ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญและนายกสมาคมอีคอมเมิร์ซไทยชวนเปรียบเทียบ 'ข้อดี-ข้อเสีย' ความร่วมมือการลงทุนและส่งเสริมธุรกิจระหว่าง 'แจ็ค หม่า' แห่งอาลีบาบากรุ๊ป กับรัฐบาลไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

'แจ็ค หม่า' ประธานกรรมการบริหาร อาลีบาบา กรุ๊ป และคณะผู้บริหาร เจรจาความร่วมมือกับรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมลงนามเอ็มโอยูกับหน่วยงานไทย 5 ฉบับ เพื่อผลักดันการลงทุนสร้าง 'สมาร์ท ดิจิทัล ฮับ' ซึ่งจะส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับอาลีบาบา รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาตลาดออนไลน์และการท่องเที่ยว

ความคืบหน้าเหล่านี้ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากภาครัฐและเอกชนหลายส่วน แต่ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอีคอมเมิร์ซของประเทศไทย มีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งทุกฝ่ายล้วนมีคำเตือนถึงรัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ดำเนินการอย่างระมัดระวังและคำนึงถึงบริบทอื่นๆ อย่างรอบด้าน

มองแง่ดี "ช่วยกระตุ้นการลงทุน"

ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งศึกษาวิจัยเรื่องโครงการ EEC เปิดเผยกับ เดอะสเตรทไทม์ส สื่อของสิงคโปร์ ระบุว่าการเข้ามาลงทุนในอีอีซีของ 'แจ็ค หม่า' มีข้อดีคือช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติสนใจร่วมลงทุนในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น แต่ต้องวางแผนว่า ทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมอีอีซีของแจ็ค หม่า มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีข้อจำกัดเรื่องผู้เชี่ยวชาญหรือแรงงานทักษะด้านไอที ถึงแม้จะมีสถาบันการศึกษากว่า 170 แห่งทั่วประเทศเปิดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่บัณฑิตที่จบออกมาจำนวนมาก กลับไม่มีคุณสมบัติตรงตามที่ตลาดต้องการ จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการแรงงานที่มีอยู่ และที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในอนาคต 

คอมพิวเตอร์.jpg

สิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งผลักดัน คือ การพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกอบรมบุคลากรในด้านไอที แต่ก็มีอุปสรรคอีกประการหนึ่ง คือ เทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะทำให้การวางรากฐานการพัฒนาบุคลากรนั้นไม่ทันต่อเหตุการณ์

ขณะที่ 'ปริญญา หอมเอนก' ประธานบริษัทเอซิส (ACIS) ผู้ให้บริการด้านควา���มั่นคงปลอดภัยสารสนเทศในประเทศไทย ระบุว่าที่ผ่านมาบริษัทด้านไอทีของไทยจำนวนมากนิยมจดทะเบียนในสิงคโปร์ เพราะมีโครงสร้างและกฎหมายที่เอื้อต่อการดำเนินกิจการด้านไอทีมากกว่า

ส่วนการที่รัฐบาลส่งเสริมความร่วมมือกับแจ็ค หม่า บ่งชี้ว่าไทยพร้อมเดินหน้าด้านไอทีและธุรกิจดิจิทัล แต่หน่วยงานภาครัฐก็ยังมุ่งเน้นเฉพาะความร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่ได้พัฒนาระบบที่เป็นมิตรกับผู้ประกอบการรายย่อยมากนัก 

ระวัง "จีนจะเข้ามากินไทย"

'ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ' ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ตลาดดอทคอม และนายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เปิดเผยกับ 'วอยซ์ทีวี' ว่า การเข้ามาของแจ็ค หม่า ทำให้อาลีบาบาได้เปรียบสูงมาก เพราะว่ารัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงสนับสนุนให้แจ็ค หม่า เข้ามามีบทบาท เมื่อเข้ามาในจังหวะที่รัฐบาลไทยและทุกๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมเปิดรับ ทำให้เขาได้เปรียบ เพราะสามารถต่อรองกับรัฐบาลได้ดีกว่าการเข้ามาเอง  

เขายอมรับว่าอาจจะมองในแง่ร้าย แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ สินค้าจีนจะเข้ามารุกรานสินค้าไทย อัตราการจ้างงานแรงงานในอุตสาหกรรมหลายๆ อย่างที่เป็นตัวกลางจะหายไป เทรดเดอร์ที่เป็นตัวกลางนำสินค้าจากจีนเข้ามา ก็อาจจะล้มหายตายจาก อัตราการจ้างงาน แรงงานหลายๆ อย่างที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นตัวกลางก็จะหายไป โรงงานผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ที่ผลิตอยู่ในเมืองไทยก็จะไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะว่าของจีนต้นทุนถูกกว่า


"ค้าปลีกในอนาคตจะเป็นเหมือน Amazon ที่อเมริกา ซึ่งตอนนี้ Amazon ครอบงำตลาดอเมริกาหมดแล้ว...ฆ่าพวกธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมหมด ซึ่งนั่นคืออนาคตที่ประเทศไทยจะเป็น และนั่นคือ อเมริกากินอเมริกา แต่นี่คือจีนจะเข้ามากินไทย"

นายภาวุธระบุว่า แจ็ค หม่า และเครืออาลีบาบาทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จึงมีข้อมูลเยอะ และอาจจะเยอะกว่าธนาคารหรือธุรกิจอื่นๆ ทั้งหมด เมื่อเข้ามาในไทยแล้วจะกระทบกับระบบธนาคาร ทั้งการปล่อยกู้เงิน การกู้ยืม โดยกระทบกับทั้งอุตสาหกรรม และคาดว่าในอนาคต ธุรกิจค้าปลีกจะเข้าสู่ตลาดออนไลน์ทั้งหมด แต่ก็จะตกไปอยู่ในมือต่างชาติแบบเบ็ดเสร็จในอีกสักประมาณ 5 ปีข้างหน้า

เปรียบเทียบการลงทุน 'ไทย-มาเลเซีย'

'พิชัย นริพทะพันธุ์' อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้หนึ่งที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยเขากล่าวว่า รู้สึกยินดี ที่ในที่สุด แจ็ค หม่าและอาลีบาบา ตัดสินใจมาลงทุนในไทย เพราะอาลีบาบาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทางอีคอมเมิร์ซ ซึ่งต้องลงทุนในทุกประเทศในอาเซียนอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน นายพิชัยตั้งข้อสังเกตว่า แจ็ค หม่า ตัดสินใจลงทุนในไทยน้อยกว่าที่ประกาศว่าจะลงทุนในมาเลเซียถึง 5 เท่า และประกาศให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอีกด้วย ซึ่งเเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไทยไม่ได้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ ทั้งๆ ที่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยเหมาะสมกว่ามาเลเซียมาก และหากไทยได้เป็นศูนย์กลางจะเป็นประโยชน์กับไทยอย่างมาก


"การลงทุนของอาลีบาบาในไทยเริ่มเพียง 11,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าการลงทุนของอาลีบาบาในมาเลเซียเริ่มที่ 7000 ล้านริงกิต หรือประมาณ 56,000 ล้านบาท หรือน้อยกว่าถึง 5 เท่า ไม่ได้ลงทุนในไทยมากกว่าในมาเลเซียเหมือนที่ นายอุตตม สาวนายน รมว. อุตสาหกรรม โฆษณาไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนที่จะลงทุนเพิ่มในอนาคต คงต้องดูกันต่อไป"

นายพิชัยระบุว่า อยากให้รัฐบาลคำนึงว่าการค้าออนไลน์เป็นธุรกิจที่จะขยายตัวอย่างมากในปัจจุบันและในอนาคต หากประเทศไทยตามไม่ทันอาจถูกครอบงำได้ และธุรกิจใหญ่เล็กในประเทศก็จะได้รับผลกระทบทั้งหมด การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เชื่อว่านายแจ็ค หม่า รวยแล้ว และจะมาช่วยโดยไม่หวังประโยชน์ อาจจะเป็นคำพูดที่ขาดการไตร่ตรองทางความคิด เพราะคงไม่มีพ่อค้าคนไหนควักเงินมาลงทุนเป็นหมื่นล้านบาทแล้วจะไม่หวังประโยชน์ตอบแทนอย่างแน่นอน 

เปิดพอร์ตการลงทุน 'แจ็ค หม่า-อาเซียน'

บทความของนิกเกอิ เอเชี่ยน รีวิว สื่อด้านธุรกิจของญี่ปุ่น ระบุว่า แจ็ค หม่า และเครืออาลีบาบา รุกคืบการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นตลาดที่กำลังเติบโตและมีกำลังซื้อ อีกทั้งประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้เป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงมีความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุน เป็นโอกาสให้แจ็ค หม่า ขยายบทบาทด้านเศรษฐกิจภายในภูมิภาคนี้อย่างรวดเร็ว

เมื่อปีที่แล้ว แจ็ค หม่า ประกาศให้ 'มาเลเซีย' เป็นศูนย์กลางของ 'แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสนับสนุนการค้าโลก' หรือ eWTP และมีการลงนามความร่วมมือระหว่างมาเลเซียกับอาลีบาบา

นอกจากนี้ แจ็ค หม่า ยังรับตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษโดยไม่รับค่าตอบแทนให้แก่รัฐบาลมาเลเซียเพื่อพัฒนา 'เขตการค้าเสรีดิจิทัล' ซึ่งจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเก่าของสนามบินนานาชาติกรุงกัวลาลัมเปอร์ให้กลายเป็นศูนย์กระจายสินค้า กินพื้นที่ประมาณ 111,500 ตารางเมตร รองรับสินค้าประมาณ 1.5 ล้านตัน ภายในระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้ โดยคาดว่าโครงการจะแบ่งเป็น 3 เฟส และแล้วเสร็จภายในปี 2563

ส่วนเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา อาลีบาบาประกาศว่าจะทุ่มงบประมาณเพิ่มเติมอีก 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในสิงคโปร์ เพื่อขยายกิจการของเครือลาซาดา ผู้ให้บริการตลาดสินค้าแฟชั่นออนไลน์รายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระลอกที่สอง หลังจากเคยทุ่มงบมาแล้ว 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2556

สื่อญี่ปุ่นระบุว่า การเดินหน้าลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากแนวโน้มว่าอาลีบาบาจะต้องเจอกับคู่แข่งสำคัญอย่างแอมะซอน ซึ่งวางแผนจะขยายตลาดเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สักระยะหนึ่งแล้ว และคาดว่า แจ็ค หม่า จะเจรจาขยายความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: