรับพื้นที่จริงก็คงเป็นประสงค์ของพระเจ้า และเขาจะทำใจกับเรื่องนี้ เพราะไม่ควรขุดทุกอย่างขึ้นมาแล้วปล่อยให้แก๊สพิษขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แต่เมื่อได้รู้ว่าเทคโนโลยีใหม่อาจช่วยระบุอัตลักษณ์ของผู้เสียชีวิตได้มากขึ้น เขาก็หวังว่าจะช่วยให้คนที่ยังต้องการการพิสูจน์ทำใจได้ง่ายขึ้น เพราะเขาต้องต่อสู้กับความเจ็บปวดโดยที่ไม่มีสิ่งที่ยืนยันว่าว่าญาติเสียแล้วจริงๆ

บ่อขยะเฟรชคิลส์ Fresh Kills Landfill ทิ้งซากเวิลด์เทรด 9/11

ตลอด 17 ปีที่ผ่านมายังมีคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์ 9/11 ไม่ได้ได้เกิดเพียงวันเดียวแล้วจบลง แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ป่วยจากฝุ่นพิษที่เกิดจากเหตุวินาศกรรมครั้งนั้น โดยผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนเยียวยาเหยื่อ 9/11 หรือ VCF ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว New York Daily News ว่า จากการประเมินข้อมูล พบว่า เงินในกองทุน 7,300 ล้านล้านดอลลาร์ น่าจะสามารถช่วยเหลือทุกคนที่ป่วยจากสารปนเปื้อนที่กราวนด์ซีโร่ได้ถึงวันที่ 18 ธันวาคมปี 2020 เท่านั้น

VCF เปิดเผยว่า ช่วงปีที่ผ่านมามีเขายื่นเรื่องของเงินชดเชยจากการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 9/11 เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 28 จาก 30,081 คนขึ้นมาเป็น 38,502 คน และมีคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 94 และมีแนวโมว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า

เว็บไซต์ Asbestos.com ประเมินว่าน่าจะมีการใช้แร่ใยหินประมาณ 400 ตันในการสร้างตึกเวิลด์เทรดเซนเตอร์ และเมื่อตึกถล่มแร่ใยหินเหล่านี้ก็กระจายไปสู่อากาศ ทำให้คนที่ได้รับแร่ใยหินเข้าไปมากกลายเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด เหตุการณ์ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถล่มจึงถือเป็นหนึ่งในภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงที่สุดจองสหรัฐฯ

9/11 World Trade Center เวิลด์เทรดเซนเตอร์

สงครามอัฟกานิสถานที่ยังไม่สิ้นสุด

หลังเหตุการณ์ 9/11 ได้เพียง 1 เดือน สหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้ส่งกองทัพไปทำสงครามในอัฟกานิสถาน เพื่อปราบปรามกลุ่มอัลกออิดะห์ของนายอุซะมะ บินลาเดน ที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรม 9/11 และโค่นล้มอำนาจของกลุ่มตอลิบานในอัฟกานิสถานที่ไม่ยอมส่งตัวนายบินลาเดนและพรรคพวกให้สหรัฐฯ

ผ่านมาแล้ว 17 ปี สงครามในอัฟกานิสถานก็ยังไม่สิ้นสุดลง มีการประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตในสงครามที่ยืดเยื้อนี้มากกว่า 110,000 ราย แต่เมื่อปีก่อน นายโดนัลด์ ทรัมป ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ก็เพิ่งตัดสินใจว่าจะยังไม่ถอนกองทัพสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ในอัฟนิสถานจนกว่าจะมีเสถียรภาพมากพอ

สงคราม อัฟกานิสถาน เด็ก

แม้ฝ่ายสนับสนุนการทำสงครามในอัฟกานิสถานจะอ้างว่า การทำสงครามจะเป็นตัวบีบให้กลุ่มตอลิบานเข้ามาสู่โต๊ะเจรจา แต่นายแบร์รี อาร์ โพเซน อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จากมหาวิยาลัยเอ็มไอทีแสดงความเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีจุดประสงค์ทางการเมืองที่น่าเศร้า สำหรับการไม่ถอนกองทัพออกจากอัฟกานิสถาน คือ การทำให้เห็นว่า ผู้นำประเทศพยายามป้องกันไม่ให้มีการก่อการร้ายข้ามชาติมาจากอัฟกานิสถานได้อีก แต่การที่กองทัพสหรัฐฯ ยังอยู่ในอัฟกานิสถานก็ไม่สามารถป้องกันการก่อการร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

นายโพเซนกล่าวว่า สหรัฐฯ ควรถอนทัพออกจากอัฟกานิสถาน แล้วให้ความช่วยเหลือรัฐบาลอัฟกานิสถานไม่ให้อ่อนแอเกินไปจนกลุ่มตอลิบานกลับไปมีอำนาจได้อีก ตราบใดที่รัฐบาลอัฟกานิสถานรับความช่วยเหลือไปใช้ตามจุดประสงค์ของสหรัฐฯ ซึ่งการถอนทัพออกมาอาจทำให้รัฐบาลอัฟกานิสถานสามารถต่อรองกับกลุ่มตอลิบานได้อย่างที่สหรัฐฯ ไม่เคยทำได้


ที่มา : Channel News Asia, Reuters, New York Daily News, USA Today


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :